รายละเอียดของโรคหัดพบครั้งแรกในสมัยศตวรรษที่ 10 โดยนักปราชญ์ชาวเปอร์เซีย ก่อนหน้านั้นผู้คนมักสับสนระหว่างโรคหัดกับไข้ทรพิษ (โรคฝีดาษ)
ในช่วงศตวรรษที่ 20 การวิจัยโรคหัดในสหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้าที่สำคัญหลายประการ ในปี 2497 นักชีววิทยาชาวอเมริกันเจ้าของรางวัลโนเบล จอห์น เอนเดอร์ส ประสบความสำเร็จในการแยกเชื้อไวรัส ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนตัวแรกคือ “รูบีโอแวกซ์” (Rubeovax) ได้สำเร็จเมื่อปี 2506
ต่อมาในปี 2514 ได้มีการพัฒนา “แอทเทนูแวกซ์” (Attenuvax) วัคซีนที่รวมเชื้อหัดที่ถูกทำให้อ่อนแอ เชื้อคางทูม และเชื้อหัดเยอรมันเข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็นวัคซีนตัวแรกที่ฉีดรวมกันได้ในเข็มเดียว และฉีดกระตุ้นได้ในภายหลัง
วัคซีนตัวนี้มีผลช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคหัดลงได้อย่างมาก ในปี 2523 เมื่อการฉีดวัคซีนยังไม่แพร่หลาย โรคหัดคร่าชีวิตผู้คนถึงปีละ 2.6 ล้านคน และในทางกลับกันระหว่างปี 2557 ถึง 2559 มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคหัดต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์จากการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมอทั่วโลก อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัดราว 207,500 คน ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ ระบุว่าเกิดการความล้มเหลวในการฉีดวัคซีน
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนรับมือกับโรคนี้อย่างไร?
โครงการฉีดวัคซีนหัด (และการรักษาระหว่างเกิดการระบาด) เป็นกิจกรรมที่สำคัญขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ในทุกๆ ปีจะมีการจัดโครงการฉีดวัคซีนในหลากหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง นอกจากนี้ องค์การแพทย์ไร้พรมแดนยังทำโครงการรักษาโรคหัดในชาด ไนเจอร์ ไนจีเรียและบังกลาเทศ ซึ่งตั้งแต่ปี 2549 องค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้ฉีดวัคซีนให้เด็กไปแล้วราว 28 ล้านคน การแพร่ระบาดของโรคนี้เกิดจากระบบการฉีดวัคซีนของภาครัฐที่อ่อนแอและปัญหาการฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ความขัดแย้งและตามค่ายผู้อพยพที่มีผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่กันอย่างเบียดเสียด
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคหัดขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนส่วนมากเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตและความครอบคลุมของวัคซีน ตามทฤษฎีแล้วเมื่อจัดโครงการฉีดวัคซีนประชากรหมู่มากก็ควรจัดสำรวจตามหลังเพื่อวัดผลของโครงการด้วย
ผลการสำรวจเหล่านี้บางส่วนตีพิมพ์โดยเอพิเซนเตอร์ (Epicentre) และเอกสารอื่นๆ หาอ่านได้ที่งานวิจัยภาคสนามขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน
ความเคลื่อนไหวขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนเกี่ยวกับโรคหัดหลักๆ แล้วเกี่ยวกับการเข้าถึงวัคซีน (และเงินทุน) เราร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อทำให้แน่ใจว่ามีจำนวนวัคซีนอย่างเพียงพอในราคาที่ย่อมเยา โดย องค์การแพทย์ไร้พรมแดนยังทำโครงการฉีดวัคซีนโรคหัดเป็นวงกว้างเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ขาดแคลนด้วย
โครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ (Access Campaign) ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนร่วมกับกลุ่มทางเลือกที่ปฏิบัติงานด้านวัคซีน (Vaccine Working Group) ยังเดินหน้าผลักดันพันธมิตรกาวี (GAVI) เพื่อปรับนโยบายให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก โดยเปิดให้ประเทศต่างๆ ฉีดวัคซีนเด็กอายุเกิน 12 เดือนได้และมีวัคซีนที่จำเป็นพร้อมสำหรับแนวทางนี้
เรื่องราวของผู้เข้ารับการรักษา
ลูกสาววัย 9 เดือนของนูราตา นูร์ ซาลิมา มีไข้ประมาณ 6 วันก่อนจะได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลกูตูปาลองในค็อกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ พยาบาลยูนุสเล่าว่าเด็กทารกแทบจะไม่รู้ตัวตอนที่มาถึงยังห้องฉุกเฉิน
การติดเชื้อในทางเดินหายใจอย่างรุนแรงและอาการหายใจลำบากเป็นอาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคหัดที่อาการหนัก แพทย์ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน นาวแชด อาลัม เคแนน เล่าถึงการมาถึงยังคลินิกของเด็กน้อยด้วยอาการหอบว่า “เหมือนกับขาดอากาศหายใจ” เขากล่าว
© Tariq Adnan/MSF
ทีมแพทย์ให้ออกซิเจนเพื่อช่วยให้เธอหายใจ และให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรับมือกับการติดเชื้อซ้ำซ้อน
หลังพักรักษาตัวในวอร์ดแยกกักโรคนาน 5 วัน นูร์ ซาลิมา อาการดีขึ้นและแข็งแรงพอจะออกจากโรงพยาบาลได้ พยาบาลยูนุสที่ดูแลเธอจนแข็งแรงดีใจมาก “ความรู้สึกที่ได้เห็นคนไข้รอดชีวิตมันอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้” เขากล่าวอย่างมีความสุข
- โรคหัดคืออะไร?
