Skip to main content

    COP28: สุนทรพจน์ขององค์การฯ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภาวะภูมิอากาศและสุขภาพ

    Dr. Christos Christou at COP 28. United Arab Emirates, 2 December 2023. © MSF

    ดร. คริสตอส คริสตู (Christos Christou) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP 28) - สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ธันวาคม 2566 © MSF

    "หากคุณอยากเห็นว่าผลของสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีหน้าตาอย่างไร ก็ให้เขาลองมาดูที่ประเทศโมซัมบิก เราคือผู้รับเคราะห์จากการกระทำของเหล่าประเทศที่สร้างมลพิษมากที่สุดในโลก ตอนนี้เราเผชิญกับการระบาดของโรคไข้มาลาเรียในตลอดทั้งปี รวมถึงต้องประสบภัยจากไซโคลนลูกแล้วลูกเล่า"

    ข้อความข้างต้นนี้เป็นคำบอกเล่าของนายอะดาโม (Adamo) เพื่อนร่วมงานของข้าพเจ้า  แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเลวร้ายยิ่งกว่านั้น เพราะคำกล่าวของเขาไม่ได้เกิดที่ประเทศโมซัมบิกเพียงแห่งเดียว แต่กำลังเกิดขึ้นจริงในหลายพื้นที่ทั่วโลกใบนี้ 

    ในฐานะองค์กามนุษยธรรมด้านการแพทย์ ซึ่งปฏิบัติภารกิจในภูมิประเทศอันเสี่ยงภัยจากความแปรปรวนของภูมิอากาศมากที่สุดของโลก ทีมงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) กำลังทำหน้าที่ให้การรักษากับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ 

    ภาวะฉุกเฉินนี้ทำร้ายกลุ่มคนที่เปราะบางมากที่สุด องค์การฯ และข้าพเจ้าขอยืนยันว่าเป็นจริงเช่นนั้น เพราะได้ประสบเห็นมาด้วยตาตัวเองว่าขณะที่พวกเขาเหล่านี้เข้ามานั่งรอเพื่อรับการรักษามันเป็นเช่นไร ผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้นแค่ไหน

    ตั้งแต่ประเทศไนเจอร์จนถึงประเทศโมซัมบิก จากประเทศฮอนดูรัสถึงยังประเทศบังกลาเทศ คณะทำงานขององค์การฯ ได้ทำการรักษาผู้ป่วยจากโรคติดต่อต่างๆ เช่น โรคไข้มาลาเรียและโรคไข้เลือดออก จากภาวะทุพโภชนาการ หรือจากการเจ็บป่วยอื่นที่สืบเนื่องมาจากสภาวะอากาศสุดขั้ว 

    นับตั้งแต่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP27) เป็นต้นมา ทางองค์การฯ ได้เข้าบรรเทาสาธารณภัยในเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ประเทศซูดานใต้และประเทศเคนยา ในเหตุวาตภัยจากพายุหมุนไซโคลนที่ประเทศเมียนมาและประเทศมาดากัสการ์ รวมถึงภัยแล้งและปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่จะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) ซึ่งทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องอดอยากอย่างรุนแรง  นอกจากนี้ ทางองค์การฯ ยังได้ปฏิบัติภารกิจเพื่อลดการระบาดของอหิวาตกโรคในอีกหลายประเทศ และการระบาดของโรคไข้เลือดออกที่มีอัตราสูงเป็นประวัติการณ์ในหลายพื้นที่ของทวีปอเมริกา  นอกจากนี้โรคไข้มาลาเรียและภาวะทุพโภชนาการ เป็นภัยมรณะที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปทั่วทั้งบริเวณซาฮิล (Sahel) ของทวีปแอฟริกา โดยทีมงานขององค์การฯ ยังได้มีการจัดสรรการรักษาและการป้องกันภาวะทุพโภชนาการแก่ประชากรในประเทศชาดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 

    กลุ่มคนผู้เปราะบางเหล่านี้แทบจะไม่ได้รับการเหลียวแล ในการปกป้องพวกเขาจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  หลายชุมชนต้องประสบวิกฤตภัยครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ทวีความรุนแรงหนักขึ้นและมีขอบเขตขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ

    ผู้คนจำนวนมากต้องสังเวยด้วยสุขภาพอนามัยของพวกเขาเอง จากผลกระทบที่พวกเขามิได้มีส่วนก่อให้เกิดขึ้น

    เป็นเรื่องที่ทั้งพิกลและน่าหดหู่อยู่ในคราวเดียวกัน ที่กลุ่มคนซึ่งแทบไม่มีส่วนในการก่อมลพิษนั้นต้องรับผลจากภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศโดยเพียงลำพัง 

    ในเวทีการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) ครั้งนี้ ก็เห็นได้ชัดว่าแนวปฏิบัติที่ผ่านนั้นไม่เพียงพอต่อระดับภัยในปัจจุบัน โดยยังไม่ต้องกล่าวถึงอนาคตว่าเหตุการณ์ที่จะเลวร้ายลงเพียงใด เหล่าผู้นำของโลกไม่สามารถรักษาคำมั่นที่จะจำกัดการก่อมลพิษ และคำมั่นที่จะอุ้มชูดูแลประเทศที่ประสบความยากลำบากในการปรับตัวให้อยู่รอด 

    การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น

    ชุมชนแห่งนี้ต้องแสดงให้เห็นว่าจะมีปฏิบัติการเพื่อรับมือภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศที่ทัดเทียมกับระดับความเสียหาย ต้องแสดงความตั้งใจจริงในการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อลดการก่อมลพิษ อย่างเร่งด่วน ตรงจุด และไม่รีรอต่อไป การช่วยเหลือด้านเงินทุนและด้านองค์ความรู้ในการปรับตัวให้อยู่รอดจากผลที่จะตามมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องเกิดขึ้น 

    นโยบายด้านภูมิอากาศ การเจรจาหารือ และแนวปฏิบัติ ควรคำนึงถึงเรื่องสุขภาพอนามัยเป็นลำดับแรก เพราะนี่เป็นประเด็นซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    ทั่วโลกต้องหยุดเอาแต่มองดูแล้วเริ่มลงมือปฏิบัติ เพราะวิกฤตภัยด้านมนุษยธรรมต่างๆ นั้นกำลังหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น

    จะต้องมีจัดประชุมอีกกี่ครั้ง ต้องให้เวลาล่วงไปอีกกี่ปี 

    ต้องให้อีกกี่คนต้องตกทุกข์ได้ยาก หรือสังเวยชีวิตของพวกเขา

    กว่าที่จะได้มีมาตรการจัดการที่เป็นรูปธรรม และได้นำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

    เพราะหากจะเกิดมหันตภัยใดขึ้นอีกในอนาคต ก็คงหนักหนาเกินที่ทุกคนจะอยู่รอดต่อไปได้