เยเมน: ชีวิตไม่ได้เป็นเพียงตัวเลข จำนวนผู้ป่วยโรคหัดสูงในเยเมนสูงขึ้นจนน่าตกใจ
เด็กหญิงวัย 1 ขวบที่ติดเชื้อโรคหัด กำลังรับการรักษาที่ศูนย์พักคอยภายในโรงพยาบาลอัล โตราช์ (Al Thawrah) ในเมืองอัล ไบดา (Al Bayda) เยเมน มิถุนายน 2566 © Aljunaid/MSF
ช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขของเด็กชาวเยเมนที่ป่วยเป็นโรคหัดและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières - MSF) สูงขึ้นเป็นอย่างมาก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จำนวนผู้ป่วยโรคหัดที่เดินทางมารับบริการทางการแพทย์จากองค์การฯ เพิ่มขึ้นราว 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดในปี 2565 โดยคิดเป็นจำนวนเกือบ 4,000 ราย ซึ่งปัญหาโรคหัดในเวลานี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นผลกระทบของสงครามที่กินเวลายาวนานเกือบ 9 ปี กอปรรวมเข้ากับสภาวะความทุกข์ยากอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพังทลายทางเศรษฐกิจของประเทศ
ในปี 2565 องค์การฯ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับอัตราการติดเชื้อโรคชนิดอื่นที่สูงขึ้นในเด็กของประเทศเยเมนที่เกี่ยวข้องกับภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากภาวะนี้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน จะยิ่งเสี่ยงกับภาวะอันตรายถึงชีวิตจากโรคหัด
สถานการณ์ที่ประชาชนเผชิญความเสี่ยงที่อาจถึงแก่ชีวิตจากโรคหัด ทั้งที่โรคนี้เป็นโรคที่ป้องกันได้ ทำให้เห็นชัดเจนถึงความขาดแคลนการดูแลด้านสาธารณสุขที่จำเป็น และสภาวะความยากจนทางเศรษฐกิจของประชาชนของประเทศเยเมน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตของประชาชนอย่างที่เกิดขึ้นกับ ไอชา (Aisha) และอับดุลเลาะห์ (Abdullah) บุตรชายอายุ 3 ขวบของเธอ
อับดุลเลาะห์ทรมานจากอาการเจ็บคอ ไข้สูง และตาแดง ต่อมาก็มีผดผื่นแดงขึ้นตามลำตัว ตอนที่ฉันพาลูกไปคลินิก หมอบอกว่าเขาป่วยเป็นโรคหัดที่มีภาวะแทรกซ้อนและจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อับดุลเลาะห์เคยได้รับวัคซีนแต่ไม่ครบ เพราะการเดินทางไปคลินิกให้ครบจำนวนครั้งเป็นเรื่องยากลำบาก เราไม่มีระบบขนส่งหรือไม่ก็แพงมาก เราจึงไม่ได้ให้ลูกฉีดวัคซีนครบทั้งหมดไอชา มารดาของผู้ป่วย
ข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาขั้นพื้นฐานและการรับวัคซีน
โรคหัดคืออาการติดเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้เป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่มีประชากรหนาแน่น ซึ่งจะติดได้ง่ายยิ่งขึ้นในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ นอกจากนี้ยังอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือมีภาวะแทรกซ้อน อย่างไรก็ตาม แม้โรคหัดมีแนวโน้มเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน
ความยากจนผนวกกับความขัดแย้งอย่างรุนแรงเปรียบเสมือนเชื้อเพลิงที่ทำให้ประชากรในพื้นที่ห่างไกลต้องเผชิญกับความยากลำบาก กับการต้องจ่ายค่าเดินทางหรือค่าขนส่งเพื่อพาบุตรไปโรงพยาบาล การขาดการรณรงค์ฉีดวัคซีนและขาดสถานพยาบาลที่ราคาไม่แพงและมีประสิทธิภาพในประเทศ ทำให้ประชาชนที่ไม่มีทางเลือกต้องเดินทางไกลเพื่อรับการรักษาที่จำเป็น
คุณแม่ของผู้ป่วยเด็กอายุ 10 เดือน ในหน่วยคัดแยกผู้ป่วยโรคติดต่อที่โรงพยาบาลบริบาลผู้โมคคา (Mocha) เยเมน สิงหาคม 2566 © Athmar Mohammed/MSF
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ได้รับการสนับสนุนการทำงานจากองค์การฯ มักมีภาวะแทรกซ้อน รวมถึงโรคหัดระยะลุกลาม ทั้งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการดูแลเชิงป้องกัน เช่น การฉีดวัคซีน หรือการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที
แม้เป็นเรื่องยากที่จะระบุปัจจัยทั้งหมดที่ทำให้โรคหัดและโรคระบาดที่ป้องกันได้ชนิดอื่นเพิ่มสูงขึ้นในประเทศเยเมน แต่เป็นเรื่องชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนให้ครบจำนวนและข้อจำกัดในการเข้าถึงสถานบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานเป็นปัจจัยหลักของเหตุดังกล่าว ในปีนี้ ปัจจัยเสริมที่ทำให้อุปสรรคเพิ่มมากยิ่งขึ้น คือ อัตราความชุกของโรคที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
เมื่อปี 2562 ตัวเลขผู้ป่วยโรคหัดในคลินิกของเราอยู่ที่ 731 ราย ส่วนในปี 2563 ลดลงเหลือเพียง 77 ราย องค์การฯ คาดการว่าสถิติดังกล่าวเกิดจากการรณรงค์การฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการฉีดวัคซีนมีข้อจำกัด เมื่อประกอบเข้ากับอุปสรรคในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของประชาชน ทำให้ตัวเลขเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยในปี 2564 เราพบผู้ป่วยโรคหัด 762 ราย เราไม่ได้กำลังพูดถึงแค่ตัวเลข นี่คือชีวิตจริงของเด็กหลายคน จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นสูงในปีนี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม ตัวเลขผู้ป่วยสูงขึ้นเกือบ 3 เท่า คิดเป็นเกือบ 4,000 ราย จากสถานการณ์เดิมที่ผู้ป่วยก็ล้นมืออยู่แล้ว โรคหัดทำให้สถานพยาบาลต้องรับภาระหนักเกินไปไอแซค อัลคัลเด หัวหน้าทีมภารกิจในเยเมน
ที่แย่กว่านั้น จำนวนผู้ป่วยโรคหัดที่เพิ่มขึ้นจนน่ากลัวไม่ได้เป็นปัญหาเดียว ทีมงานของเรารู้ว่าผลกระทบที่เพิ่มขึ้นและหายนะทางการแพทย์ยังคงดำรงอยู่ในเขตการปกครองอัมราน (Amran) ซาดาห์ (Sa’ada) ฮาจจาห์ (Hajjah) อิบบ์ (Ibb) โฮเดดา (Hodeida) ธาอีส (Taiz) มาริบ (Marib) และชับวะฮ์ (Shabwah)
หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์การติดเชื้อโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่เพิ่มขึ้นสูงในประเทศเยเมน โดยรายงานระบุว่า ในปี 2565 ประเทศเยเมนมีผู้ป่วยโรคหัดกว่า 22,000 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 161 ราย สำหรับสถิติที่บันทึกจนถึงเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยพุ่งทะยานถึง 16,114 รายแล้ว ส่วนกรณีที่ป่วยหรือเสียชีวิตด้วยโรคคอตีบ ไอกรน และไอร้อยวันก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
การเพิ่มแผนกคัดแยกผู้ป่วย
ในศูนย์สาธารณสุขบางแห่งที่เราให้การสนับสนุนนั้น เราได้ปรับการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นที่เพิ่มขึ้น อย่างกรณีการจัดการโรคหัดที่เขตการปกครองอัล เบย์ดา เราพบว่ามีผู้ป่วยทั้งหมด 1,784 ราย ระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน 2566
จำนวนผู้ป่วยเกือบร้อยละ 52 มีภาวะแทรกซ้อน ในขณะที่มีเพียงแค่ร้อยละ 12 ของผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อนการมารับการรักษาที่โรงพยาบาล สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าอัตราการรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคอยู่ในระดับต่ำแค่ไหน
อุปสรรคด้านการขนส่งและการเข้าถึงเวชภัณฑ์ ข้อจำกัดในการนำเข้าอุปกรณ์สำหรับการให้ช่วยเหลือทางมนุษยธรรม จำนวนสถานพยาบาลที่สามารถให้บริการฉีดวัคซีน และการขาดความรู้ด้านสาธารณสุขที่จะทำให้รับทราบว่าวัคซีนมีความสำคัญอย่างไรในการป้องกันประชากรจากโรคแบบโรคหัด เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน
ทีมงานขององค์การฯ ได้ขยายหน่วยคัดแยกผู้ป่วยโรคหัดที่โรงพยาบาลแอบส์ เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่สูงขึ้น และเพียงแค่ไม่กี่วันหลังจากที่เปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่าผู้ป่วยเด็กแผนกกุมารเวชกรรมมากกว่าครึ่งในโรงพยาบาลแม่และเด็ก อัล คานาวิส (Al Qanawis) ในเขตปกครองแอล ฮาเดย์ดา (Al Hudayda) เป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคหัด
ภายในโรงพยาบาลบริบาลโมคคา ทีมงานแพทย์ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนเดินตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่หน่วยคัดแยกผู้ป่วยโรคหัด ระหว่างที่มีการระบาดของโรคในประเทศเยเมน เยเมน สิงหาคม 2566 © Athmar Mohammed/MSF
ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่โมคคา เดือนเมษายน 2566 เขตปกครองธาอีซมีความจำเป็นในการเพิ่มหน่วยคัดแยกผู้ป่วยโรคติดต่อหน่วยใหม่เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคหัดโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ร้อยละ 35 ของผู้ป่วยในเมืองคาเมอร์ (Khamer) และร้อยละ 41 ในเฮเดน(Haydan) คือผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคหัด สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันในหลายพื้นที่บ่งบอกถึงระดับการแพร่กระจายโรคที่สูง และระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ต่ำอย่างน่าตกใจ
ขอเรียกร้องให้ภาครัฐและหน่วยงานด้านสาธารณสุขเร่งเครื่องในการดูแล
การที่โรคหัดเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในหมู่คนจำนวนมาก นำไปสู่มาตรการการคัดแยกกลุ่มผู้ป่วยออกจากผู้ใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดการติดต่อของโรคหัด นี่คือกุญแจสำคัญในการรักษาและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ในเวลานี้องค์การฯ กำลังรักษาผู้ป่วยโรคหัดในเขตการปกครองหลายเขตในประเทศเยเมน และเราพบว่าผู้ปกครองที่มีความรู้เกี่ยวกับอาการของโรคหัด มีส่วนสำคัญในการการป้องกันบุตรของตนและของเพื่อนบ้านจากโรคนี้
ตัวอย่างคือการที่คุณแม่ของเลเยล (Layal) และฮุสเซน (Hussein) น้องชายของเธอ พาทั้งสองคนมาที่โรงพยาบาลรา’อาดดา (Ra’ada) ในแอล เบย์ดา หลังจากสังเกตเห็นความผิดปกติในอาการป่วยของลูก
“ในตอนแรก เลเยลมีการติดต่อสื่อสารและสัมผัสกับบรรดาญาติของเธอ จากนั้นเธอเริ่มมีอาการไข้และผดผื่น ฉันเลยแยกเธอออกจากน้องชาย” แม่ของเลเยลและฮุสเซนกล่าว
“โชคไม่เข้าข้างเราเมื่อเธอติดเชื้อโรคหัดและเริ่มแสดงอาการเสียแล้ว แต่ขอบคุณพระเจ้าที่ฉันย้ายพวกเขาไปที่โรงพยาบาลทันเวลา และตอนนี้ลูกของฉันก็เริ่มฟื้นตัว ฉันรู้ดีว่าโรคหัดติดต่อกันได้รวดเร็วและกระทบกับเด็กในละแวกบ้าน นั่นคือเหตุผลที่ฉันกังวลมาตลอด”
ระหว่างการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ ทีมงานที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในบริเวณคาร์น แอล อะแซด (Qarn Al Asad) ในเขตการปกครองอัล เบย์ดา วินิจฉัยว่าเด็กคนหนึ่งมีภาวะทุพโภชนาการรุนแรงและเฉียบพลัน โดยเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคหัดสูงขึ้น เยเมน กรกฎาคม 2566 © Aljunaid/MSF
วิกฤติทางสุขภาพที่มีความร้ายแรงจำต้องมีการจัดการที่ครอบคลุมและการประสานงานที่ดี เพื่อปกป้องเด็กในเยเมนจากภัยของโรคหัด เราจำต้องส่งเสริมให้มีมาตรการป้องกัน การมีส่วนร่วมของชุมชน และการยกระดับการบริหารจัดการ หน่วยงานของภาครัฐ นักกิจกรรมด้านมนุษยธรรมและสุขภาพในประเทศเยเมนต้องให้ความเชื่อมั่นว่ามีวัคซีนที่เพียงพอสำหรับให้บริการในหน่วยสาธารณสุข มีการเพิ่มการเข้าถึงและเพิ่มจำนวนสถานพยาบาลทั่วไป ยกระดับประสิทธิภาพในการส่งต่อผู้ป่วยและเสริมการตระหนักรู้ด้านสาธารณสุขภายในชุมชน
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเริ่มปฏิบัติงานในประเทศเยเมนครั้งแรกเมื่อปี 2529 และตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมามีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทีมงานของเราปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาล 11 แห่ง และให้การสนับสนุนสถานพยาบาลอีก 16 แห่ง ในเขตการปกครอง 13 เขต ปี 2565 เรารับรองผู้ป่วยกว่า 108,000 ราย ให้คำปรึกษาผู้ป่วยนอกกว่า 71,000 ราย และผ่าตัดผู้ป่วยกว่า 36,000 ราย รวมทั้งช่วยทำคลอดกว่า 35,000 ชีวิต