-
โรคหัดเป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายมากและมักจะส่งผลกระทบต่อเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ โรคนี้อาจทำให้เสียชีวิตได้แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 และยังใช้ได้ดีอยู่จนถึงทุกวันนี้
- โรคหัดคล้ายกับคางทูมหรือหัดเยอรมันหรือไม่?
-
โรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน เป็นคนละโรคที่เกิดจากไวรัสคนละตัวกัน แต่ทั้งหมดมีลักษณะที่คล้ายกันบางส่วน
อาการของโรคหัดจะเริ่มด้วยอาการไข้ ไอ น้ำมูกไหล ตาแดง และผื่นแดงขึ้นที่ใบหน้าก่อนจะกระจายไปทั่วร่างกาย หากไวรัสนี้แพร่ไปติดที่ปอดอาจทำให้เกิดอาการปอดอักเสบได้ โรคหัดในเด็กโตอาจทำให้เกิดอาการอักเสบของสมอง หรือที่เรียกว่าภาวะสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดการชักและทำลายสมองได้
ไวรัสคางทูมมักก่อให้เกิดอาการบวมของต่อมที่อยู่ด้านล่างของใบหู ทำให้ดูเหมือนแก้มป่อง ก่อนจะมีวัคซีน คางทูมเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ภาวะการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง) และอาการหูหนวกในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ผู้ชายยังอาจติดเชื้อคางทูมที่ลูกอัณฑะและทำให้กลายเป็นหมันได้
หัดเยอรมันมีอีกชื่อหนึ่งว่ารูเบลลา โรคนี้ทำให้เกิดผื่นขึ้นที่ใบหน้า ทำให้ต่อมหลังใบหูบวม และในบางกรณีจะมีอาการบวมของข้อต่อกับอาการไข้ต่ำร่วมด้วย เด็กส่วนมากที่ป่วยจะหายได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีผลกระทบในระยะยาว แต่หากหญิงมีครรภ์ติดเชื้อหัดเยอรมันอาจเกิดผลกระทบร้ายแรงได้ หากการติดเชื้อเกิดขึ้นระหว่างช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์จะมีโอกาสมากกว่า 20% ที่ทารกจะมีอาการผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น ตาบอด หูหนวก หัวใจพิการ หรือภาวะบกพร่องทางสติปัญญา
- โรคหัดแพร่กระจายได้อย่างไร?
-
โรคหัดแพร่ระบาดผ่านทางการไอ จาม และน้ำลาย เพราะเป็นโรคที่แพร่กระจายได้ผ่านทางละอองฝอยในอากาศ
ละอองฝอยเหล่านี้จะไปเกาะอยู่ตามพื้นผิวต่างๆ ซึ่งไวรัสจะยังคงแพร่เชื้อได้นานถึง 2 ชั่วโมง ทำให้แม้จะไม่มีการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างผู้ป่วยกับคนอื่นก็สามารถติดเชื้อได้
โดยนับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อไป 10-14 วัน โรคนี้จะไม่แสดงอาการ
- โรคหัดคร่าชีวิตคุณได้หรือไม่?
-
โรคหัดอาจรุนแรงมากหรือร้ายแรงถึงชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กที่อาศัยอยู่ในสภาวะแออัด ขาดสารอาหาร หรือติดเชื้อเอชไอวี ส่วนที่พบได้น้อยกว่าแต่อันตรายกว่าคือภาวะสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส ซึ่งจะพบได้ในผู้ป่วย 1 ใน 1,000 คน ภาวะนี้เป็นอาการแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต
- โรคหัดส่งผลอย่างไรต่อร่างกายของเรา?
