ฮอนดูรัส: กำจัดไข้เลือดออกด้วยยุง นวัตกรรมอันน่าทึ่งที่ป้องกันประชาชนจากโรคร้ายแรง
บริเวณที่แนะนำในการเก็บขวดบรรจุยุงที่มีเชื้อ Wolbachia (วูลบัคเคีย) คือ บริเวณที่ไม่โดนแสงแดดและห่างไกลจากเด็กและสัตว์เลี้ยง ฮอนดูรัส สิงหาคม 2566 © Martín Cálix
เตกูซิกัลปา, 25 สิงหาคม 2566 – MSF กระทรวงสาธารณสุขแห่งฮอนดูรัส โครงการยุงโลกและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งชาติฮอนดูรัสร่วมมือกับชุมชนในท้องถิ่น ใช้กลยุทธ์และนวัตกรรมสาธารณสุขในการลดการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจาก arboviruses (อาร์โบไวรัส) อาทิ ไข้เลือดออก ไข้ซิกา และไข้ชิคุนกุนยา (ไข้ปวดข้อยุงลาย)
การระบาดของไข้เลือดออกเป็นสถานการณ์วิกฤติด้านสาธารณสุขที่ฮอนดูรัสและขยายวงกว้างออกไปในภูมิภาคของทวีปอเมริกา โรคระบาดดังกล่าวคุกคามสุขภาพประชาชนทั่วโลกและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยมีรายงานถึงอุบัติการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นถึง 30 เท่าในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และคาดว่าในอีกทศวรรษหน้าประชากรอีกพันล้านคนมีโอกาสพบอาการของโรคไข้เลือดออก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากยุงที่มีเชื้อไวรัสเป็นพาหะนำโรค ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ในเมืองที่มีสภาพภูมิอากาศเขตร้อนชื้น ผู้ติดเชื้อจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และคลื่นไส้ ผู้ป่วยติดเชื้อต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
วงจรชีวิตของยุงมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน (ลูกน้ำ) ระยะดักแด้ (ตัวโม่ง) และระยะตัวเต็มวัย ซึ่งเราสามารถพบเห็นหลายร้อยตัวที่จะโตเต็มวัยภายในไม่กี่วัน ฮอนดูรัส สิงหาคม 2566 © Martín Cálix
การระบาดรุนแรงของโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในฮอนดูรัส จากรายงานพบว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกกว่า10,000 รายในแต่ละปี “เคสฉุกเฉินจากการติดเชื้อเดงกีอย่างรุนแรงสูงขึ้นทุกปีจนน่าตกใจ และปัจจุบันวิธีการป้องกันประชาชนจากโรคไข้เลือดออกยังไม่ดีเท่าที่ควร” เอ็ดการ์ด โบควิน (Edgard Boquin) เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนประจำประเทศฮอนดูรัสกล่าว
ขณะนี้ยังไม่มีวิธีโดยเฉพาะในการรักษาโรคและยังไม่มีการผลิตวัคซีนที่ดีพอเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก เทคนิคการควบคุมพาหะนำเชื้อที่ล้าสมัยทำให้ยุงมีภูมิต้านทานต่อวิธีที่ใช้ป้องกันโรคและยากำจัดศัตรูพืชที่มีในปัจจุบัน
ด้วยเป้าหมายในการหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าและยั่งยืนกว่าทำให้ MSF และพันธมิตรในฮอนดูรัสตัดสินใจร่วมกันทดลองวิธีป้องกันที่ไม่เคยใช้ในฮอนดูรัสมาก่อน โดยวิธีดังกล่าวได้รับการทดสอบประสิทธิภาพมาแล้วในประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูง อย่างการปล่อยยุงลายบ้านหรือยุงลาย Aedes aegypti (เออีดีส อียิบไต) ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia ซึ่งยุงลายพาหะเหล่านี้จะลดความสามารถของยุงในการแพร่เชื้อ arboviruses
“ยุงลายบ้านที่มีเชื้อ Wolbachia ซึ่งเป็นแบคทีเรียต่อสู้กับไวรัส เช่น ไวรัสเดงกี จะทำให้ยุงเหล่านั้นสร้างเชื้อไวรัสในตัวได้ยากขึ้น โอกาสในการระบาดและติดต่อของเชื้อโรคจึงน้อยลงเป็นอย่างมาก สำหรับพื้นที่ที่มีการปล่อยยุงที่ติดเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia จะเห็นได้ว่าอัตราเกิดไข้เลือดออกในพื้นที่ลดลง”แคลร์ ดอรีออง ที่ปรึกษาทางเทคนิค
วิธีการใช้เชื้อแบคทีเรีย Wolbachia ที่ริเริ่มจากโครงการยุงโลกมีปลอดภัยต่อคนและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การประสบความสำเร็จของการนำมาปรับใช้นั้นมากกว่า 1 ประเทศซึ่งสามารถเข้าถึงประชากรเกือบ 10 ล้านคน จากหลักฐานพบว่าการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสลดลงอย่างมากในบริเวณที่มีการรักษาระดับเชื้อ Wolbachia สูง
MSF ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดในการออกแบบ เตรียมการและดำเนินกิจกรรมทุกอย่างในเขตสาธารณสุข 50 แห่งของ El Manchén (เอลมันชิง) ที่มีอัตราของเชื้อโรคที่เกิดจากยุงสูงสุด ทีมงาน MSF ได้ปรึกษากับสมาชิกในชุมชนกว่า 10,000 คนก่อนจะเริ่มทำกิจกรรม ประชาชนร้อยละ 97 สนับสนุนแผนการณ์และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการหารือดังกล่าว นอกจากนี้หลายคนร่วมกันปล่อยยุงที่ติดเชื้อแบคทีเรียอย่างต่อเนื่อง
นักรณรงค์ด้านสาธารณสุขประจำองค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้พูดคุยกับประชากรในชุมชนต่างๆ เพื่อแจ้งว่าจะมีการปล่อยยุงที่มีเชื้อ Wolbachia ตามแผนงานในพื้นที่ Tegucigalpa (เตกูซิกัลปา) ฮอนดูรัส สิงหาคม 2566 © MSF/Maria Chavarria
เราดำเนินการปล่อยยุงที่มีแบคทีเรีย Wolbachia สัปดาห์ละครั้งเป็นระยะเวลา 6 เดือน ภายในระยะเวลาสามปี เราจะทำการทดสอบว่าประชากรยุงที่มีเชื้อ Wolbachia นับเป็นร้อยละเท่าไรของปริมาณยุงทั้งหมด
ในปี 2567 เราจะริเริ่มเสริมมาตรการต่อยุงภายในพื้นที่เมืองหลวงอีก 2 แห่งเพื่อลดการแพร่เชื้อในบ้านของผู้คน
“จุดประสงค์แรก คือการลดอัตราการเสียชีวิตและเจ็บป่วยที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี และ arboviruses อื่นๆ ในระยะยาวเราหวังว่าวิธีการใหม่นี้จะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในการป้องกันความทุกข์ทรมานที่เกิดจากการเจ็บป่วยที่มียุงเป็นพาหะ” โบควินกล่าว
“เรามีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับความท้าทายในการดำเนินการทางนโยบายด้านสาธารณสุขและมาตรการต่อยุงดีเพื่อลดการแพร่เชื้อเดงกีในฮอนดูรัส” เขาให้รายละเอียด “เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว”