ปาเลสไตน์: ชาวกาซาพลัดถิ่นในเขตเวสต์แบงก์ที่รอคอยการกลับบ้าน
ทีมงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตกับผู้พลัดถิ่นชาวกาซาในศูนย์พักพิงผู้พลัดถิ่น เขตเวสต์แบงก์ - เวสต์แบงก์ ดินแดนปาเลสไตน์ ตุลาคม 2566 © Faris Al-Jawad/MSF
นับตั้งแต่กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม พลเมืองกาซาหลายพันชีวิตที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลถูกยกเลิกใบอนุญาตทำงาน จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานของปาเลสไตน์ ณ เวลานี้มีผู้พลัดถิ่นชาวกาซาอาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ประมาณ 6,000 ราย บางส่วนมีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย องค์การฯ บริจาคสิ่งจำเป็นเพื่อประคองการใช้ชีวิต อย่างเช่นยาสำหรับโรคไม่ติดต่อ รวมถึงให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต
“ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม สำหรับฉันแล้วทุกอย่างมันเรียบร้อยดี” ฮุสเซน* (Hussein) วัย 62 ปี อาศัยอยู่ในพื้นที่กาซา และทำงานในพื้นที่อิสราเอลมาตลอด 37 ปี นับก่อนถึงช่วงการเกิดสงครามในฉนวนกาซาครั้งล่าสุด “ฉันทำงานที่เมืองอัชด็อด (Ashdod) บางครั้งฉันก็นอนพักที่นั่น บางครั้งฉันกลับไปที่กาซาเพื่อเยี่ยมครอบครัวและอาศัยอยู่กับพวกเขา”
เพื่อหาเงินเลี้ยงดูจุนเจือครอบครัว ฮุสเซนรับจ้างทาสีบ้านเรือนและรับจ้างตามไร่นาหลายแห่งในอัชด็อด ประเทศอิสราเอล ซึ่งอยู่ห่างจากทางตอนเหนือของกาซาราว 35-40 กิโลเมตร
“ฉันได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี และมีเพื่อนชาวอิสราเอลมากมาย” เขากล่าว “ก่อนการโจมตีในวันที่ 7 ตุลาคม ฉันยังดื่มกาแฟกับเพื่อนสนิทชาวอิสราเอลในสถานที่ที่ฉันอาศัยอยู่ ฉันพบเขาขณะซื้อผักในตลาด ฉันเคยนำผักผลไม้จากฉนวนกาซามาให้เขาและครอบครัวของเขา ครอบครัวของเราก็กลายเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็วเช่นกัน”
ซากอาคารที่ถูกทำลายในเมืองเจนิน (Jenin) หลังจากการบุกของอิสราเอลเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน เหตุการณ์นองเลือดอันน่าสยดสยองในฉนวนกาซาได้ลุกลามไปยังเขตเวสต์แบงก์ ชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารไปแล้ว 141 รายนับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม - เวสต์แบงก์ ดินแดนปาเลสไตน์ พฤศจิกายน 2566 © Faris Al-Jawad/MSF
สำหรับฮุสเซน วันที่ 7 ตุลาคม 2566 เปลี่ยนทุกอย่างไปตลอดกาล “ฉันกำลังนอนหลับตอนที่เพื่อนคนนั้นและชายอีกคนบุกเข้ามาในห้อง จากนั้นก็ทุบตีฉันด้วยท่อนไม้ พวกเขาตะโกนว่า ‘คนชาติคุณกำลังฆ่าคนชาติเรา ตอนที่คุณกำลังนอนอยู่ในบ้านของพวกเรา!’ นอกจากนี้เขายังปล่อยสุนัขให้กระโจนมากัดและทำร้ายช่วงท้องและลำตัวของฉัน”
หลังจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นราว 10 นาที ฮุสเซนสามารถวิ่งหนีออกจากสถานการณ์นั้นได้ หากมันต้องใช้เวลาอีกกว่า 30 นาทีจนกว่าเขาจะเจอพื้นที่ปลอดภัย
“ฉันโทรหาเพื่อนชาวอิสราเอลอีกคนเพื่อขอให้เขาเดินทางมารับ เขาพาฉันไปยังบ้านของเพื่อนอีกคนหนึ่งและฉันต้องหลบซ่อนอยู่ที่นั่น 10 วันโดยไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน จนวันที่ 18 ตุลาคม ฉันจึงสามารถเรียกแท็กซี่ให้มาส่งที่เขตเวสต์แบงก์ได้”
ฮุสเซนเดินทางมาถึงรอมัลลอฮ์ (Ramallah) เมืองหลักของเขตเวสต์แบงก์ และตัดสินใจมุ่งขึ้นไปยังเจนินที่อยู่ทางตอนเหนือ ซึ่งพื้นที่นี้มีศูนย์ทำงานหลายแห่งที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ชาวปาเลสไตน์คอยดูแลผู้พลัดถิ่นชาวกาซาหลายร้อยคน
ทีมงานขององค์การฯ เดินทางไปยังศูนย์เหล่านี้เพื่อส่งต่อสิ่งของบริจาคทางการแพทย์ รวมถึงยาสำหรับรักษาโรคไม่ติดต่อและให้การสนับสนุนการทำงานด้านสุขภาพจิต ผู้ป่วยบางรายเล่าให้ทีมงานฟังว่าพวกเขาถูกทุบตี ทำร้าย และด้อยค่า ขณะอยู่ใต้การคุมขังจากกองกำลังอิสราเอลตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม
“ผู้คนที่นี่ (ศูนย์พลัดถิ่น) ต่างมีน้ำใจ ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่ฉันเคยกังวล” ฮุสเซนกล่าว “แต่ครอบครัวของฉันยังคงอยู่ในเมืองกาซาซิตี้ ภรรยาและลูกๆ ของฉันอาศัยอยู่ที่นั่น บางครั้งฉันสามารถติดต่อกับพวกเขาทางโทรศัพท์ได้ และพวกเขาก็เล่าให้ฉันฟังว่าสถานการณ์ที่นั่นมันเลวร้ายแค่ไหน
ฉันแค่ต้องการมีชีวิตสงบสุข เราไม่ต้องการก่อกวนใคร และหวังว่าจะไม่มีใครมาวุ่นวายกับเรา ฉันแค่หวังว่าครอบครัว ลูก หลาน ของพวกเราจะได้อยู่โดยสันติ ปาเลสไตน์คือประเทศของฉัน ไม่ว่าฉันจะอยู่ที่ไหน ที่นี่คือประเทศของฉัน ฉันต้องการกลับไปพบครอบครัวของฉันในกาซา”
ปัจจุบันฮุสเซนเชื่อว่าเขาไม่มีโอกาสได้กลับไปยังเมืองอัชด็อดเพื่อทำงานต่ออย่างแน่นอน
“ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว” เขากล่าว
*นามสมมติเพื่อความปลอดภัย
สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา
สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้