Skip to main content

    เยเมน: ความหวังของว่าที่คุณแม่ในพื้นที่ชายฝั่งตะวันตก

    gynaecologist talks to the midwives and sisters about the patients they have cared for today

    แพทย์อาซาร์ สูตินรีแพทย์พูดคุยกับผู้ผดุงครรภ์อัลทาฟ อัล วาห์ฮิดีและน้องสาวโนเรีย อัล วาฮิดี เกี่ยวกับผู้ป่วยที่พวกเธอรักษาอยู่ในแผนกสูตินรีเวชที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดนดำเนินงานอยู่ ภายในโรงพยาบาลทั่วไปโมคา © Julie David de Lossy/MSF

    “ฉันบอกสามีเลยว่า คุณต้องแลกชีวิตของฉันกับลูกคนถัดไป เพราะฉันเป็นโรคเบาหวาน” เนกาห์ อับดาลลาห์ อาลี (Negah Abdallah Ali) เล่าให้ฟัง เนกาห์พิ่งจะคลอด อัชราฟ (Ashraf) ทารกน้อยสุขภาพดีที่หน่วยดูแลหญิงตั้งครรภ์ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) โรงพยาบาลโมคา เจเนรัล (Mocha General Hospital)

    ที่นี่คือชายฝั่งตะวันตกของประเทศเยเมน เป็นบ่ายวันจันทร์ที่แสงแดดเจิดจ้า ข้างนอกอุณหภูมิอยู่ที่ราว 35 องศาเซลเซียส แต่ข้างในห้องพักฟื้นหลังคลอด เนกาห์และหญิงตั้งครรภ์คนอื่นๆ ที่เพิ่งคลอดลูกยังรู้สึกถึงลมเย็นสบายจากเครื่องปรับอากาศ เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างโรงพยาบาลก็มองเห็นทะเลแดงที่เต็มไปด้วยคลื่นลมแปรปรวน

    เนกาห์ วัย 35 ปี ที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วยังมีโรคความดันโลหิตสูงด้วย อาการทั้งสองอย่างเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์และการคลอด เนกาห์เป็นหนึ่งในหลายพันคนที่เดินทางมาที่หน่วยดูแลหญิงตั้งครรภ์ขององค์การฯ ผลพวงที่ตามมาก็คล้ายกับสถานการณ์ในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง เยเมนได้รับผลกระทบด้านระบบสาธารณสุขที่ล่มสลาย ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงหรือโรคประจำตัว ในพื้นที่เมืองโมคา การขาดบริการทางการแพทย์สำหรับหญิงตั้งครรภ์เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขมีปัญหา

    “เราเป็นหน่วยดูแลหญิงตั้งครรภ์และกุมารเวชตลอด 24 ชั่วโมงเพียงแห่งเดียวในพื้นที่ชายฝั่งตะวันตก ซึ่งดูแลครอบคลุมประชากรกว่าครึ่งล้าน” แอน ฟาน เฮเวอร์ (Ann Van Haver) ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมผดุงครรภ์กล่าว

    เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 องค์การฯ เริ่มให้บริการการแพทย์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลโมคา เจเนรัล ทำให้สามารถขยายการบริการดูแลการคลอดและทารกแรกเกิด ปัจจุบันหน่วยการแพทย์สำหรับหญิงตั้งครรภ์มีเตียงสำหรับทั้งการคลอด การดูแลหลังคลอด เตียงสำหรับทารกแรกเกิดและการดูแลทารกในภาวะวิกฤต 28 เตียง โดยก่อนหน้าที่จะมีการให้บริการเหล่านี้ องค์การแพทย์ไร้พรมแดนให้บริการการแพทย์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลสนามเมืองโมคาที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2565

    ชายฝั่งตะวันตกของเยเมนเป็นพื้นที่ห่างไกลและเป็นแนวเขตแดนทางด้านเหนือและตะวันออก หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงหรือมีอาการที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษจะต้องใช้เวลาสามชั่วโมงในการเดินทางโดยรถมายังโรงพยาบาลในเมืองโมคา จากสถิติการทำคลอดพบว่าร้อยละ 15 มีอาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการทำคลอด ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาภายในเวลาที่เหมาะสม อาจทำให้เสียชีวิต

    ความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อนที่หญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ต้องเผชิญเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้โดยง่าย แต่หากไม่มีการฝากครรภ์หรือการดูแลหลังคลอดที่ต่อเนื่องและเข้าถึงได้ง่ายก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอันตรายขึ้น ศูนย์สุขภาพในภูมิภาคไม่สามารถให้บริการดังกล่าวได้เนื่องจากขาดอุปกรณ์ ขาดการฝึกอบรมและขาดทรัพยากรในการเริ่มจัดตั้งการให้บริการ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงไม่มีทางเลือกมากนักและต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลบนถนนขรุขระเพื่อมายังสถานพยาบาล

    an MSF midwife, supporting Negah Abdallah Ali, 35, through her labour.

    อัลทาฟ อัล วาห์ฮิดี ผู้ผดุงครรภ์ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน กำลังช่วยเหลือเนกาห์ อับดุลลาห์ อาลี อายุ 35 ปีที่กำลังตั้งครรภ์ อัลตาฟในอายุ 28 ปีมีพื้นเพจากเมืองเฮยส์และได้รับการศึกษาด้านการผดุงครรภ์ที่โฮเดดาห์ - พฤศจิกายน 2567 © Julie David de Lossy/MSF

    “มีความท้าทายมากมายสำหรับหญิงตั้งครรภ์ในเยเมน ส่วนใหญ่ก็เป็นผลมาจากสงครามที่ทำให้การเข้าถึงศูนย์สุขภาพในพื้นที่ที่เหลืออยู่ไม่กี่แห่งยิ่งยากลำบากมากขึ้นไปอีก” อัลทาฟ อัล วาห์ฮิดี (Altaf Al Wahidi) เจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ประจำหน่วยดูแลหญิงตั้งครรภ์วัย 28 ปีกล่าว

    "นั่นคือเหตุผลที่ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญมากขึ้นไปอีก พวกเราทำงานครอบคลุมพื้นที่ทางชายฝั่งตะวันออกจำนวนมาก"

    หากผู้ป่วยมาทันเวลา โรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็จะทำการดูแลอาการแทรกซ้อนที่หญิงตั้งครรภ์มี อย่างไรก็ตาม แอน ฟาน เฮเวอร์ เน้นย้ำว่าการมีหน่วยดูแลพื้นฐานใกล้บ้านเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรที่อยู่แถบชายฝั่งตะวันตกแล้ว ในแต่ละเดือนจะมีผู้หญิงกว่า 1,300 คนที่คาดว่าจะให้กำเนิดทารก

    “องค์การฯ ทำคลอดไปแล้วประมาณ 250 ราย” ฟาน เฮเวอร์กล่าว “ดังนั้น ยังมีการทำคลอดอีกเป็นพันรายในแต่ละเดือนที่เกิดขึ้นที่ไหนสักแห่ง ซึ่งไม่ใช่สถานพยาบาล และเพราะเหตุดังกล่าวทำให้เราต้องเจอกับอาการแทรกซ้อนมากขึ้นที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด”

    มีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลในพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกได้ รวมถึงการพลัดถิ่นอย่างต่อเนื่องจากเหตุรุนแรง การมีจุดตรวจระหว่างทางจำนวนมาก สภาพเศรษฐกิจที่แร้นแค้น และการต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากสมาชิกเพศชายในครอบครัวหากเป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ทั้งนี้รวมไปถึงการผ่าคลอดด้วย เหตุผลเหล่านี้ทำให้หญิงตั้งครรภ์ที่กำลังจะเป็นแม่มีทางเลือกน้อยมากจนต้องคลอดในสถานที่ที่ไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ เสี่ยงต่อชีวิตทั้งของตนเองและของทารก

    A doctor checking on patients in the intensive care unit.

    ดร. รีมตรวจสอบอาการของผู้ป่วยในหน่วยรักษาผู้ป่วยหนัก แผนกผดุงครรภ์ ภายในโรงพยาบาลทั่วไปโมคา - เยเมน 2567 © Julie David de Lossy/MSF

    ฟาเทมา (Fatema) (ชื่อได้รับการเปลี่ยนเพื่อสงวนข้อมูลส่วนบุคคล) อายุ 16 ปี เธอไปโรงพยาบาลทันทีที่รู้สึกว่ากำลังจะคลอด แต่ก็ยังไม่คลอด จากนั้นไม่กี่ชั่วโมงเธอกลับมาที่บ้าน รู้สึกปวดท้องและคลอดที่บ้านโดยมีแม่ของเธอช่วยเหลือ

    “การคลอดผ่านพ้นไปด้วยดี ทารกสุขภาพแข็งแรง แต่ฉันมีเลือดออกหลังจากนั้น” ฟาเทมาเล่า “พอเช้ารุ่งขึ้น ฉันกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อให้หมอช่วยให้เลือดหยุด ฉันมีความสุขและโล่งใจที่ไม่รู้สึกเจ็บแล้วและกำลังจะได้ออกจากโรงพยาบาลกลับไปหาลูก”

    ย้อนกลับไปที่ห้องดูแลหลังคลอด เนกาห์ได้เจอกับ บาชิรา เซเค็ก (Bashira Seqek) เจ้าหน้าที่ให้ความรู้ด้านสุขภาพ ที่มาให้ข้อมูลเรื่องพิษของพาราเซตามอล ประโยชน์ของการให้นมและการวางแผนครอบครัว ขณะเดียวกันที่ริมทางเดิน อาลี อับดัลลาห์ อาลี (Ali Abdallah Ali) สามีของเธออุ้มลูกชายอายุ 1 วันด้วยแววตาแห่งความภาคภูมิใจ

    A newborn sleeping next to his mother before she is being discharged, 6 hours after delivery.

    ทารกแรกเกิดนอนเคียงข้างมารดาภายหลังจากผ่านการผ่าคลอดไปเมื่อ 6 ชั่วโมงที่แล้ว - เยเมน 2567  © Julie David de Lossy/MSF

    ตั้งแต่มีหน่วยดูแลหญิงตั้งครรภ์เปิดที่โมคาและมีบริการครบทุกอย่าง ผมรู้สึกขอบคุณมากๆ” อาลีกล่าว “ผมรู้สึกมั่นใจเต็มร้อยในการบริการที่ได้รับ ในหมู่บ้านที่ผมอยู่ พวกเราทุกคนรู้ว่าถ้าต้องการการดูแลหญิงตั้งครรภ์เราต้องมาที่นี่”

    หลังประตูบานนั้น ผู้ชายทุกคนจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยกเว้นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ หน่วยดูแลหญิงตั้งครรภ์เป็นโลกของผู้หญิงใบหนึ่งที่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีและความสมัครสมานสามัคคี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพลังให้กับเหล่าเจ้าหน้าที่งานผดุงครรภ์

    หลังจากย้ายการให้บริการมาที่โรงพยาบาลโมคา เจเนรัล มีหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 1,600 คนที่ได้คลอดลูกอย่างปลอดภัย ณ โรงพยาบาลแห่งนี้