Skip to main content

    ซีเรีย: ความรู้สึกที่ยังลอยค้างอยู่ในอากาศ

    A view of Al-Hol camp in Northeast Syria.

    ภาพของค่ายอัล-โฮลทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย - ซีเรีย ตุลาคม 2566 © MSF

    วิกกี้ ฮอวกินส์ (Vickie Hawkins) ผู้อำนวยการทั่วไป องค์การแพทย์ไร้พรมแดน ศูนย์เนเธอร์แลนด์ เดินทางไปยังพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย เธอบอกเล่าเรื่องราวที่ได้พบภายในโครงการขององค์การฯ และสถานการณ์แสนเลวร้ายที่ผู้คนกำลังเผชิญอยู่

    ช่วงเวลา 25 ปีที่ทำงานให้องค์การแพทย์ไร้พรมแดน  (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ฉันมักได้รับคำถามว่าอะไรที่พบเจอระหว่างการทำงานที่ยังคงติดอยู่ในใจ บางครั้งก็เป็นสถานการณ์หรือผู้คน แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการอธิบายว่าสิ่งที่ยังอยู่ในใจก็คือความรู้สึก บางสิ่งในบรรยากาศที่คุณอธิบายออกมาไม่ค่อยจะได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากตอนที่ฉันไปเยี่ยมโครงการในซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast Syria: NES) เมื่อเร็วๆ นี้

    ที่ซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือ คณะเจ้าหน้าที่ฯ ให้บริการสาธารณสุขพื้นฐาน โดยให้การรักษาโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases หรือ NCD) เช่น โรคเบาหวานและโรคหัวใจ และบริหารจัดการโรงผลิตน้ำเพื่อจัดหาน้ำดื่มสะอาดให้กับค่ายอัล-โฮล (Al-Hol camp) คณะแพทย์ยังให้การรักษาพยาบาลภายในค่ายอัล-โฮลสำหรับผู้ที่เดินทางไปคลินิกไม่ได้

    ที่ตั้งของซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือตั้งอยู่ในเครือข่ายกองกำลังทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อน แทรกตัวอยู่ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างทูร์เคียและอิรัก โดยปกครองตนเองแยกจากส่วนอื่นๆ ของซีเรีย ตามแนวชายแดนเหล่านี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งและวุ่นวายที่วนเวียนอยู่ในชีวิตของผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนโดยประมาณที่อาศัยในบริเวณดังกล่าว

    ชีวิตในคุกกลางแจ้ง

    ที่จุดแวะพักจุดหนึ่งระหว่างการไปเยือน คือค่ายอัล-โฮล ค่ายกักกันขนาดใหญ่ที่อยู่ทางตอนใต้ของชานเมืองอัล-โฮล ใกล้กับชายแดนซีเรียและอิรัก ที่นี่ผู้คนกว่า 43,000 ชีวิตถูกกักอยู่ในสิ่งที่เปรียบเสมือนคุกกลางแจ้งที่มีเต็นท์หลายหลังล้อมด้วยรั้วขนาดใหญ่ มียามพกอาวุธกระจายตัวอยู่รอบอาณาบริเวณ

    ขณะที่อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส ฉันสงสัยว่าพวกเขาอยู่ในเต็นท์และทนกับความร้อนและฝุ่นเป็นเวลาติดต่อกันหลายปีได้อย่างไร ก่อนมาถึงที่นี่ ฉันได้อ่านและได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับค่ายอัล-โฮ มามากมาย แต่เมื่อเห็นกับตา คุณจะตระหนักได้ถึงความโหดร้ายอย่างไม่น่าเชื่อของที่นี่ ซึ่งอยู่ในบริบทที่มีข้อจำกัดและความซับซ้อนมากมาย

    เริ่มแรกค่ายนี้ให้ที่อยู่อาศัยชั่วคราวและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ต้องอพยพหนีความขัดแย้งในซีเรียและอิรัก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผู้คนถูกย้ายเข้ามาจากพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอิสลาม (Islamic State - IS) ในเดือนธันวาคม 2561 คุณภาพชีวิตในค่ายนี้ได้ดิ่งลง กลายเป็นคุกกลางแจ้งที่ไม่ปลอดภัยและขาดสุขอนามัยที่ดี

    A cluster of tents close to MSF’s facility, on a rainy day at phase five, Al-Hol camp

    เต็นท์ที่เรียงรายตามแนวเขตแดนของค่ายอัล-โฮลในวันฝนพรำ ใกล้กับสถานพยาบาลขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย - ซีเรีย ตุลาคม 2566 © MSF

    นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้คนในค่ายก็ติดกับอยู่ในสถานะที่ไม่มีทางออก มีผู้ถูกกักขังจำนวนไม่มากที่ถูกส่งกลับประเทศต้นทาง คือ ฝรั่งเศส แคนาดา ออสเตรเลีย ซีเรีย และอิรัก ขณะที่เดินอยู่ในค่าย สิ่งที่สะดุดตาคือมีเด็กจำนวนมากอยู่ในค่ายนี้ ประชากรที่นี่มากถึงร้อยละ 65 อายุต่ำกว่า 18 ปี และร้อยละ 51 อายุต่ำกว่า 12 ปี

    ตอนที่คุณเดินเข้าไปในค่าย คุณจะเห็นเด็กๆ เล่นดินด้วยของเล่นทำเองที่ประดิษฐ์จากขยะ พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาหรือกิจกรรมทางสังคมได้อย่างต่อเนื่อง และขณะที่คุณมองดูพวกเขาทำกิจกรรมเพื่อให้เวลาผ่านไป คุณจะตระหนักได้ว่าไม่ควรมีใครถูกบังคับให้มีวิถีชีวิตอย่างนี้ โดยเฉพาะเด็กๆ

    การถูกกักขังอยู่ท่ามกลางความรุนแรงและสิ้นหวังเช่นนี้ ทำให้ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่าเด็กๆ เหล่านี้จะมีอนาคตแบบไหนกัน หลายปีที่ผ่านมา เราได้บันทึก ทำรายงานระบุรายละเอียดสภาพที่ไม่ปลอดภัยในค่ายอัล-โฮล

    แต่ถึงกระนั้น ห้าปีต่อมา ทุกอย่างก็ยังคงเหมือนเดิมอย่างน่าขนลุก อันที่จริงแล้ว หลายสัปดาห์หลังฉันกลับจากที่นั่น มีการบุกโจมตีอย่างรุนแรงเกิดขึ้นอีกครั้งโดยกองกำลังรักษาความปลอดภัย ตอนเช้าตรู่ของวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน เต็นท์หลายหลังถูกกรีดทำลาย มีหลายคนถูกทำร้ายร่างกายรวมถึงผู้หญิงหนึ่งรายและเด็กอีกหนึ่งรายซึ่งได้เข้ารับการรักษาที่คลินิกในค่าย ของใช้ส่วนตัวถูกทำลาย และเด็ก 9 คนถูกแยกออกจากมารดาที่ต่างกระวนกระวายใจ แม่ของเด็กเหล่านี้ยังไม่ได้รับข้อมูลเลยว่าลูกของตนอยู่ที่ใด

    เด็กชายที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปมักถูกนำไปยังศูนย์กักกันนอกค่ายเป็นประจำ โดยแทบไม่มีการติดต่อหรือการเข้าถึงจากภายนอก แนวทาง ‘การปฏิบัติการรักษาความปลอดภัย’ ดังกล่าวอ้างการกระทำตามในลักษณะเดียวกันกับการบุกโจมตีอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 29 มกราคม ซึ่งในระหว่างนั้นเต็นท์หลายหลังถูกรื้อค้นกระจุยกระจาย ผู้คนถูกทุบตี มีเด็กอย่างน้อยหนึ่งคนและผู้หญิงอย่างน้อยหนึ่งคนเสียชีวิต ขณะที่อีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ

    A teenager at an MSF mental health clinic drawing on the wall at Al-Hol camp, northeast Syria.

    เด็กวัยรุ่นวาดรูปบนกำแพงของคลินิกด้านสุขภาพจิต องค์การแพทย์ไร้พรมแดน ภายในค่ายอัล-โฮล ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย - ซีเรีย ธันวาคม 2566 © MSF

    เพียงไม่กี่วันต่อมา เมื่อฉันไปเยี่ยมโครงการในเมืองรักกา (Raqqa) และฮะซะกะฮ์ (Hassakeh) ฉันก็เริ่มเข้าใจว่าความสิ้นหวังในซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่ค่ายอัล-โฮล  ทั่วทั้งซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือยังคงขาดแคลนการเข้าถึงบริการสุขภาพอยู่มาก ฉันไปเยี่ยมคณะเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ให้บริการสุขภาพพื้นฐาน ดำเนินโครงการส่งเสริมโภชนาการให้เด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ ดูแลคลินิกสองแห่งสำหรับรักษาโรคไม่ติดต่อ และยังรับมือกับการระบาดของโรคต่างๆ รวมถึงอหิวาตกโรคและโรคหัด

    โครงการรักษาโรคไม่ติดต่อในเมืองฮะซะกะฮ์มีผู้ป่วยเกือบ 3,000 คน ขณะที่โครงการเดียวกันในเมืองรักกาดูแลผู้ป่วยมากกว่า 2,800 คน จากการดำเนินโครงการและการได้พูดคุยกับผู้ป่วย เป็นที่ชัดเจนว่าวิกฤติเศรษฐกิจในซีเรีย ประกอบกับปัญหาอื่นๆ ที่ผู้คนเผชิญมาตลอดกว่าทศวรรษแห่งความขัดแย้ง ได้ส่งผลกระทบอย่างจริงจังแล้วในขณะนี้

    ฉันได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการต้องเลือกสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ และได้พูดคุยกับผู้คนที่เล่าให้ฟังว่าพวกเขาพึ่งพาบริการฟรีขององค์การฯ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล สำหรับบางคนแล้ว การตัดสินใจบางครั้งคือการต้องเลือกระหว่างซื้ออาหารสำหรับคนในครอบครัวหรือจ่ายค่ายาสำหรับรักษาโรคเรื้อรัง

    ฉันได้คุยกับผู้คนที่ยังคงอาลัยกับทุกสิ่งที่หายวับไปกับตา ก่อนปี 2554 ซีเรียมีระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ แต่จากการพูดคุยกับผู้คนในซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้รับรู้ว่าพวกเขารู้สึกเหมือนถูกขังอยู่ในมุมเล็กๆ ของประเทศ ไม่สามารถข้ามเขตแดน หรือมองเห็นอนาคตที่ไกลเกินกว่าวันนี้ 

    ความรู้สึกถูกทอดทิ้งเป็นอารมณ์ที่ฉันรู้สึกว่าสะท้อนอยู่ในหลากหลายเรื่องราวที่ฉันได้ยินมา

    ความรู้สึกถูกทอดทิ้งเป็นอารมณ์ที่ฉันรู้สึกว่าสะท้อนอยู่ในหลากหลายเรื่องราวที่ฉันได้ยินมา และเป็นที่น่าเศร้าว่าข้อมูลต่างๆ ก็ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง ตอนที่ฉันอยู่ในซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2567 มีการประชุมผู้บริจาคเพื่อ และผลการประชุมคือการลดเงินสนับสนุนสำหรับโครงการมนุษยธรรมทั่วซีเรียลงร้อยละ 20 ปีนี้ถือเป็นปีที่สองติดต่อกันที่มีการลดเงินสนับสนุน

    เมื่อพิจารณาว่าในปี 2567 มีความจำเป็นต้องใช้เงิน 4.07 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสนองต่อความต้องการทางมนุษยธรรมในซีเรีย แต่กลับมีเงินเพียงแค่ร้อยละหก หรือ 326 ล้านเหรียญสหรัฐที่ได้รับการสนับสนุนผ่านแผนงานตอบสนองทางมนุษยธรรม (Humanitarian Response Plan – HRP) จึงไม่ยากที่จะเห็นว่าสถานการณ์มีอุปสรรคมาก เนื่องด้วยความสนใจและการสนับสนุนลดลงเรื่อยๆ

    ยกตัวอย่างเช่น ในค่ายอัล-โฮล ความต้องการเหล่านั้นไม่อาจเร่งด่วนไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว ในเดือนมีนาคมของปี 2567 ระบบส่งต่อผู้ป่วยทางการแพทย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ใน 11 ค่ายรวมถึงค่ายอัล-โฮลได้ยุติลงเนื่องจากขาดเงินสนับสนุน การตัดเงินสนับสนุนไม่เพียงตัดโอกาสสำหรับผู้คนในค่ายอัล-โฮล และผู้คนจากค่ายอื่นในซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือที่จะได้เข้าถึงบริการสุขภาพเฉพาะทางเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโรคที่รักษาและป้องกันได้ รวมทั้งการรักษาเฉพาะทางอย่างเร่งด่วนอย่างการผ่าตัด

    วิกฤตการณ์ที่ดิ่งลงเมื่อน้ำขาดแคลน

    ซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือกำลังเผชิญวิกฤติการขาดแคลนน้ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประกอบกับวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาเสบียงอาหารและยา ฝนที่ตกน้อยลง สภาวะแห้งแล้งรุนแรง รวมกับระดับน้ำที่ต่ำในแม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates River) การส่งน้ำจากสถานีสูบน้ำอาลูก (Alouk water station) ที่เคยจัดหาน้ำให้ผู้คนกว่าล้านคนต้องหยุดชะงัก และโครงสร้างการประปาที่เสียหาย สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ชาวซีเรียนับล้านคนเท่านั้นขาดโอกาสการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด แต่ยังส่งผลให้เงินเฟ้อยิ่งขึ้นไปอีก รวมถึงการสูญเสียรายได้และการเก็บเกี่ยวได้น้อยลง

    สาเหตุเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคอย่างอหิวาตกโรค โรคหัด และการติดเชื้อในทางเดินหายใจซึ่งแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ฉันรับทราบจากคณะเจ้าหน้าที่องค์การฯ และคนไข้ว่าจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพียงไรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเตรียมความพร้อมเรื่องโรคระบาดในซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือ พัฒนาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดอย่างยั่งยืนเพื่อป้องกันและจำกัดผลกระทบจากการระบาดของโรค

    ฉันเดินทางออกมาจากซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือด้วยความรู้สึกว่าแม้จะยังมีความหวังอยู่บ้าง แต่มุมที่ถูกลืมของโลกมุมนี้กำลังแบกปัญหามากมายไว้บนบ่าเพียงลำพัง

    ที่นี่เป็นพื้นที่ที่ประชาคมนานาชาติยังสามารถมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยเฉพาะในค่ายอัล-โฮลที่เป็นเขตปกครองตนเองของซีเรียเหนือและตะวันออก (Autonomous Administration of North and East Syria) พันธมิตรนานาชาตินำโดยสหรัฐอเมริกาที่ต่อสู้กับกลุ่มไอซิส (the US-led Global Coalition to Defeat ISIS) ผู้บริจาคนานาชาติ และประเทศที่มีพลเมืองถูกกักอยู่ในค่ายอัล-โฮลจะต้องเร่งหาทางออกระยะยาวให้กับผู้คนที่ถูกกักอยู่ในค่ายโดยด่วน

    แม้ความขัดแย้งในซีเรียจะบรรเทาลง แต่ก็ยังมีแนวโน้มว่าความขัดแย้งจะยังดำเนินต่อไปไม่จบสิ้น และอาจขยายวงขึ้นอีก ทั้งหมดนี้คือความรู้สึกที่ยังลอยค้างอยู่ในอากาศ และยิ่งเพิ่มบาดแผลที่ผู้คนในซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือเคยได้ประสบมาแล้ว เพราะพวกเขายังคงถูกติดและอยู่ในภาวะเปราะบางเพื่อรอคอยอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้น