วนเวียนหวาดหวั่น: ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียกับทางเลือกแสนปวดร้าวในเลบานอน
เด็กน้อยผู้ลี้ภัยชาวซีเรียลอบมองผ่านช่องว่างระหว่างเต็นท์ - เลบานอน มิถุนายน 2567 © Carmen Yahchouchi for MSF
- ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในเลบานอนที่ต้องการบริการทางการแพทย์ กำลังเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงบริการดังกล่าว เนื่องจากความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยและข้อจำกัดที่กระทบต่ออิสรภาพในการเดินทาง
- การสร้างความกลัวและการคุมคามเพื่อปิดกั้นสิทธิในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของชุมชนเปราะบางเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ผู้ป่วยไม่ควรต้องเลือกระหว่างความปลอดภัยของตนเองหรือจะออกไปรับการรักษาของพื้นที่อยู่อาศัย
- การสร้างวาทกรรมเพื่อต่อต้านผู้ลี้ภัยและการกดดันให้ออกจากพื้นที่ คือปัจจัยที่ส่งผลให้ปริมาณชาวซีเรียที่ป่วยด้านสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น
“ฉันอยากตายจากโลกนี้ไปเสียที” อัมม์ คัตตับ (Umm Khattab) ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียผู้อาศัยอยู่ภายในเต็นท์อันบอบบาง เรียงรายตามชายแดนของตอนตะวันออกเฉียงเหนือของเลบานอน (Lebanon) เป็นเวลาหลายปีเกริ่น “พวกเราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความวิตกกังวลและความหวาดกลัว จนความตายกลายเป็นเรื่องที่น่ายินดีกว่าการมีชีวิตอยู่ที่นี่”
คำกล่าวเล่าของเธอสะท้อนถึงความจริงอันโหดร้ายที่ผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคนในเมืองแฮร์เมล (Hermel) กาอ์ (Qaa) และแอร์ซาล (Arsal) ในเลบานอน (Lebanon) กำลังเผชิญ มีการสร้างค่ายผู้ลี้ภัยจากผ้าใบเรียงรายไปทั่วบริเวณแสนแห้งแล้ง ที่พักพิงอันบอบบางเหล่านี้สามารถคุ้มกันสวัสดิภาพได้เพียงเล็กน้อยเมื่อเกิดสภาพอากาศอันเลวร้าย และทุกอย่างมันย่ำแย่กว่าเดิมเมื่อต้องเผชิญหน้ากับกระแสการต่อต้านผู้ลี้ภัยชาวเลบานอน ผู้ลี้ภัยถูกบีบบังคับให้อยู่ในพื้นที่อันคับแคบ ใช้ชีวิตบนพื้นที่ที่ยังคงเป็นดิน และไม่มีเครื่องทำความร้อน ในทุกวันต้องรับมือกับความไม่แน่นอนของด่านตรวจความปลอดภัยและแรงกดดันจากผู้คนในท้องถิ่น
“ความหวาดกลัวกักขังสมาชิกในครอบครัวของผมกว่า 10 ชีวิตให้อยู่แต่ภายในเต็นท์ตลอดทั้งวัน” วาเอล (Wael) คุณพ่อวัย 36 ปีที่ป่วยเป็นโรคความดันสูง (Hypertension) และเบาหวาน (Diabetes) กล่าว “พวกเราจะไม่ออกจากเต็นท์หลัง 6 โมงเย็นเด็ดขาด เนื่องจากมีการประกาศเคอร์ฟิว เด็กๆ ก็ไม่ค่อยได้ออกไปข้างนอก นอกจากนี้ พวกเขายังต้องพบเจอกับการรังแกจากเด็กท้องถิ่น”
วาเอล เป็นผู้ป่วยในคลินิกขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ประจำเมืองแฮร์เมลมานานหลายปี เขาได้รับยาที่จำเป็นสำหรับอาการป่วยเรื้อรังของเขา แต่มาตราการล่าสุดทำให้การเข้าถึงการรรักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่ยากมากกว่าเดิม
