Skip to main content

    เลบานอน: มากกว่าการเอาชีวิตรอดคือการจัดการแผลในใจจากสงคราม

    A Lebanese mother and daughter displaced by the war in Lebanon. Lebanon, October 2024. © Antoni Lallican/Hans Lucas

    เอซดิฮาร์และลูกสาวของเธอคือหนึ่งในกลุ่มคนกว่า 1.2 ล้านชีวิตที่ต้องพลัดถิ่นจากสงคราม - เลบานอน ตุลาคม 2567 © Antoni Lallican/Hans Lucas

    ลูกสาวของฉันอายุเพียง 14 ปี แต่เรื่องราวความยากลำบากที่พวกเราเผชิญมา ทำให้การแสดงออกของเธอเมื่อเกิดเหตุระเบิดไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ เอซดิฮาร์ (Ezdihar) แม่ผู้พลัดถิ่นในเลบานอน (Lebanon) กล่าว เธอต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างรวดเร็ว

    ในคืนวันที่ 28 กันยายน เอซดิฮาร์ได้รับการแจ้งเตือนว่ากองกำลังอิสราเอล (Israeli forces) จะเริ่มดำเนินการโจมตี ขณะกำลังรับประทานอาหารเย็นกับครอบครัวของเธอภายในบ้านชานเมืองทางตอนใต้ของเบรุต (Beirut) ในขณะที่สามีของเธอเดินทางไปดูแลแม่ของเขา เอซดิฮาร์ได้พาลูกๆ และเพื่อนบ้านลี้ภัยไปยังทางตอนกลางของเบรุต หลังจากเดินทางบนถนนหลายคืน พวกเขาย้ายเข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงอาซาเรียห์ (Azarieh) ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ที่ถูกดัดแปลงเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้พลัดถิ่นกว่า 3,500 คน อ้างอิงจากข้อมูลของรัฐบาลเลบานอน ปัจจุบันพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของผู้คน 1.2 ล้านคนที่ต้องพลัดถิ่นเนื่องจากสงครามระหว่างกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) และอิสราเอล

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières – MSF) ยังคงเกาะติดเพื่อประเมินความต้องการด้านการแพทย์และสุขภาพจิตของผู้ที่อยู่อาศัยในศูนย์พักพิงแบบรวมอย่างอาซาเรียห์ รวมถึงเด็กๆ อย่างลูกสาวของเอซดิฮาร์ เธอคือหนึ่งในกลุ่มประชากรที่ต้องเผชิญหน้ากับความหวาดกลัวและความไม่แน่นอน และกลุ่มเด็กอย่างเธอคือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

    A Doctors Without Borders staff member organizes activities for the children of the Azarieh shelter, Beirut. Lebanon, October 2024. © Antoni Lallican/Hans Lucas

    เจ้าหน้าที่ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนจัดกิจกรรมสำหรับเด็กในศูนย์พักพิงอาซาเรียห์ เมืองเบรุต - เลบานอน ตุลาคม 2567 © Antoni Lallican/Hans Lucas

    สงคราม การพลัดถิ่น และผลกระทบด้านจิตใจ

    จากข้อมูลของหน่วยงานด้านสุขภาพ ในเวลาเพียงไม่ถึง 1 เดือนตั้งแต่สงครามเริ่มรุนแรงขึ้น มีผู้เสียชีวิตในเลบานอนมากกว่า 2,300 ราย โดยส่วนใหญ่ของการเสียชีวิตเกิดขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 11,000 ราย ความรุนแรงและการทำลายล้างที่ผู้คนได้พบเจอส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเด็ก เช่นเดียวกับลูกสาวของเอซดิฮาร์ เด็กจำนวนนับไม่ถ้วนทั่วเลบานอนต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างรวดเร็วภายใต้ความจริงอันโหดร้ายของสงคราม ซึ่งรวมถึงการถูกพรากจากบ้านของพวกเขา การศึกษาหาความรู้หยุดชะงัก การถูกแยกออกจากเพื่อนๆ และการสูญเสียการเข้าถึงสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน เช่น อาหารและที่พักอาศัย

    เหล่าพ่อแม่สังเกตเห็นถึงปัญหาด้านพฤติกรรมของลูก อย่างความรู้สึกโกรธ ความก้าวร้าว และพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เป็นปัญหา ซึ่งเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพวกเขา อามานี อัล มาชาคบา (Amani Al Mashaqba) ผู้จัดการการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตขององค์การฯ ในจังหวัดเบคา (Bekaa) กล่าว

    อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้นที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ผู้ป่วยขององค์การฯ หลายคนเล่าถึงความรู้สึกท่วมท้นจนยากจะรับมือและหวาดกลัวภัยคุกคามจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแสดงความกังวลอย่างมากต่ออนาคตของพวกเขาในสภาพแวดล้อมที่ไม่มั่นคงเช่นนี้ ความโศกเศร้าเสียใจจากการสูญเสียสมาชิกครอบครัวและความเจ็บปวดของการถูกพลัดพรากเนื่องจากการพลัดถิ่นยิ่งเพิ่มความเครียดให้พวกเขามากขึ้น อีกหลายคนกังวลเกี่ยวกับการจัดการกับอาการเจ็บป่วยเรื้อรังหรือการขาดเรียนไป 1 ปี ประสบการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อสุขภาพจิตของผู้คน

    ผู้คนกำลังแสดงออกว่าต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตอย่างมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เป็นแผลในใจ มันส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา ตั้งแต่รบกวนการนอนไปจนถึงอาการเบื่ออาหาร
    อามานี อัล มาชาคบา ผจก. ด้านสุขภาพจิต

    ทีมขององค์การฯ กำลังรับมือด้วยการให้บริการด้านสุขภาพเบื้องต้นและด้านสุขภาพจิตแก่ผู้พลัดถิ่น รวมถึงให้การรักษาด้านจิตใจและให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตผ่านศูนย์การแพทย์เคลื่อนที่ทั่วทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม การทำให้ผู้คนรับรู้ถึงปัญหาของตนและแสดงความอ่อนแอไม่ใช่เรื่องง่าย จากที่ทีมสุขภาพจิตของพวกเราได้สังเกตเห็น มีหลายคนรู้สึกว่าพวกเขาควรเข้มแข็งใต้สถานการณ์อันยากลำบากที่ต้องเผชิญ ในบางครั้ง การทำให้พวกเขาเข้าใจว่าความหลากหลายด้านอารมณ์เป็นเรื่องปกตินั้นเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กชายที่ถูกสอนให้อดกลั้นไม่แสดงความรู้สึกของตนเอง

    เพื่อเสริมการช่วยเหลือนี้ องค์การฯ ยังได้จัดให้มีสายด่วนที่ผู้คนสามารถรับความช่วยเหลือทางไกลจากนักจิตวิทยาคลินิกที่จะช่วยรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับบาดแผลทางจิตใจ เช่น ความวิตกกังวลและความโศกเศร้า

    MSF medical team treated a patient in the Azarieh shelter in central Beirut. Lebanon, October 2024. © Antoni Lallican/Hans Lucas

    มาเรียมีอาการเจ็บบริเวณหน้าท้อง เธอเข้ารับการรักษาจากทีมงานองค์การแพทย์ไร้พรมแดนในศูนย์พักพิงอาซาเรียห์ เมืองเบรุต - เลบานอน ตุลาคม 2567 © Antoni Lallican/Hans Lucas

    สายด่วนเพื่อการรักษา

    สายด่วนขององค์การฯ ช่วยให้เราสามารถติดต่อกับผู้คนที่ไม่สามารถเดินทางมาเข้ารับการบริการของพวกเราได้ โดยเฉพาะผู้คนจากทางตอนใต้ของเลบานอน ซึ่งเป็นพื้นที่มีการทิ้งระเบิดอย่างหนักและจำกัดการสัญจร ทำให้การเดินทางมีความยากลำบาก การเข้าถึงบริการสายด่วนมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ เนื่องจากผู้คนจำนวนมากต้องทำการเคลื่อนย้ายและเผชิญกับอุปสรรคการเข้าถึงการดูแลรักษา ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่มีราคาสูงและการตีตราทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต

    ผู้โทรสายด่วนหลายคนเป็นพ่อแม่ที่ประสบปัญหาในการช่วยเหลือบรรดาลูกของพวกเขาในการข้ามผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในช่วงที่มีสงคราม โดยมักสังเกตเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูก เหล่าพ่อแม่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเมื่อต้องอธิบายให้เข้าใจว่าระเบิดและปืนอันน่าหวาดกลัวด้านนอกคืออะไร ซึ่งบางครั้งต้องสร้างเรื่องใหม่ขึ้นมาเพื่อให้พวกเขารู้สึกสบายใจ ตัวอย่างเช่น เสียงปืนอาจถูกอธิบายว่าเป็นเสียงของ การยิงด้วยความสุขเช่น ยิงเพื่อการเฉลิมฉลองในวันแต่งงาน นักจิตวิทยาที่ให้บริการสายด่วนของพวกเราได้ให้คำแนะนำแก่พ่อแม่ในการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กๆ ได้แสดงหรือเผยความรู้สึกของตนออกมา

