เมียนมา: การทำงานเพื่อดูแลสุขภาพจิตหลังเหตุการณ์ไซโคลนโมคา
ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำชุมชนขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน จัดบริการด้านสุขภาพจิตให้กับผู้ป่วยในหมู่บ้าน คลินิกสาธารณสุข และค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่นหลายเชื้อชาติอย่างต่อเนื่อง ภาพนี้ถ่ายก่อนเกิดไซโคลนโมคาถล่ม ซึ่งเป็นพื้นที่ในรัฐยะไข่ที่มีความต้องการด้านการดูแลสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมียนมา มีนาคม 2566 © Zar Pann Phyu/MSF
“ผู้ป่วยมักบอกฉันว่าช่วงเวลาการบำบัดของเรา ทำให้พวกเขามีความหวังกับอนาคต การช่วยเหลือของเราทำให้ใจของพวกเขานิ่งมากขึ้น มองโลกแง่บวกขึ้น และพร้อมจะเผชิญปัญหาในอนาคต” นักวิชาการด้านการให้ปรึกษาทางสุขภาพจิตกล่าว
ไซโคลนโมคา ซึ่งมีความเร็วลมสูงสุดที่ 280 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถล่มพื้นที่ในรัฐยะไข่และบริเวณทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยผู้คนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวใช้ชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น โดยส่วนมากอาศัยอยู่ในกระต๊อบที่ทำจากไม้ไผ่ ผู้คนราว 6 ล้านคน ในรัฐยะไข่ที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยค่ายดังกล่าวมีผู้พลัดถิ่นหลากหลายเชื้อชาติ 26,500 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการทางจิตเป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากเพราะการประหัตประหารที่ดำเนินต่อเนื่องเป็นมาเป็นเวลาหลายปี และถูกจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว
นักวิชาการด้านการให้คำปรึกษาและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำชุมชนขององค์การฯ จัดเตรียมบริการด้านการให้คำปรึกษากับผู้ป่วยในหมู่บ้าน คลินิกสาธารณสุข และค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่นหลายเชื้อชาติอย่างต่อเนื่อง การให้บริการรวมถึงการศึกษาด้านจิตวิทยา การให้คำปรึกษาที่ช่วยเพิ่มความเข้าใจสุขภาพจิต และทักษะในการรับมือกับปัญหาสำหรับผู้ป่วย (รวมถึงผู้ดูแลของพวกเขา) ที่ประสบกับปัญหาด้านสุขภาพจิตหลากหลายประเภท การอยู่ในสถานการณ์ไร้ความหวัง นำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และความคิดหรือพฤติกรรมที่จะฆ่าตัวตาย
การตั้งพื้นที่ทำงานขององค์การฯ อยู่ในพื้นที่อยู่อาศัยของผู้ป่วยและผู้ดูแลของพวกเขา ทำให้เราสามารถเข้าถึงและสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในช่วงเวลาที่วิกฤตได้ทันท่วงที ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติหรือศาสนาบีบบังคับให้ผู้ป่วยของเราต้องอพยพ การย้ายถิ่นฐานนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศและปัญหาด้านสุขภาพจิต ความตึงเครียดก่อตัวและสะสมมากขึ้นทั่วขณะจิต ระหว่างที่การเข้าถึงทรัพยากรขั้นพื้นฐานและการดูแลด้านสาธารณสุขเป็นเรื่องยาก การทำงานพวกเราไม่ใช่เพียงแค่การช่วยรักษาอาการ แต่รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสุขภาพจิต ผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจ การส่งต่อทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเองได้ในอนาคตซาร่า เชสเตอร์ ผู้ดูแลกิจกรรมสุขภาพจิต
ในรัฐยะไข่ ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเป็นแผนกงานสำคัญสำหรับงานด้านการแพทย์ขององค์การฯ อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยเหตุการณ์ไซโคลนถล่มที่เพิ่งผ่านพ้นมา ทำให้ทีมงานของเราปรับวิธีการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบ แทนที่เราจะดำเนินงานอย่างเป็นทางการ เรามุ่งเน้นการรักษาให้เข้าถึงผู้ป่วยเป็นรายบุคคล ทีมงานกำลังสร้างความสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีพื้นที่ในการพูดคุย
