เยเมน: ลูกอิ่มหรือแม่อด ทางเลือกอันหนักใจของผู้เป็นแม่
พยาบาลผดุงครรภ์ในสังกัดองค์การแพทย์ไร้พรมแดน กำลังวัดขนาดรอบแขนท่อนบนช่วงกลางของหญิงอายุครรภ์ 9 เดือนรายหนึ่ง ณ ศูนย์แผนกเวชศาสตร์มารดาของโรงพยาบาลอะบัส ซึ่งองค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้เข้าร่วมสนับสนุนการทำงาน - เยเมน พฤศจิกายน 2566 © Jinane Saad/MSF
มัยอิศซา (Mayasa) นั่งอยู่บนเตียงของลูกชายในโรงพยาบาลอะบัส (Abs general hospital) จังหวัดฮัจญะฮ์ (Hajjah) ประเทศเยเมน เด็กชายมุฮัมมัด (Mohammad) วัย 2 ขวบ ต้องเข้ารับการรักษาในศูนย์ฟื้นฟูโภชนาการของโรงพยาบาล หลังจากที่แพทย์ได้วินิจฉัยว่าเขามีภาวะทุพโภชนาการร่วมกับอาการปอดบวมและท้องร่วง
มุฮัมมัดไม่มีอาหารตกถึงท้องมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว มัยอิศซาไม่มีเงินซื้อนมผงสำหรับทารกเมื่อครั้งเขายังแบเบาะ เธอจึงป้อนเขาด้วยนมโค ขนมปัง และมันฝรั่ง มุฮัมมัดมานอนโรงพยาบาลในศูนย์ฟื้นฟูโภชนานี้เป็นรอบที่ 5 โดยครั้งแรกที่เข้ามาคือเมื่อเขาอายุได้ 6 เดือน
องค์การฯ ได้ดำเนินงานสมทบในศูนย์ฟื้นฟูโภชนาการที่โรงพยาบาลอะบัสนี้ แต่ถึงแม้ว่าการรักษาของมุฮัมมัดจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่มัยอิศซาก็ต้องกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่าเดินทางในราคาที่สูงมากสำหรับเธอ เพื่อไปกลับจากบ้านที่อยู่ห่าง 2 ถึง 3 ชั่วโมงจากเมืองอะบัส แม้กระนั้น ยามลูกชายล้มป่วยเธอจะต้องพาเขาไปโรงพยาบาลให้ได้ทุกครั้ง เธอใส่ใจในสุขภาพอนามัยของลูกๆ ด้วยความรักที่ลึกซึ้ง จนบางครั้งก็ไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพของตนเอง เวลานี้ เธอตั้งครรภ์บุตรท้องที่ 4 และค้นพบว่ามีภาวะทุพโภชนาการเมื่ออายุครรภ์ได้ 4 เดือน
"ช่วงเช้าของวันนี้ ลูกๆ ฉันเดินทางไปยังบ้านคุณลุงของพวกเขาเพื่อกินมื้อเช้า ส่วนฉันก็ออกจากบ้านมาที่โรงพยาบาลทั้งที่ท้องว่าง" มัยอิศซากล่าว "ฉันไม่มีเงินเหลือจะซื้ออาหาร ถ้าตอนเช้าฉันทานอาหารไป มันจะไม่เหลือเงินสำหรับมื้อเที่ยงและมื้อเย็น"
เช่นเดียวกับมารดาชาวเยเมนอีกหลายคน มัยอิศซาหนักใจทุกวันเรื่องว่าจะหาอาหารมาเลี้ยงลูกๆ เธอด้วยวิธีใด และเผชิญกับทางแยกที่ต้องเลือกว่าเธอจะเลือกให้ตนเองอิ่ม หรือจะโยกอาหารเหล่าสำหรับบุตรของเธอ
จะเห็นได้ว่า หลายคนที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูผู้ป่วยในศูนย์ฟื้นฟูโภชนาการแห่งนี้กลับมีภาวะทุพโภชนาการเสียเอง เป็นเพราะว่าเกิดภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารขึ้นในเยเมน ถ้าคนเป็นแม่ต้องอดอยาก การจะดูแลลูกนั้นก็กลายเป็นเรื่องที่ยากกว่าเดิมดร. อีลแลร์ ปาโต้ กุมารแพทย์
