ซูดาน: ราวกับว่าไม่มีใครสนใจซูดานอีกแล้ว
เซาท์ซูดาน - ตุลาคม 2567 © Paula Casado Aguirregabiria/MSF
นายแพทย์โมฮัมหมัด บาเชอร์ ทำงานร่วมกับองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ในหลายโครงการภายในประเทศซูดาน รวมถึงการให้คำแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรมทางการแพทย์ในโรงพยาบาลที่ทางองค์การฯ ได้สนับสนุนการดำเนินงาน อย่างอัมดาวันบาล (Umdawanban) และ อัลบาน อัลจาดีด (Alban Aljadeed) เมืองคาร์ทูม ประเทศซูดาน
ในเวลานี้ เขายังคงทำงานร่วมกับองค์การฯ ในรัฐวาร์รัป (Warrap) ประเทศเซาท์ซูดาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่องค์การฯ ดำเนินงานให้การรักษาอย่างครบวงจรในสถานพยาบาลหลายแห่งของเมืองทวิคและแอปไบย์ (Abyei) รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานในค่ายผู้พลัดถิ่น อย่างการการบริหารเพื่อประสานพื้นที่ภายในค่ายให้กับชุมชนที่มีความหลากหลาย เขาได้สะท้อนผลกระทบแสนหนักหน่วงที่เกิดจากสงครามในซูดานและเน้นย้ำว่าความขัดแย้งครั้งนี้ไม่สามารถจะถูกกลืนหายไปได้
คุณยังจำผมได้ไหม ผมชื่อโมฮัมหมัด บาเชอร์ ผมเคยเป็นผู้ช่วยผู้ประสานงานทางการแพทย์ขององค์การฯ ในซูดาน ผมเคยเขียนบทความเรื่อง มือที่โอบอุ้มแห่งซูดาน เล่าเหตุการณ์ที่ผมพบเจอในสงครามกลางเมือง ไม่ใช่ในฐานะเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์เพื่อมนุษยธรรม แต่เป็นในฐานะประชาชนซูดานคนหนึ่ง
ผมยังทำงานกับองค์การฯ แต่ตอนนี้ข้ามแดนมาประจำอยู่ที่เซาท์ซูดาน (South Sudan) ถึงตัวจะไม่อยู่ที่นั่น แต่ผลกระทบของสงครามยังคงอยู่กับผมตลอด ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวท้องถิ่น ผมนึกเปรียบเทียบกับสิ่งที่ได้ยินตามช่องข่าวใหญ่ๆ ระดับโลกที่ดูเหมือนซูดานจะไม่ได้อยู่ในความสนใจเท่าไหร่นัก
ซูดานและประชาชนที่กำลังทุกข์ทรมานถูกละเลยจากการจัดลำดับความสำคัญความเป็นไปที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ ถูกลืมจากสื่อ ถูกมองข้ามด้วยเหตุผลทางการเมือง และไม่ได้รับความสนใจจากแหล่งทุนด้านมนุษยธรรมที่ควรให้ความสำคัญกับวิกฤตครั้งนี้เป็นเป็นหลัก ผมถามตัวเองว่าผมจะทำอะไรได้บ้างในฐานะบุคคลคนหนึ่ง และคำตอบก็ชัดเจน ผมจะยังคงช่วยเหลือคนที่ถูกเหยียบย่ำจากสงครามอันโหดร้ายครั้งนี้นายแพทย์โมฮัมหมัด บาเชอร์
เมืองทวิค (Twic) ในเซาท์ซูดาน ผู้ป่วยจำนวนมากเป็นคนเซาท์ซูดานที่กลับมาบ้านหลังจากต้องพลัดถิ่นสองครั้งในรอบหนึ่งทศวรรษ ส่วนผู้ลี้ภัยชาวซูดานนับพันก็ข้ามไปพื้นที่อีกฝั่งของเซาท์ซูดาน กระจายไปตามชุมชน หรือไม่ก็เข้าไปอัดกันอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย
หญิงผู้พลัดถิ่นอุ้มบุตรของเธอเอาไว้ ตอนนี้เธอพักอาศัยอยู่ในค่ายอัลซาฟัต (Alsafat) รัฐอัลญะซีเราะห์ (Al Jazirah) "ฉันกังวลเกี่ยวกับอนาคตของลูก นึกถึงการกลับไปอยู่และเรียนหนังสือที่แอปไบย์ แต่ถ้าสงครามในครั้งนี้จบลงเมื่อไหร่ ฉันว่าฉันจะกลับบ้านที่คาร์ทูมทันที ที่ที่สามีของฉันจะสามารถกลับไปทำงานได้" - ซูดาน ธันวาคม 2566 © Fais Abubakr
ผมสัมผัสได้ถึงเจ็บปวดเหล่านั้น
สงครามนี้ยังคงทำให้พวกเราทุกข์ทรมานต่อไป พรากครอบครัวให้จากกัน คนที่ต้องหนีออกจากซูดานเล่าเรื่องราวความสูญเสียคล้ายๆ กัน ความไม่แน่นอน ความหวังอันเลือนรางที่จะเห็นสันติภาพ ผมรับรู้ความเจ็บปวดนี้ได้ดีเกินไป
เขตแดนภายในประเทศและเขตแนวหน้าถูกควบคุมโดยประเทศคู่สงครามแยกให้ประเทศแตกเป็นเสี่ยงๆ ที่นี่มีหลายชีวิตต้องสูญเสียไป บ้านถูกทำลาย และวิถีการดำเนินชีวิตมลายหายสิ้น
สำหรับประชาชนอย่างพวกเรา พวกเราถูกทิ้งให้อยู่ลำพัง
ครอบครัวของผมหนีมาจากเมืองคาร์ทูม (Khartoum) ท่ามกลางคนนับล้านที่ต้องพลัดถิ่น ไม่ใช่การพลัดถิ่นแค่ครั้งเดียวแต่หลายครั้งในรอบ 18 เดือน พวกเขาต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างโดยที่ไม่รู้ว่าทางข้างหน้าเพื่อเอาชีวิตรอดมีหน้าตาอย่างไร ประกอบกับความสนใจที่ได้รับจากสังคมโลกเพียงเล็กน้อย เรายังคงทุกข์ทรมานจากการหายตัวไปของญาติ ประชาชนถูกจับไปจากบ้านโดยคู่สงครามมานานกว่า10 เดือนแล้ว โดยเรายังไม่ได้รับข่าว ไม่รู้ว่าเขาเป็นตายร้ายดีอย่างไรหรือว่าเขาจะได้รับการปล่อยตัวหรือไม่
แม้แต่คนที่ต้องหนีความรุนแรงหรือได้กลับมาเจอกันอีกครั้งหลังพลัดพราก ความท้าทายใหม่ๆ ก็มีขึ้น ทั้งน้ำท่วม การระบาดของโรค ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางระบบสาธารณสุขที่ล่มสลาย โรงพยาบาลส่วนใหญ่ถูกทำลาย ส่วนที่ยังพอใช้งานได้บ้างก็ต้องเผชิญกับการขาดแคลนยา พนักงาน และทรัพยากรอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น นับได้ว่าแผนการแยบยลอันโหดร้ายของสงคราม
การเอาชีวิตรอดต้องทำภายใต้สิ่งที่ยังเหลืออยู่ ผู้คนถูกปล่อยให้รอคอยปาฏิหาริย์ การพลัดถิ่นยังคงเกิดขึ้นอยู่และแย่ไปกว่านั้นคือ ‘ความตาย’
ผู้ป่วยต่างเดินทางมายังโรงพยาบาลบาเชอร์ (Bashair) เนื่องจากที่นี่คือโรงพยาบาลแห่งเดียวที่ยังคงเปิดดำเนินการอยู่ทางตอนใต้ของเมืองคาร์ทูม - ซูดาน พฤษภาคม 2566 © MSF/Ala Kheir
อย่าเพิ่งเมินหนี
นอกจากเรื่องราวทั้งหมดที่เล่ามานี้ ผมอยากแบ่งปันเรื่องราวการปรับตัวในสถานการณ์ยากลำบากนี้ ในฐานะคนทำงานด้านมนุษยธรรม เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ คณะทำงานวางแผนการลำเลียงขนส่ง และพยาบาล พวกเราทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ การกระทำเล็กๆ ส่งผลสำคัญ การลงแรงพยายามที่เกิดขึ้นทุกครั้งก็เช่นเดียวกัน
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมทำมาตลอดหลายเดือนในเมืองทวิคที่โครงการการแพทย์ขององค์การฯ ดำเนินการในโรงพยาบาลเขตมาเยิร์น อาบูน (Mayen Abun County Hospital) พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสูงอยู่แล้ว เราได้เห็นการพลัดถิ่นภายในประเทศของประชากรเซาท์ซูดานนับพันคนที่ต้องพลัดที่จากบ้านเกิดจากความรุนแรงระหว่างชนเผ่าในอากก (Agok) เมื่อปี 2565 ระบบสาธารณสุขที่อากกล่มสลายจากการรับมือโรคมาลาเรีย (malaria) โรคไวรัสตับอักเสบอี (hepatitis E) และภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition)
งานที่นี่ทำให้ผมมองเห็นอีกมิติของสงครามในประเทศตนเอง ผมเห็นสภาพความอัตคัตของคนที่ต้องหนีจากซูดานด้วยตาตนเอง สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจมากยิ่งขึ้นคือการที่วิกฤตการณ์ยังคงถูกละเลย มีข้อมูลกระแสหลักเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการพลัดถิ่นของชาวซูดานมายังเซาท์ซูดาน สาธารณรัฐชาด (Chad) และประเทศอื่นๆ แม้จะมีอีกหลายครอบครัวที่จำเป็นต้องหาหนทางเพื่อลี้ภัย
เราอยู่ในช่วงเวลาที่วิกฤตการณ์ได้ยกระดับขึ้น ทั้งจากฝีมือมนุษย์และธรรมชาติ ความเสียหายจากสงครามที่เกิดขึ้นปัจจุบันในพื้นที่ต่างๆ ที่มีบริบทแตกต่างกันถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ยากเกินกว่าจะสรุปได้
ท่ามกลางสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ผมขอวิงวอนให้สังคมโลกไม่ลืมซูดาน บางครั้งดูเหมือนว่าไม่มีใครใส่ใจ เหมือนซูดานถูกลดความสำคัญจากประเทศที่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องสำคัญของโลกใบนี้และไปจัดการวิกฤตอื่นแทน เราจะยังอดทนกันได้อีกนานแค่ไหนกับการไม่ลงมือทำอะไรเลยนายแพทย์โมฮัมหมัด บาเชอร์