ภายหลังจากไซโคลนพัดผ่านไป ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน ได้ติดตามทีมงานด้านการแพทย์ไปยังคลินิกขององค์การฯ และค่ายผู้พลัดถิ่นจากหลายเชื้อชาติในรัฐยะไข่ สนับสนุนการทำงานของประชาชนในพื้นที่ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุย ทีมงานของเราจัดให้มีช่วงเวลาปรึกษากลุ่มย่อย และเป็นกันเอง โดยมุ่งเน้นการรับฟังที่จะช่วยเหลือผู้คนในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบาก
“เรามักไปที่วัดหรือหมู่บ้านในท้องถิ่นเพื่อจับกลุ่มพูดคุย จุดประสงค์หลักคือเราต้องการให้ผู้ป่วยทราบว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เราพยายามให้กำลังใจพวกเขาว่า ความหวังและความฝันของพวกเขายังคงเป็นจริงได้อีกครั้ง” เอ องุ่น เพียวโย (Ei Ngoon Phyo) นักวิชาการด้านการให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตกล่าว
ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำชุมชนขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน จัดบริการด้านสุขภาพจิตให้กับผู้ป่วยในหมู่บ้าน คลินิกสาธารณสุข และค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่นหลายเชื้อชาติอย่างต่อเนื่อง ภาพนี้ถ่ายก่อนเกิดไซโคลนโมคาถล่ม ซึ่งเป็นพื้นที่ในรัฐยะไข่ที่มีความต้องการด้านการดูแลสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมียนมา มีนาคม 2566 © Zar Pann Phyu/MSF
เอ องุ่น เพียวโย เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยเป็นอย่างดี เพราะเธอเองก็สูญเสียครอบครัวของเธอจากไซโคลนโมคา ในเวลานั้นเธอต้องรอคอยอย่างไม่รู้จุดหมายเป็นเวลาหลายวันกว่าที่จะมั่นใจได้ว่าสมาชิกครอบครัวของเธอปลอดภัย
“ต้นมะพร้าวล้มทับบ้านของฉันพังเป็นสองส่วน บ้านถูกทำลายไม่เหลือซาก และเราพบว่ามีผู้ป่วยอีกมากที่สูญเสียบ้านและธุรกิจของพวกเขา ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิต”
“หลังจากเหตุการณ์พายุเกิดขึ้น ฉันได้พบกับผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลด้านจิตใจเบื้องต้น และฉันพยายามที่จะช่วยเหลือพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ การพูดคุยกับผู้ป่วยเป็นวิธีการเยียวยาสำหรับตัวฉันเองด้วย การกระตุ้นให้พวกเขาได้พิจารณาความรู้สึกหรือความคิดของตัวเอง มันก็สะท้อนความรู้สึกของฉันไปพร้อมกัน”
- เรื่องเล่าจาก เอ องุ่น เพียวโย
เอ องุ่น เพียวโย นักศึกษาด้านการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตในเมียนมา แบ่งปันเรื่องราว
ไซโคลนโมคาก่อตัวขึ้นช่วงกลางคืนวันที่ 13 พฤษภาคม และเข้าถล่มทางตอนเหนือของเมืองซิตตเว (Sittwe) ในบ่ายวันที่ 14 พฤษภาคม โดยมีความเร็วลมสูงถึง 175 ไมล์ต่อชั่วโมง หลังจากเกิดพายุ ฉันไม่สามารถติดต่อใครได้เลยเนื่องจากทั้งโรไฟฟ้าและศูนย์วิทยุหยุดทำงาน สองวันหลังจากไซโคลน ฉันพยายามกลับไปยังบ้านของฉันในซินตาดมอ (Sin Tat Maw) ด้วยความกังวลว่าอาจมีเรื่องร้ายเกิดขึ้นกับครอบครัว
เมื่อมาถึงซินตาดมอ ฉันแทบใจสลายที่เห็นบ้านของตัวเองถูกทำลายเป็นสองส่วน ฉันไม่รู้ว่าควรปลอบครอบครัวอย่างไร หลังจากไซโคลนผ่านไปเกิดฝนตกเล็กน้อย และน้ำเริ่มเจิ่งนอง ไม่มีที่ไหนให้พวกเราพักพิง ฉันพยายามซ่อนความเศร้าไม่ให้ครอบครัวเห็น
หลังจากไซโคลนผ่านไป หมู่บ้านของฉันพยายามเสาะหาแหล่งน้ำดื่มสะอาดทดแทน เนื่องจากแหล่งน้ำที่ใช้มาตลอดมีการปนเปื้อน ชาวบ้านจำนวนมากสูญเสียอาชีพจากการที่ต้นไม้และพืชพันธุ์ถูกทำลาย ประชาชนในพื้นที่ตกอยู่ในสภาวะที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก
ที่ซินตาดมอ เรามีผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับการรักษาและให้คำปรึกษาจากองค์การฯ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนไม่สามารถเดินทางไปยังเมืองสิตตเวได้ และคลินิกก็ยังไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ ผู้ป่วยจึงมาหาฉันในฐานะที่ปรึกษาเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ในขณะนั้น ฉันจึงตัดสินใจที่เริ่มทำงานอีกครั้ง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาจากค่ายผู้ลี้ภัยและจากหมู่บ้าน พวกเขาต่างเป็นคนที่สูญเสียบ้านพักหรือที่อยู่อาศัยจากไซโคลน ฉันฟังเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับบ้านที่ถูกทำลายและบ้านที่ไม่มีหลังคา