-
ไวรัสจะฝังตัวอยู่ในทางเดินหายใจ เพิ่มจำนวนเซลล์ และเข้าไปในกระแสเลือด ซึ่งจะส่งต่อไปยังอวัยวะในร่างกายได้ ทั้งม้าม ต่อมน้ำเหลือง ปอด และตับ จากจุดนี้ร่างกายจะเริ่มแสดงอาการ ทั้งมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง และบางครั้งก็มีอาการท้องร่วงร่วมด้วย นี่คือระยะที่เด็กติดเชื้อจะแพร่เชื้อโรคได้มากที่สุด
สัญญาณบ่งชี้ว่าเป็นโรคหัดที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือตุ่มคอพลิค หรือจุดสีขาวขนาดเล็กที่พบได้ในช่องปาก
จากนั้นผื่นจะเริ่มขึ้น ภายใน 4 วันจะมีตุ่มขนาดเล็กขึ้นจากที่ใบหน้าเป็นอันดับแรก ก่อนจะลามไปทั่วตัว ตุ่มเหล่านี้จะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ เหมือนเม็ดทรายสีขาว แต่ละเม็ดจะมีขอบเป็นวงสีแดง หลังจากนั้น 3-4 วันผื่นจะจางลง แต่ผิวจะไม่ลอกออกเหมือนอย่างปกติเมื่อเป็นผื่นคัน
เด็กส่วนมากจะป่วยเป็นโรคหัดแบบไม่ซับซ้อน โดยจะมีอาการเหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียประมาณ 10 วันก่อนจะเริ่มหายป่วย ประมาณ 10-40% อาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น การติดเชื้อที่หู ปอดอักเสบ หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ
- ควรไปพบแพทย์หรือรับการรักษาเมื่อใด?
-
ควรไปพบแพทย์หากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนให้เรียบร้อยตามกำหนดและมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัด การฉีดวัคซีนที่สมบูรณ์คือจะต้องได้รับวัคซีนหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) จำนวน 2 เข็ม อีกสาเหตุหนึ่งคือการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อโดยที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน จึงควรไปพบแพทย์แม้จะยังไม่มีอาการก็ตาม
- ใครคือกลุ่มเสี่ยงต่อโรคหัดมากที่สุด?
-
ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ โดยเฉพาะเด็กๆ จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด ซึ่งเมื่อประกอบกับภาวะทุพโภชนาการหรือมาลาเรีย ผลกระทบนั้นอาจเข้าขั้นอาการป่วยอย่างรุนแรง
ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัดมักจะอยู่ระหว่าง 3-6% หรืออาจสูงถึง 30% ในค่ายผู้อพยพและชุมชนห่างไกล
- เราจะป้องกันหรือรักษาโรคหัดได้อย่างไร?
-
ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคหัดโดยเฉพาะ แต่เน้นการรักษาตามอาการและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หากปวดศีรษะแพทย์จะให้ยาพาราเซตามอล หรือหากติดเชื้อที่ตาจะได้ยาป้ายตา ส่วนยาปฏิชีวนะจะจำเป็นก็ต่อเมื่อคนไข้มีอาการติดเชื้อซ้ำซ้อน เช่น ปอดอักเสบ หรือการติดเชื้อที่หู
วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับโรคหัดคือการฉีดวัคซีนรวมสำหรับโรคหัด คางทูมและหัดเยอรมัน การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งการฉีดวัคซีนประชากรให้ได้มากกว่า 90% จะลดหรือกำจัดพาหะของโรคและหยุดยั้งการระบาดของไวรัสนี้ได้ เพราะนี่คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นในสังคม
- หากรับยาหรือการรักษาแล้วจะยังติดโรคหัดได้อีกหรือไม่?
-
ผู้ที่หายจากโรคหัดจะมีภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ที่ทำให้มีภูมิคุ้มกันจากไวรัสนี้ ซึ่งการฉีดวัคซีนก็ช่วยป้องกันโรคหัดได้เช่นกัน จึงแนะนำให้เด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนหัด คางทูม และหัดเยอรมันจำนวน 2 เข็ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคของวัคซีนให้ได้สูงถึง 98%
10 คำถามเกี่ยวกับโรคหัด
เรื่องน่ารู้เพิ่มเติม
โรคหัดติดต่อได้ง่ายมาก โดยค่าระดับการแพร่เชื้อพื้นฐาน (ค่า R0) อยู่ที่ 12-18 ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วย 1 คนจะแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ ได้อีก 12-18 คน