    แม้ว่าพวกเราจะต้องพูดถึงสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา แต่พวกเราก็ต้องทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยด้วย อัล มาชาคบา อธิบาย การรับฟังลูกๆ ของพวกเขาและเข้าใจว่าเสียงเหล่านั้นมีผลกระทบต่อพวกเราอย่างไรเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง หรือพวกเขาสามารถชวนเด็กๆ ให้แบ่งปันความรู้สึกผ่านการวาดรูปหรือพูดคุย

    จากความต้องการความช่วยเหลือที่เพิ่มมากขึ้น มีปริมาณผู้คนโทรเข้ามายังสายด่วนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 5 สายต่อวันในช่วงแรก ช่วงบ่ายของวันหนึ่งองค์การฯ ได้รับสายถึง 80 สาย โดยรวมแล้ว สายด่วนรับมือกับผู้คนที่โทรเข้ามาปรึกษาด้านสุขภาพจิตเกือบ 300 ราย และส่วนใหญ่เป็นสายที่โทรเข้ามาในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

    นอกจากนี้ ทีมแพทย์เคลื่อนที่ของพวกเราได้จัดให้มีการประชุมกลุ่มผู้ช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตสำหรับผู้คนเกือบ 50,000 คนในวันที่ 21 ตุลาคม 2567 และอีกมากกว่า 450 คนที่ได้รับการช่วยเหลือจากการบริการด้านสุขภาพจิตแบบรายบุคคล ทีมของพวกเรายังให้การช่วยเหลือเบื้องต้นทางสุขภาพจิต ซึ่งรวมถึงการรับฟังปัญหาอย่างตั้งใจและเทคนิคในการบรรเทาความเครียด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเผยถึงความรู้สึกและความกังวลของตนเองได้ ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือทางการแพทย์และสุขภาพจิตที่สำคัญ ทีมของพวกเรายังได้แจกจ่ายของใช้จำเป็น เช่น ที่นอน และชุดอุปกรณ์สุขอนามัยกับผู้พลัดถิ่น

    สถานการณ์ของประเทศกลางวิกฤต

    สงครามครั้งนี้ได้เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อมานานส่งผลให้ชาวเลบานอนกว่า 80% ต้องอาศัยอยู่ภายใต้ความยากจนและต้องการความช่วยเหลือย่างเร่งด่วน หน่วยงานด้านสุขภาพได้เผชิญกับปัญหาที่หนักหน่วงเนื่องจากการบริการสาธารณะพังทลายและบริการด้านสุขภาพของเอกชนเริ่มมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป

    นักจิตวิทยารายหนึ่งขององค์การฯ เล่าว่า ผู้หญิงคนหนึ่งเริ่มร้องไห้ออกมาเมื่อเธอรู้ว่าองค์การฯ ให้บริการแบบไม่คิดเงิน อัล มาชาคบา กล่าว ผู้คนมักไม่คุ้นชินกับการเข้าถึงบริการเหล่านี้โดยไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย

    Displaced families from the Azarieh shelter crowd around a water tank during a water distribution. Lebanon, October 2024. © Antoni Lallican/Hans Lucas

    ครอบครัวผู้พลัดถิ่นในศูนย์พักพิงอาซาเรียห์มารวมตัวกันบริเวณถังเก็บน้ำเพื่อเติมน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค - เลบานอน 2567 © Antoni Lallican/Hans Lucas

    มากไปกว่านั้น เลบานอนยังเป็นที่อยู่อาศัยแก่ผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงชาวซีเรีย (Syrian) 1.5 ล้านคน และชาวปาเลสไตน์ (Palestinian) มากกว่า 200,000 คน ซึ่งหลายคนเคยผ่านการพลัดถิ่นมาครั้งแล้วครั้งเล่า สำหรับผู้คนเหล่านี้แล้ว ความกังวลในการถูกเนรเทศและการต่อสู้เพื่อหาที่ที่ปลอดภัยถือเป็นเรื่องที่หนักหน่วง บางคนบอกฉันว่าพวกเขายอมตายดีกว่าต้องมาเผชิญกับความเจ็บปวดของการเป็นผู้ลี้ภัยอัล มาชาคบา กล่าว

    องค์การฯ ได้ทำการประเมินความต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องของผู้พลัดถิ่นในประเทศ เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น ทีมของพวกเราได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรและเครือข่ายโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่


    สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา

    สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้