พวกเขาบอกว่าการซ่อมแซมยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้และมีน้ำรั่วซึมผ่านหลังคาลงมาเสมอแม้ว่าจะคลุมด้วยผ้าใบกันน้ำก็ตาม จากประสบการณ์ของฉัน การดำเนินชีวิตภายใต้ข้อจำกัดเหล่านั้นคือเรื่องยากลำบากอย่างยิ่ง ผู้ป่วยในค่ายบอกฉันว่าพวกเขาเคยดิ้นรนหนีตายจากความขัดแย้งในอดีต และตอนนี้ก็ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติประจำปี ผู้ป่วยที่เคยผ่านประสบปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจ ฉันให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตเบื้องต้นให้กับกลุ่มคนที่สูญเสียทรัพย์สินทุกอย่างและไม่รู้จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร ไปพร้อมกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่รักษาด้วยการจ่ายยา พวกเขาอยู่ระหว่างการรักษาและมีแนวโน้มในทางที่ดี อยู่จนกระทั่งไซโคลนเข้าพัดถล่มจิตใจพวกเขาอีกระลอก
ระหว่างให้คำปรึกษา ฉันพบว่าคำแนะนำระหว่างการปรึกษาที่ฉันให้กับคนอื่นกำลังเยียวยาใจของฉันเช่นกัน การสร้างบรรยากาศที่ช่วยบรรเทาความหดหู่ปรับมุมมองของฉันต่อเรื่องที่เกิดขึ้น
เมื่อฉันกลับมาที่เมืองซิตตะเว องค์การฯ ได้ให้การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ แก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากไซโคลน รวมถึงการเปิดสำนักงานและบ้านพักให้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาอาบน้ำและใช้เป็นแหล่งพักพิง ชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แจกโคมไฟแบบชาร์จไฟได้ และการมอบเสื้อผ้าชุดใหม่ องค์การฯ ยังร่วมมือกับองค์กรภายนอกชื่อเมตาโนเอีย (Metanoia) เพื่อให้การสนับสนุนและให้คำปรึกษาทางจิตเวชที่จำเป็นแก่เจ้าหน้าที่ ฉันได้รับกำลังใจจากทุกคนระหว่างที่ฉันกับเพื่อนแบ่งปันความยากลำบากและประสบการณ์ที่ผ่านมา เพราะเราทุกคนต่างเผชิญสถานการณ์คล้ายกัน
หลังจากเกิดไซโคลน เราได้จัดช่วงเวลาการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มในชุมชน และให้พวกเขาแบ่งปันความยากลำบากและประสบการณ์ร่วมกันเพื่อเยียวยาสุขภาพจิตของประชาชน นอกจากนี้เรามีการเปิดช่วงรับฟังเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงคลินิก การประชุมทั้งหมดนี้ให้ประโยชน์มากมายแก่ผู้ป่วย ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้เทคนิคการดูแลตนเอง และตระหนักว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียวในสถานการณ์อันยากลำบากนี้ เราได้เห็นผู้ป่วยจำนวนมากรู้สึกดีขึ้น และอาการของพวกเขาดีขึ้นหลังจากเข้าร่วมกิจกรรม สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญ และเราหวังว่าจะเห็นกิจกรรมภายในชุมชนมากขึ้นในอนาคต
ค่ายพักพิง นัท เย ไอดีพี ในเมืองป๊าวต้อ (Pauktaw) รัฐยะไข่ เมียนมา มิถุนายน 2566 © MSF
หลังเหตุการณ์ไซโคลนโมคา องค์การเพื่อมนุษยธรรมต่างเผชิญกับอุปสรรคในการเพิ่มระดับความช่วยเหลือในการรองรับความต้องการใหม่ที่เพิ่มขึ้น เช่น เส้นทางที่จำกัดในการเข้าถึงผู้ป่วย ซึ่งลดโอกาสที่เราจะให้คำปรึกษาทางจิตเวชสำหรับผู้ที่ต้องการ
หัวหน้าหน่วยสุขภาพจิตทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ กล่าวว่า พวกเขาทราบว่าคนในพื้นที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตหลังจากเหตุไซโคลนโมคา “เราพบว่ามีผู้คนจำนวนมากในชุมชนต้องการคำปรึกษา แต่เรายังไม่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยเหล่านั้นด้วยข้อจำกัดหลายประการ”
ในหลายเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไซโคลนถล่ม เจ้าหน้าที่ขององค์การฯ ทราบว่ามีผู้สนใจรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตเป็นจำนวนมาก แต่ข้อจำกัดในการเข้าไปภายในชุมชนผู้ป่วยทำให้ผู้คนจำนวนมากพลาดโอกาสในการรักษา การที่องค์กรด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงและได้ดำเนินการการดูแลประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงเป็นโอกาสในการขยายการรักษาให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น