ในหน่วยเวชศาตร์มารดาของโรงพยาบาลนี้ ยังมีตัวอย่างผู้ป่วยรายอื่นให้เห็นเช่นกัน ซาอะดา (Saada) สตรีอายุครรภ์ 9 เดือน เป็นผู้ป่วยในที่เข้ามาเมื่อไม่นานนี้ด้วยอาการมีเลือดออกและมีการอุดตันของลำไส้ และเธอยังมีภาวะทุพโภชนาการอีก ซาอะดาไม่ได้เข้ากระบวนการฝากครรภ์เลยตลอดเวลาที่ผ่านมา เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงเกินส่วนเพื่อจะไปยังสถานีอนามันที่ใกล้ที่สุด
ซาอะดาใช้คำบรรยายเมืองบ้านเกิดของเธอว่า 'ราวกับป่าช้า' เพราะไม่มีงานหรือช่องทางหาเลี้ยงชีพเลย ครอบครัวทั้ง 8 คนของเธอนี้ไม่เคยได้กินอิ่มท้อง "เรากินขนมปังและชา แต่ไม่ได้กินพวกเนื้อสัตว์หรือปลาเลย" เธอกล่าว "เมื่อก่อนนี้เขาเคยมาแจกอาหารช่วยเหลือ ก็เป็นแป้งทำอาหารห่อหนึ่งกับน้ำมันพืชแค่นั้น แล้วเขาก็เลิกแจกไปเมื่อ 5 เดือนก่อน"
เจ้าหน้าที่ขององค์การฯ ทำการวัดขนาดรอบแขนท่อนบนช่วงกลางของสตรีทุกคนที่เข้ารับการรักษาอยู่ในศูนย์แผนกเวชศาสตร์มารดาของโรงพยาบาลอะบัส เพื่อเป็นการประเมินภาวะทางโภชนาการของร่างกาย จำนวนหญิงมีบุตรที่มีภาวะทุพโภชนาการระดับปานกลางถึงรุนแรง ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมานี้
ในปี 2565 จำนวนได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64 และอีกร้อยละ 6 นั้นมีภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลันระดับวิกฤติ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สตรีที่เข้ารับการรักษาอยู่ในศูนย์แผนกเวชศาสตร์มารดา ร้อยละ 68 มีภาวะทุพโภชนาการ
ไกลออกไป 60 กิโลเมตรจากเมืองอะบัส มีโรงพยาบาลแม่และเด็กอัลเกาะนาวัศ (Al-Qanawis mother and child hospital) ซึ่งองค์การฯสนับสนุนการทำงาน ก็พบเรื่องราวแบบเดียวกัน ในปี 2566 ผู้ป่วยหญิงที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน จำนวนร้อยละ 47 นั้นมีภาวะทุพโภชนาการ และเพิ่มมาเป็นร้อยละ 49 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567
“หญิงตั้งครรภ์ที่พบภาวะทุพโภชนาการมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ซึ่งภาวะหลักคือการขาดธาตุเหล็ก หรือโรคโลหิตจาง” ดร. ปาโต้กล่าว “เมื่อคุณแม่ขาดสารอาหารก็มีความเสี่ยงสูงที่ทารกจะมีภาวะทุพโภชนาการ นอกจากนี้ยังเป็นการยากสำหรับเธอที่จะให้นมลูกอีกด้วย”
ความเสี่ยงของการที่มารดาประสบภาวะขาดสารอาหาร จะให้กำเนิดทารกที่เสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด ดั่งที่ปรากฏในโครงการส่งเสริมโภชนาการขององค์การฯ ในเมืองอะบัส พบว่าร้อยละ 24 ของจำนวนผู้เข้ารับการรักษาทั้งหมดของปี 2566 นั้นคือเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน
โดยความพยายามการตรวจหาภาวะทุพโภชนาการในผู้หญิงและเด็ก และป้องกันไม่ให้อาการทรุดหนักลงนั้น นักสาธารณสุขชุมชนในสังกัดองค์การฯ ตระเวนไปตามบ้านเรือนในจังหวัดอัลฮุดัยดะฮ์ (Al-Hudaydah) เพื่อทำการวัดขนาดรอบวงแขนท่อนบนช่วงกลางในเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีหลังคลอด ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการที่มีลักษณะบ่งชี้ภาวะทุพโภชนาการจะได้รับการส่งต่อไปยังสถานีอนามัยใกล้บ้านที่สามารถให้การดูแลรักษาทางการฟื้นฟูโภชนาการได้
สตรีคนหนึ่งป้อนอาหารแก่บุตรชายของตนวัย 9 เดือน ซึ่งได้เข้ารับการรักษา ณ ศูนย์ฟื้นฟูโภชนาการในสมทบขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ที่โรงพยาบาลอะบัส จังหวัดฮัจญะฮ์ - เยเมน พฤศจิกายน 2566 © Jinane Saad/MSF
อย่างไรก็ตาม นักสาธารณสุขชุมชนในสังกัดองค์การฯ ได้รายงานถึงความท้าทายในการรักษาอย่างต่อเนื่องของสตรีมีครรภ์และแม่มือใหม่ที่มีภาวะทุพโภขนาการ เนื่องจากมีช่องว่างที่สำคัญในโครงการของศูนย์สุขภาพประจำภูมิภาค
วิกฤตภาวะทุพโภชนาการในเยเมนเพิ่มขึ้นเนื่องจากสาเหตุพื้นฐานหลายประการ หลังจากความขัดแย้งมานานกว่าทศวรรษและวิกฤตเศรษฐกิจที่เรื้อรัง ทำให้ผู้คนจำนวนมากในเยเมนต้องไร้ช่องทางทำมาหากิน อัตราเงินเฟ้อที่สูงทำให้กำลังซื้อของผู้คนลดลง ดังนั้นพวกเขาจึงไม่สามารถซื้ออาหารที่มีคุณค่าเพียงพอได้เหมือนแต่ก่อน การแจกจ่ายอาหารยังชีพที่ลดลงรวมถึงการระงับการกระจายอาหารทั่วไป (General Food Distributions) ของโครงการอาหารโลก (WFP) ในเยเมนตอนเหนือเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ที่กำลังเลวร้ายอยู่แล้ว
ในขณะเดียวกัน การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของผู้คนก็มีข้อจำกัดอย่างมาก เนื่องจากศูนย์สาธารณสุขมูลฐานไม่สามารถเปิดทำการได้ และค่าใช้จ่ายที่สูงในการขนส่ง ซึ่งกระทบต่อกระบวนการฝากครรภ์และการดูแลหลังคลอดในกลุ่มสตรีมีครรภ์ ทำให้ไม่สามารถตรวจพบอาการแสดงระยะเริ่มต้นของภาวะทุพโภชนาการ
นอกจากนี้ สตรีจำนวนมากในเยเมนไม่มีความรู้ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงของการขาดสารอาหารในเด็กและภาวะแทรกซ้อนได้
เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการของแม่และเด็กในเยเมน สิ่งสำคัญคือต้องเติมเต็มช่องว่างในโครงการด้านโภชนาการและความช่วยเหลือด้านอาหาร จากความขาดแคลนที่เกิดขึ้นในเยเมน สิ่งสำคัญคือเราควรดำเนินการตามแนวทางที่ได้ถูกกำหนดเป้าหมายไว้ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มที่เปราะบางที่สุด โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่าห้าปี สตรีมีครรภ์ และแม่มือใหม่ นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการขาดสารอาหารและภาวะแทรกซ้อนดร. อีลแลร์ ปาโต้ กุมารแพทย์