นับตั้งแต่เดือนเมษายน เลบานอนได้เพิ่มมาตราการการตรวจค้นและการรักษาความปลอดภัยมากขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาประชากรที่ไม่ได้ลงทะเบียน ส่งผลให้ผู้ป่วยชาวซีเรียที่เข้ารับบริการด้านสุขภาพตามคลินิกขององค์การฯ ในเขตการปกครองบาลเบค-แฮร์เมล (Baalbek-Hermel) เผชิญกับอุปสรรคขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากความกลัวและข้อจำกัดในการเดินทางสำหรับผู้ลี้ภัยหลายคนในเขตการปกครองดังกล่าว การตัดสินใจเข้ารับบริการทางการแพทย์ถือเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยเรื่องน่ากังวล หนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือวาเอล ผู้ที่ต้องข้ามจุดตรวจเพื่อที่จะได้ไปรักษาตัวที่คลินิกขององค์การฯ ในแฮร์เมล
ผมมักจะรู้สึกกังวลเสมอเวลามีนัดที่คลินิกขององค์การฯ ผมกลัวด่านตรวจความปลอดภัย ที่จริงแล้วผมมีนัดในวันที่ 20 พฤษภาคม แต่ผมไม่กล้าที่จะออกไปข้างนอกเพราะการรณรงค์ด้านความปลอดภัยในพื้นที่ ผมจึงไม่ได้ไปตามนัด นั่นส่งผลให้น้ำตาลในเลือดของผมสูงขึ้นและผมกังวลว่ามันจะไม่สามารถลดระดับลงมาได้วาเอล ผู้ป่วยรายหนึ่ง
ในช่วงของการรณรงค์นี้ ชาวซีเรียที่ถือเอกสารหมดอายุมักจะถูกจับกุม ณ ด่านตรวจและถูกส่งกลับไปยังซีเรีย โดยไม่มีแม้กระทั่งโอกาสในการติดต่อครอบครัวของพวกเขาในเลบานอน
ผู้ป่วยรายอื่นที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังจำเป็นต้องแบ่งปริมาณการทานยาด้วยตัวเองหรือหยุดเข้ารับการรักษาเนื่องจากกลัวการออกจากเต็นท์ไปรับยาในเมืองกาอ์ที่ห่างออกไปอีกไม่กี่ไมล์ เช่นอาเมอร์ (Amer) ผู้ป่วยวัย 36 ปี จากโรคความดันโลหิตสูง โดยยารักษาโรคของเขาหมดไปตั้งแต่เดือนเมษายน
“ยาของผมหมดแล้ว แต่ผมไม่กล้าพอที่จะออกจากพื้นที่ไปรับยาเพิ่ม” อาเมอร์กล่าว “มันคือฝันร้ายถ้าผมถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไป ผมไม่กล้าข้ามจุดตรวจเพราะมันหมายความว่าผมอาจถูกพรากจากครอบครัวไปตลอดกาล”
ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียวัย 36 ปีกับยารักษาโรคความดันโลหิตสูงของเขา จากวิกฤติทางเศรษฐกิจประกอบเข้ากับมาตรการเพื่อความปลอดภัย ทำให้การเดินทางเพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์คือฝันร้ายของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจำนวนมาก - เลบานอน มิถุนายน 2567 © Carmen Yahchouchi for MSF
“ผมเป็นโรคความดันโลหิตสูง” ทาลัล (Talal) วัย 60 กล่าวขณะที่อยู่บนพื้นของเต็นท์อันทรุดโทรมของเขาในแอร์ชาล “ผมเริ่มทานยาเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว จากอาการหัวใจเต้นเร็ว และความดันมักจะพุ่งสูงเกินค่าปกติ”
ทางเดียวที่ทาลัลสามารถเดินทางข้ามภูมิประเทศที่เป็นภูเขาของแอร์ซาลเพื่อไปรับยานั้น คือการใช้มอเตอร์ไซค์คันเก่าที่เพิ่งถูกทางการยึดไป มาตรการการปราบปรามยานพาหนะที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับทางรัฐเลบานอนส่งผลให้ชาวซีเรียหลายรายต้องสูญเสียมอเตอร์ไซค์ไป ซึ่งเป็นหนทางเดียวในการเดินทางของพวกเขาหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ
