ความรุนแรงต่อผู้ลี้ภัยและผู้ย้ายถิ่น เรื่องไม่ปกติที่กำลังกลายเป็นความปกติ
ผู้ประสบภัยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตอนกลาง พักรออยู่บนเรือค้นหาและกู้ภัย เกโอบาเรนท์ส (Geo Barents) ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ก่อนการนำส่งลงฝั่งบริเวณท่าเรือที่ปลอดภัยต่อไป - ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีนาคม 2565 © MSF
"ฉันกับพี่น้องผู้ชายเดินเท้ามาจากอัฟกานิสถาน เราได้พยายามข้ามชายแดนตรงรอยต่อระหว่างอิตาลีกับฝรั่งเศส เพื่อไปหาครอบครัวเราที่เยอรมนี ตอนนั้นเป็นเวลากลางคืน พวกตำรวจวิ่งไล่ตามพวกเราที่ทางเดินบนภูเขา เราก็พยายามหนีจนพลัดตกลงเหวไป ... พวกเราไม่เหลืออะไรติดตัวอยู่เลย เราต้องข้ามประเทศทูร์เคีย ประเทศกรีซ และพื้นที่คาบสมุทรบอลข่าน เพื่อไปยังจุดหมายที่น่าจะปลอดภัย เราไม่นึกเลยว่าเมื่อมาถึงในยุโรปนี้แล้ว เรายังต้องคอยวิ่งหนีอยู่อีก" นี่คือถ้อยคำของผู้ป่วยรายหนึ่งในความดูแลขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ในโครงการที่เมืองเวนตีมีลยา (Ventimiglia) ประเทศอิตาลี เป็นการพรรณาชะตากรรมที่เขาต้องเผชิญอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ด้านนโยบายการข้ามแดนที่ปรากฏขึ้นทั่วภูมิภาคยุโรปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และทีมงานด้านมนุษยธรรมขององค์การฯ ได้มีการปฏิบัติเพื่อบรรเทาผลอันเลวร้ายจากนโยบายและแนวทางปฏิบัติการเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานที่แข็งกร้าว โดยได้ประจักษ์เห็นผลแห่งการสูญเสียชีวิตมาด้วยตนเอง ทางองค์การฯ ได้ปฏิบัติภารกิจในท้องที่เช่นประเทศลิเบีย คาบสมุทรบอลข่าน ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตอนกลาง ประเทศโปแลนด์ ประเทศกรีซ และประเทศอิตาลี ซึ่งล้วนกำลังกลายเป็นสนามทดลองในการออกใช้ซึ่งนโยบายและระเบียบปฏิบัติอันก่อความเสียหายรุนแรงขึ้นทุกขณะ สิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็นและได้ยินมาในระหว่างเดือนสิงหาคม 2564 ถึงเดือนกันยายน 2566 ได้ถูกนำมารวบรวมอยู่ในรายงานชุด สิ้นชีพ สิ้นหวัง สิ้นหนทาง: ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากนโยบายการย้ายถิ่นฐานของสหภาพยุโรป (Death, despair and destitution: the human costs of the EU's migration policies)
การสกัดจับและหน่วงเหนี่ยวกักขัง
มักมีการใช้กำลังกับผู้ลี้ภัยในการกักขังผู้คนจากประเทศนอกสหภาพยุโรปซึ่งมีข้อตกลงความร่วมมือการย้ายถิ่นฐานกับสหภาพยุโรป พวกเขาจะไม่สามารถเข้าถึงการแพทย์และไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และยังมีประเด็นร้ายแรงอย่างเช่น พฤติการณ์ของหน่วยยามชายฝั่งลิเบียระหว่างภารกิจสกัดจับในท้องทะเล ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตของผู้ที่กำลังประสบภัย โดยการใช้กำลังประทุษร้ายในขั้นตอนการสกัดจับ เป็นเรื่องที่ทางองค์การฯ ได้รับแจ้งมาอย่างบ่อยครั้งจากผู้ป่วยในความดูแลทั้งที่ประเทศลิเบียและบนเรือค้นหาและกู้ภัย เกโอบาเรนท์ส (Geo Barents)
ระหว่างปี 2559 ถึงปี 2564 ผู้คนที่พยายามหลบหนีออกจากลิเบียแล้วถูกบังคับพาตัวกลับไปนั้นมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน อันเป็นผลมาจากการยุติปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยโดยสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศในเครือ และการกำหนดให้เป็นพื้นที่ค้นหาและกู้ภัยในความรับผิดชอบของทางการลิเบีย (Libyan Search and Rescue Region; SRR) เมื่อปี 2560 ซึ่งสหภาพยุโรปได้สนับสนุนเงินทุนกว่า 70 ล้านยูโรให้แก่ลิเบียเพื่อเสริมศักยภาพด้านการบริหารจัดการชายแดน
ชายอายุ 18 ปีจากประเทศแคเมอรูน ซึ่งได้รับการช่วยเหลือโดยองค์การแพทย์ไร้พรมแดนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อปี 2565 ได้ย้อนความหลังให้ฟัง
ฉันกับผู้คนอีก 83 คน ลงเรือยางสีขาวมาด้วยกัน มีผู้หญิงตั้งท้องอยู่ด้วยหนึ่งคน เมื่อเวลา 19:30 น. เราก็เห็นพวกลิเบียตามหลังเรามา พวกนั้นมาเทียบข้างแล้วสั่งให้หยุดเรือ ไม่อย่างนั้นจะยิง แต่เราปฏิเสธไปว่าเราจะหยุดไม่ได้ เราพยายามหนีแต่ก็ถูกล้อมไว้ นายเรือของเราไม่ยอมหยุดเรือ พวกนั้นจึงยิงปืนใส่เรือเราเพื่อให้ลมรั่ว น้ำทะเลเริ่มไหลเข้ามา ตอนนั้นเราไม่มีทางเลือกแล้ว พวกนั้นมาลอยลำอยู่เหนือเราที่อยู่ในน้ำ โยนเชือกมาให้ พลางตะโกนด่าทอใส่เรา เราช่วยพวกผู้หญิงให้ได้ขึ้นเรือของทางการลิเบียไปก่อน แล้วก็รีบปีนตามกันขึ้นไป น้ำเริ่มทะลักเข้ามาข้างใน และเรือก็กำลังจมลงใต้ผิวน้ำ มีผู้ชาย 2 คนเป็นพี่น้องกัน ชาวมาลีคนหนึ่งกับชาวกินีอีกคน ก็จมน้ำตายในที่สุดชายอายุ 18 ปี จากประเทศแคเมอรูน
เมื่อกลับมายังลิเบีย พวกเขามักจะถูกส่งตัวไปยังสถานกักกันที่ต่างๆ ผู้ย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยในลิเบียจะเผชิญกับการควบคุมตัวไว้โดยพลการ และจะถูกนำไปขังในสถานกักกันเถื่อนซึ่งไม่อาจรับรองการเข้าถึงการแพทย์ให้แก่พวกเขาได้ ระหว่างเดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนกรกฎาคม 2566 ทางองค์การฯ ได้ให้บริการปรึกษาทางการแพทย์ด้านสาธารณสุขมูลฐาน ณ สถานกักขัง 8 แห่งในพื้นที่ภาคตะวันตกของซีเรีย เป็นจำนวนรวม 23,769 กรณี ทีมงานขององค์การฯ ได้พบเห็นบุคคลในกลุ่มเปราะบางอย่างยิ่งรวมอยู่ในนั้นด้วย อาทิ เด็กที่เดินทางโดยลำพัง ผู้พิการทางร่างกายหรือป่วยเรื้อรัง และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการซ้อมทรมาน
ผู้คนที่ถูกสกัดจับโดยหน่วยยามฝั่งตูนีเซียก็มีจำนวนมากขึ้นเช่นกันในรอบหลายปีที่ผ่านมา นอกจากการจับกุมในทะเลและบังคับพาตัวกลับไปยังตูนีเซียแล้ว ยังมีผู้คนที่ถูกสกัดจับและถูกเนรเทศออกไปยังประเทศข้างเคียงอย่างลิเบียและแอลจีเรียอีกด้วย โดยที่ประเทศไนเจอร์ ทีมงานขององค์การฯ ได้ให้การช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถูกเนรเทศออกจากตูนิเซียไปยังแอลจีเรีย และถูกไล่ต้อนลึกเข้าไปทางพื้นที่ทะเลทรายของไนเจอร์
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 มีผู้รอดชีวิตจำนวน 99 คนได้รับการช่วยเหลือโดยเรือเกโอบาเรนท์ส ณ ระยะห่างประมาณ 30 ไมล์จากชายฝั่งลิเบีย ในเรือไม้ซึ่งมีผู้คนอัดแน่นอยู่เต็มลำนั้นก็พบว่าที่ท้องเรือมีผู้เสียชีวิตอยู่จำนวน 10 ชีวิต - ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พฤศจิกายน 2654 © Virginie Nguyen Hoang/Collectif HUMA
สหภาพยุโรปปิดประตูต้อนรับ
ถึงแม้จะมีแผนการต่างๆ เพื่อกักตัวผู้คนเหล่านี้ไว้ในประเทศรอบนอกสหภาพยุโรป แต่พวกเขาก็หาได้หยุดไม่ ยังคงข้ามทะเลและผืนแผ่นดินเพื่อแสวงหาความปลอดภัยและการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงชายแดนทางทะเลและทางบกของสหภาพยุโรป พวกเขากลับต้องพบกับรั้วลวดหนามและการทำร้ายทุบตีแทนที่จะเป็นการรอดชีวิตและความช่วยเหลือ ปัจจุบันนี้ รั้วกำแพงของชายแดนสหภาพยุโรปมีความยาวรวมกันกว่า 2,000 กิโลเมตร
ผู้ป่วยหลายคนในความดูแลขององค์การฯ แจ้งว่าได้เผชิญกับการกระทำขับไล่อย่างซ้ำๆ ตลอดการเดินทางของพวกเขา เหตุเหล่านี้มักประกอบด้วยการทำร้ายร่างกาย การกักขัง การดูหมิ่นโดยถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติหรือหยาบคาย และการเหยียดหยามในลักษณะอื่น การกระทำเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นฝีมือของหน่วยงานภาครัฐเสียเอง การกระทำอันเป็นการขับไล่อย่างหลายๆ ครั้งต่อเนื่องกัน เช่นในประเทศโปแลนด์ ประเทศกรีซ และประเทศฮังการี ทำให้ผู้คนที่กำลังลำบากอยู่แล้วต้องเสี่ยงภยันตรายต่อสุขภาพอนามัยและสวัสดิภาพ
ฉันไม่สบายก็เลยต้องนอนโรงพยาบาลอยู่ 3 วัน ฉันอ้อนวอนขอให้ได้รับความคุ้มครอง แต่สุดท้ายแล้วพวกนั้นก็ส่งตัวฉันคนเดียวกลับไปเบลารุสโดยไม่มีอะไรติดตัวมาเลย ตอนนั้นฉันก็อับจนหนทางแล้ว แต่ก็ได้พูดคุยกับผู้คนตามเส้นทาง […] ฉันบอกหมอว่า ฉันอยากอยู่ที่นี่ ฉันจะขอลี้ภัย แต่เขาพูดกับฉันว่า ‘พูดตามตรงนะ ฉันไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณ’ จากนั้นเจ้าหน้าที่ชายแดนก็มาที่โรงพยาบาลแล้วเอาฉันไปขังคุกไว้อยู่ 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นฉันก็เดินทางกลับไปที่ชายแดนผู้ป่วยในประเทศเบลารุส 2566
นอกเหนือจากอันตรายของสภาพกำแพงที่กั้นชายแดนระหว่างเบลารุสกับโปแลนด์ซึ่งอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ทางองค์การฯ ยังพบเห็นกรณีผู้คนไม่สามารถออกไปจากพื้นที่ซึ่งอยู่ระหว่างชายแดนสองประเทศนี้อันได้รับขนานนามว่า 'แดนมรณะ' จากบรรดาผู้ป่วย โดยการติดอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เป็นเวลานานได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่รุนแรงและการถูกใช้กำลังประทุษร้าย เป็นการซ้ำเติมปัญหาสุขภาพอนามัยที่มีอยู่แล้วทั้งในทางร่างกายและจิตใจ
ค่ายพักพิงชั่วคราวสำหรับผู้เดินทางย้ายถิ่นฐาน ได้ถูกจัดตั้งขึ้นอยู่ในอาณาเขตฐานปฏิบัติการของสำนักรักษาความมั่นคงสาธารณะ (Public Security Service) ที่หมู่บ้านรู้ดนินไค (Rūdninkai) - ลิทัวเนีย กันยายน 2564 © Vidmantas Balkunas/BNS
ถูกลงโทษและกักตัว
แผนการที่เรียกว่า 'ฮอตสปอต' (hotspot) ได้ถูกใช้ในกรีซและอิตาลีเพื่อจัดการกับผู้คนที่ข้ามชายแดนเข้ามา โดยมีกระบวนการกักตัวและพิสูจน์ตัวตนได้อย่างรวดเร็ว บังคับใช้มาตรการคนเข้าเมืองได้อย่างต่อเนื่องทันที และอำนวยการส่งกลับต้นทาง รูปแบบดังกล่าวนี้เป็นรากฐานของการจัดการผู้ย้ายถิ่นของสหภาพยุโรปมาช้านาน หลายปีที่ผ่านมา จุดฮอตสปอตต่างๆ ได้ปรากฏลักษณะของวิกฤตการณ์ทางมนุษยธรรมที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้ และยังมีข้อบกพร่องที่ยังแก้ไม่หายในแง่ของการให้ความคุ้มครองตามกฎหมาย และการให้บริการที่จำเป็นในการดำรงชีพ อาทิ น้ำสะอาด การบริการสุขภาพ และจุดแรกรับที่มีความปลอดภัย กระนั้นก็ตาม ทั้งสหภาพยุโรปและบรรดาประเทศสมาชิกต่างก็ยังคงยึดถือในแนวปฏิบัตินี้ต่อไป
แต่ละคนต่างก็ทุกข์ทรมานจากปัญหาสุขภาพจิต ไม่เว้นแม้แต่คนอายุน้อยๆ มีอาการเหมือนกันหมด คือ ปวดเมื่อยตามร่างกาย สับสนคล้ายฝัน มีภาวะซึมเศร้า และความผิดปกติต่างๆ เกี่ยวกับการนอนหลับ พวกเขารู้สึกว่าอยู่ตัวลำพัง รู้สึกอับอายที่ชีวิตตนต้องมาพบเจออะไรแบบนี้นักจิตวิทยาขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน
ทีมงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ได้พบกับผู้ขอลี้ภัย 3 คนซึ่งถูกใส่กุญแจมือระหว่างรับการทำหัตถการรักษาฉุกเฉิน ที่เกาะเลซโวส ประเทศกรีซ - กรีซ ตุลาคม 2565 © MSF
ระหว่างเดือนสิงหาคม 2564 ถึงสิงหาคม 2566 ทีมงานขององค์การฯ บนเกาะซาโมส (Samos) ได้ให้การปรึกษาด้านสุขภาพจิตไปเป็นจำนวน 2,900 กรณี ในระหว่างนั้นร้อยละ 34 ของผู้ป่วยรายงานว่ามีอาการบาดเจ็บทในขณะที่ร้อยละ 28 แสดงอาการอันเป็นผลมาจากความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ภาวะป่วยทางจิตหลังเหตุสะเทือนใจ และภาวะวิตกกังวล เป็นที่พบได้ทั่วไปในทุกกลุ่มประชากร แม้กระทั่งในเด็ก ความเครียดที่ต้องสัมผัสในแต่ละวัน เช่น สภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ กระบวนการทางปกครองที่ซับซ้อน ความหวาดกลัวการถูกเนรเทศ และการเผชิญกับความไม่มั่นคงในชีวิต ล้วนเป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขาเหล่านี้
กระบวนการละเลยทอดทิ้ง แบ่งแยกปฏิบัติ และลดทอนความเป็นมนุษย์
ทั่วทั้งสหภาพยุโรป ผู้คนเหล่านี้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กกำลังถูกแบ่งแยกกีดกันอย่างหนักขึ้นเรื่อยๆ จากกระบวนการแรกรับและการคุ้มครองตามกฎหมาย และต้องตกอยู่ในสภาพการดำรงชีพที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้รอด บางประเทศ เช่น ประเทศเบลเยียม ประเทศฝรั่งเศส และประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการแรกรับซึ่งมีความเป็นปรปักษ์อย่างมากขึ้น เพื่อผลในการป้องปรามการลี้ภัยในลักษณะพเนจร (secondary movement) ตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยฝ่ายการลี้ภัยและย้ายถิ่นฐานของประเทศเบลเยียม และสำนักงานเพื่อการแรกรับผู้ลี้ภัย (Fedasil) ถูกศาลภายในประเทศตัดสินว่าได้กระทำความผิดกว่า 8,000 กระทง และอีกกว่า 2,000 กระทงโดยศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European Court of Human Rights) จากกรณีละเว้นการจัดให้มีที่พักพิง
ในแต่ละวัน พวกตำรวจจะมาริบผ้าห่มกับเต็นท์ที่พักซึ่งเราได้รับแจกมาจากองค์การอาสาสมัคร ฉันต้องนอนตากฝน ตากลมหนาว เราพยายามก่อไฟเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นแต่พวกตำรวจก็จะคอยมาดับไฟ ทั้งใช้ถังดับเพลิงฉีดหรือไม่ก็สาดน้ำใส่พวกเราผู้ป่วยในเมืองกาเลส์ (Calais) ปี 2566
นอกจากนี้ หลายประเทศในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฝรั่งเศส เบลเยียม และสหราชอาณาจักร กำลังใช้การประเมินอายุเป็นอีกทางหนึ่งในการกีดกันการเข้าถึงความคุ้มครองตามกฎหมายแก่ผู้ที่แสวงหาความปลอดภัยและการได้รับคุ้มครองจำเพาะลักษณะอื่นๆ อันเกี่ยวกับเด็กที่เดินทางโดยลำพัง ในฝรั่งเศส ทางองค์การฯ มีการช่วยเหลือเด็กที่เดินทางโดยลำพังซึ่งไม่ได้รับสถานะดังกล่าวจากกระบวนการประเมินอายุ นโยบายที่เป็นปรปักษ์ยังเพิ่มปัจจัยความเครียด ทำให้ผู้เยาว์ขาดความคุ้มครองตามกฎหมาย สถานะทางทะเบียนราษฎร และสิทธิในการมีทนายความ เมื่อพวกเขามาถึงฝรั่งเศส หลายคนยังคงอยู่นอกความคุ้มครองตามกฎหมาย หรือต้องรอนานหลายเดือนกว่าที่จะได้รับประโยชน์จากสวัสดิการสังคมและการได้รับความคุ้มครอง เมื่อพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการหาที่อยู่อาศัยได้ ก็ต้องประสบกับความไม่แน่นอนในชีวิต ความโดดเดี่ยว และการเป็นคนเร่ร่อน สภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ปลอดภัยนี้ทำให้พวกเขาต้องเสี่ยงกับปัญหาสุขภาพ อาทิ การขาดสารอาหาร อากาศหนาวเย็น ความรุนแรง การถูกกระทำอนาจาร การค้ามนุษย์ และยาเสพติด ประมาณร้อยละ 15 ของเด็กที่เดินทางโดยลำพังซึ่งได้รับการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจโดยทางองค์การฯ ในกรุงปารีส ที่แจ้งว่าได้ประสบกับความรุนแรง กล่าวว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในฝรั่งเศส
เป็นเวลาหลายปี ทางองค์การฯ ได้ตีแผ่เรื่องของความสูญเสียที่เกิดกับชีวิตมนุษย์จากนโยบายการย้ายฐิ่นฐานในยุโรป ได้มีความพยายามอย่างนับไม่ถ้วนโดยการออกรายงาน การจัดแถลงข่าว และการส่งจดหมายแนะนำแนวทางการได้รับความคุ้มครอง ความช่วยเหลือ และการเข้าถึงการดูแลรักษาที่มีคุณภาพและทันเวลา สำหรับผู้คนที่พยายามจะเข้ามายังยุโรป แต่กระนั้นก็ตาม คำเสนอแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ไม่ได้รับการสนอง ในขณะที่แนวทางปฏิบัติโดยใช้กำลังก็ฝังรากลึกลงไปในนโยบายด้านการย้ายถิ่นฐานของสหภาพยุโรป สหภาพยุโรปต้องกระตือรือร้นในการจัดการกับสาเหตุของปัญหาความรุนแรงนี้ โดยเป็นประเด็นที่จะต้องปรับกระบวนทัศน์กันตั้งแต่ระดับพื้นฐานโดยไม่รอช้า กระบวนการทำให้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ นอกจากจะไม่อาจป้องปรามมิให้ผู้คนเข้ามาอีก แต่ยังจะนำไปสู่ความทรมานอย่างไม่สมควรและความตาย
“กลับไปซีเรียเหรอ? ฉันไม่สามารถกลับไปที่ซีเรียได้อีก ก็นั่นแหละ ไม่มีทางย้อนกลับไปได้ ฉันยังคงเดินหน้าต่อไป ฉันดิ้นรนทุกหนทางมาเป็นเวลา 5 เดือน ... ไม่รู้จะบรรยายให้คุณเห็นภาพสถานการณ์ในลิเบียได้อย่างไร ถ้าฉันยังมีชีวิตอยู่ อีกสัก 10 ปี ก็ไม่สามารถบรรยายถึงสิ่งที่ฉันเห็นในลิเบียได้หมด" ชายชาวซีเรียผู้ได้รับการช่วยเหลือโดยเรือค้นหาและกู้ภัยเกโอบาเรนท์ส เมื่อปี 2566