“มอเตอร์ไซค์เคยเป็นเพื่อนคู่ใจของผม” เขาคร่ำครวญ “ถ้าผมต้องการออกไปหาซื้ออาหารสำหรับครอบครัวหรือไปรับคำปรึกษาจากแพทย์และยารักษาโรคจากคลินิกขององค์การฯ ผมจะต้องเช่ามอเตอร์ไซค์หรือตุ๊กตุ๊ก ซึ่งมีราคาถูกกว่าเช่ารถยนต์ แต่ก็ยังแพงไปสำหรับพวกเราอยู่ดี"
ตั้งแต่ปี 2553 องค์การฯ ได้เข้ามาทำงานในเขตปกครองบาลเบค-แฮร์เมล ในทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ กว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมาองค์การฯ ได้ให้บริการด้านการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงและไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วย กุมารเวชศาสตร์ เพศศึกษา และเวชศาสตร์ด้านการเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีการรักษาสำหรับโรคไม่ติดต่อ การให้วัคซีนต้านโรคที่ป้องกันได้ และการช่วยเหลือด้านจิตเวชแก่ผู้ลี้ภัยและผู้คนในชุมชนท้องถิ่นด้วย
ปัจจุบันองค์การฯ ได้เปิดคลินิกในแอร์ซาลและโรงพยาบาลหลายแห่งในแฮร์เมล รวมไปถึงสนับสนุนการเข้าถึงการเข้าถึงการดูแลสุขภาพขั้นทุติยภูมิผ่านโรงพยาบาลเครือข่าย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ยังคงมีอยู่ การไม่มาพบแพทย์ตามที่นัดหมายยังคงเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากกลุ่มผู้ลี้ภัยยังคงรู้สึกไม่ปลอดภัยกับการเดินทาง
เด็กน้อยผู้ลี้ภัยพาทีมงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนสำรวจบริเวณที่ตั้งเต็นท์ชั่วคราวในกาอ์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเลบานอน เมืองชายแดนแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่มีการก่อตัวของการต่อต้านชาวซีเรีย ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของผู้ลี้ภัย - เลบานอน มิถุนายน 2567 © Carmen Yahchouchi for MSF
อุมมะห์ โอมาร์ (Umm Omar) อาศัยอยู่ในเต็นท์สองหลังถัดไปจากเต็นท์ของอาเมอร์ เมื่อเดือนที่ผ่านมาเธอเพิ่งคลอดลูกน้อยด้วยตนเองที่บ้าน ถึงแม้ว่าอุมมะห์ โอมาร์ จะจำความรู้สึกในคืนที่น้ำคร่ำแตกอย่างไม่คาดคิดไม่ค่อยได้ แต่ความหวาดหวั่นด้านความปลอดภัยในการข้ามจุดตรวจของกองทัพนั้นย้ำชัด จนเธอเลือกที่กักตัวเองอยู่ภายในเต็นท์ และต่อสู้กับความเจ็บปวดในการคลอดธรรมชาติโดยไม่ใช้ยาสลบ
“ฉันกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดในตอนกลางคืน และไม่มีใครพาฉันไปคลินิกได้” อุมมะห์ โอมาห์กล่าวขณะที่เธอกำลังอุ้มลูกน้อยของเธอ “พวกเขาติดต่อผู้ลี้ภัยที่มีแม่เป็นพยาบาลผดุงครรภ์ เธอได้ช่วยทำคลอดให้ฉันอย่างชำนิชำนาญ แต่ถึงตอนนี้ฉันยังไม่สามารถออกจากค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อติดต่อขอออกใบสูติบัตรของลูกชายได้”
ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียผู้เคยประกอบอาชีพพยาบาลผดุงครรภ์อุ้มทารกอายุเดือนกว่า เธอช่วยมารดาของเด็กคลอดบุตรในกาอ์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเลบานอน เมืองชายแดนแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่มีการก่อตัวของการต่อต้านชาวซีเรีย ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของผู้ลี้ภัย และจำกัดทางเลือกของการคลอดให้เหลือเพียงหนทางเดียวคือการคลอดโดยธรรมชาติที่ไม่มีการตระเตรียมเครื่องมือ - เลบานอน มิถุนายน 2567 © Carmen Yahchouchi for MSF
จุดร่วมหนึ่งในเรื่องราวของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ คือการที่พวกเขาเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่าการเดินทางแสนอันตรายในครั้งนี้ พวกเขามีเพียงเสื้อผ้าติดตัวไม่กี่ชุดขณะที่เสาะหาความหวังสำหรับการเอาชีวิตรอดบนภูเขาประเทศเลบานอน
ในช่วงเริ่มแรก พวกเขาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชุมชน หากที่พักพิงของพวกเขากลับเลวร้ายลงกลางวิกฤตเศรษฐกิจของเลบานอน “ในตอนแรกเทศบาลให้การช่วยเหลือเมื่อพวกเรามาถึงแอร์ซาล” มายา (Maya) ผู้ใช้ชีวิตในเลบานอนมากกว่าซีเรียกล่าว “พวกเขาส่งต่อปัจจัยสี่ให้กับพวกเรา พาฉันไปสมัครและเข้าเรียน ชุมชนเริ่มยอมรับพวกเราเป็นส่วนหนึ่งและไม่ทำให้พวกเรารู้สึกเป็นคนแปลกหน้า”
ปัจจุบันเลบานอนกำลังแบกภาระวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงมาเป็นปีที่ 5 และผู้ลี้ภัยชาวซีเรียก็เผชิญกับความไม่พอใจที่สูงขึ้นในประเทศ สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยากลำบากบวกกับความหวาดกลัวในการอพยพ บีบบังคับให้ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากจะเป็นไปได้คือต้องเลือกระหว่างความปลอดภัยหรือสุขภาพของพวกเขา และที่แย่ไปกว่านั้นคือปัญหาด้านสุขภาพจิตของพวกเขาถูกจัดลำดับความสำคัญไว้เป็นลำดับล่าง
มายา (นามสมมติ) ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเลบานอน ดูแลนกพิราบของเธอภายในเต็นท์ของครอบครัวในแอร์ซาล เธอคือเหยื่อของการแต่งงานในวัยเด็ก (child marriage) และกลายเป็นแม่หม้าย มายาเผชิญกับความความบอบช้ำทางจิตใจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภายหลังจากการสูญเสียลูกสาวของเธอในกองเพลิง ตอนนี้มายาพยายามฟื้นฟูจิตใจของเธอผ่านคำสอนทางศาสนาและการสนับสนุนการดูแลด้านจิตใจ อย่างไรก็ตาม กระแสการต่อต้านผู้ลี้ภัยในภูมิภาคนี้กำลังก่อคลื่นความกังวลระลอกใหม่ - เลบานอน มิถุนายน 2567 © Carmen Yahchouchi for MSF
“พวกเราอยู่กับความวิตกกังวลและความหวาดผวามาอย่างต่อเนื่อง ฉันไม่สามารถนอนหลับได้เต็มตื่นเพราะกระแสต่อต้านและความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของลูกๆ” อุมมะห์ คัททับ (Umm Khattab) คือหนึ่งที่ผู้แตกสลายจากเหตุการณ์ที่ลูกชายของเธอถูกส่งตัวกลับไปในซีเรียเมื่อปี 2566
“ความทุกข์ทรมานและความกลัวหลอกหลอนบรรดาลูกของพวกเรา ระหว่างที่การรณรงค์ยังคงดำเนินต่อไป พวกเราได้ยินแต่ประโยคที่ว่า ‘พวกเขามาอีกแล้ว!’ ฉันพยายามปลอบลูกของฉันแต่ภายในใจนั้นฉันหวาดกลัวมากกว่าพวกเขาเสียอีก”
“หลังจากการพลัดถิ่นมาเป็นเวลาหลายปี ชาวซีเรียบางรายเริ่มมีอาการทางจิตเวชมากขึ้น” อามานี อัล มัชฮับ (Amani Al Mashaqba) ผู้จัดการกิจกรรมด้านสุขภาพจิตขององค์การฯ กล่าว
องค์การฯ พบว่าผู้ลี้ภัยมีความทุกข์ทางจิตใจที่สูงเนื่องจากต้องเจอกับวิกฤตการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า นอกจากนี้มีรายงานจากผู้ป่วยจิตเวชทั้งผู้ใหญ่และเด็กถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมที่เชื่อมโยงกับการเผชิญเหตุการณ์ที่เลวร้ายอามานี อัล มัชฮับ
"ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาได้รับผลกระทบและมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป พวกเขาออกไปข้างนอกน้อยลง มีช่วงเวลาที่ผ่อนคลายที่ลดลงด้วย ครอบครัวแตกกระสานซ่านเซ็น และผู้คนก็ไม่เปิดใจให้กับสิ่งใหม่อีกแล้ว พวกเขาต่างเหนื่อยล้า พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย เครียด และโศกเศร้า ชีวิตในวัยหนุ่มของพวกเขาเต็มไปด้วยความไม่มั่นคงและไม่รู้ว่าจะจัดการกับชีวิตอย่างไร พวกเขากลับไปบ้านเกิดไม่ได้ และก็ไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้เช่นกัน พวกเขาติดอยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นและความตาย ภาวะที่ไร้จุดหมายปลายทางที่ส่งผลกระทบต่อทั้งครอบครัว" อามานี อัล มัชฮับเสริม
“ทุกคนกำลังยืนอยู่ตรงขอบหน้าผา” อุมมะห์ คัททับเปรียบเปรยเพื่ออธิบายถึงภาวะหลังประสบการณ์เลวร้าย “เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเราได้ยินใครตะโกนหรือมีเสียงดัง พวกเราคิดว่ามีเจ้าหน้าที่ตรวจลาดตระเวนและนั่นทำให้พวกเราตกใจกลัว” นอกจากนี้ คำบอกเล่าในรูปแบบเดียวกันก็ออกจากปากของกลุ่มผู้ลี้ภัยในแอร์ซาลและแฮร์เมลเช่นกัน
ผลกระทบทางร่างกายและจิตใจของประชากรผู้ลี้ภัยกำลังซึมลึกไปทุกอณู “ความหวังของพวกเราคือการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยและไม่ถูกคุกคามจากกองกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย บ่อเกิดของความทุกข์ทรมานที่เรากำลังเจอคือความหวาดกลัวในการใช้ชีวิต” ผู้ลี้ภัยอีกรายกล่าว
“เชื่อฉันเถอะ ถ้าบ้านของพวกเราในซีเรียปลอดภัย ฉันไม่มีทางใช้ชีวิตอยู่ที่นี่แม้แต่วินาทีเดียว แต่ตอนนี้สมบัติพัสถานของพวกเราในซีเรียไม่หลงเหลือแม้แต่น้อย เหตุผลที่พวกเราปรารถนาความตายเพราะมันยังเป็นสิ่งที่น่ายินดีกว่าการมีชีวิตอยู่” อุมมะห์ คัททับสำทับ
สงครามซีเรียเริ่มขึ้นในปี 2554 นำไปสู่การทำลายล้างและความรุนแรงอย่างกว้างขวาง ผู้คนหลายล้านคนต้องอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เลบานอน ตุรกี จอร์แดน อิรัก และประเทศอื่น ความไม่มั่นคงที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องทำให้ซีเรียไม่ปลอดภัยและยากสำหรับหลายคนที่จะกลับไปยังบ้านเกิดของตัวเอง ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่เสาะหาการรักษาพยาบาลในทางตะวันออกเฉียงเหนือของเลบานอนเผชิญกับอุปสรรคมากขึ้น เนื่องจากความหวาดกลัวและข้อจำกัดในการเดินทาง การเข้าถึงการดูแลสุขภาพของชุมชนเปราะบางไม่ควรที่จะถูกกีดกันด้วยความกลัวหรือการข่มขู่ ผู้ป่วยไม่ควรจะต้องมาเลือกระหว่างความปลอดภัยของตนเองกับการขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์
“ฉันต้องการเพียงแค่ความปลอดภัย” คำขอร้องนี้สะท้อนสิ่งที่ผู้ลี้ภัยต้องเจอในเลบานอนทุกวันนี้ คือความปรารถนาที่จะได้มีชีวิตอย่างมั่นคง
ชื่อในบทความนี้ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัว