ในหลายประเทศที่องค์การฯ มีการปฏิบัติภารกิจ คณะการแพทย์ด้านมนุษยธรรมขององค์การฯ ก็กําลังรับมือกับสถานการณ์ที่เป็นผลโดยตรง หรือที่ถูกทำให้แย่ลง โดยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อม แต่เพียงเท่านั้นคงยังไม่พอ ทางองค์การฯ ยังได้ดำเนินการอย่างอื่นเพิ่มเติมอีก
ในคิริบาส ทุกสิ่งอย่างต้องนำเข้ามา ทว่าไม่มีที่ให้นำขยะออกไป ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งทำให้ทรัพยากรน้ำบาดาลเกิดการปนเปื้อน การจัดการของเสียเป็นงานที่ยาก เพราะผู้คนมักทิ้งขยะ ข้าวของเครื่องใช้ จนถึงรถยนต์ ไว้เรี่ยราดตามชายหาด 2565 © Joanne Lillie/MSF
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในวัฏจักรผลิตภัณฑ์
ในช่วงเวลาปลายปี 2563 หน่วยงานระดับสูงขององค์การฯ รวมถึงคณะกรรมการระหว่างประเทศ (International Board) ได้ลงนามในพันธกรณีเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม (The Environmental Pact) ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการดำเนินภารกิจด้านมนุษยธรรมขององค์การฯ ซึ่งแม้หลักการนี้จะเป็นหนึ่งในหัวใจหลัดของการทำงานของเราอยู่แล้ว แต่เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทางองค์การฯ จึงให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติให้สอดคล้องกับแนวทางนี้ เราได้ให้คำมั่นเมื่อปี 2565 ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 (โดยเทียบกับปี 2562) ในปี 2573 ในการปฏิบัติตามพันธกรณีนี้ ทางองค์การฯ จึงได้บรรจุแนวทางที่สอดคล้องกันลงในแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงาน ของหน่วยงานหลักขององค์การฯ ทุกภาคส่วน
การลดและละเว้นการปล่อยทิ้งของเสีย
องค์การฯ มีการปฏิบัติภารกิจโดยคำนึงถึงระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่มีประสิทธิภาพ และไม่เบียดเบียนสังคมแวดล้อม โดยมีความมุ่งหมายเพื่อลดการใช้ นำมาใช้ซ้ำ และนำไปแปรรูป (reduce, reuse, recycle) ซึ่งบรรดาวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยกตัวอย่าง ในประเทศยูกันดา ทางองค์การฯ มีการจัดทำโครงการเพื่อละเว้นการใช้ห่อพลาสติกบรรจุยาที่ใช้แจกจ่าย ซึ่งนับเป็นจำนวนหลายล้านใบต่อปี โดยแทนที่ด้วยห่อบรรจุที่ทำจากวัสดุในท้องถิ่น ที่ผลิตโดยชุมชนท้องถิ่นเอง และยังมีการลดการปล่อยทิ้งของเสียทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลและคลินิกขององค์การฯ รวมถึงการพิจารณาทางเลือกเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ใช้ได้ครั้งเดียวตามความเหมาะสม
พลังงานจากแสงอาทิตย์
ทางองค์การฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาด้านพลังงาน เช่น การใช้แผงโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับการปฏิบัติการแพทย์ส่วนหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวทางปฏิบัติที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถกระทำได้แม้อยู่ในท้องที่ซึ่งทรัพยากรมีอย่างจำกัดก็ตาม ในเมืองเคเนมา ประเทศเซียร์ราลีโอน (Kenema, Sierra Leone) ทางองค์การฯ ได้ใช้แผงโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานไฟฟ้าในโรงพยาบาลขนาด 182 เตียง โดยมีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอใช้งานในแผนกผู้ป่วยใน ห้องปฏิบัติการ แผนกรังสีวินิจฉัย แผนกธนาคารเลือด ห้องฉุกเฉิน และในหอผู้ป่วยหลังคลอด โดยไม่เพียงเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ได้ราวปีละ 40,000 ยูโร (ประมาณ 1.5 ล้านบาท) นอกจากนี้ ทางองค์การฯ ยังได้สนับสนุนโรงพยาบาลที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่ทุรกันดารของสาธารณรัฐคองโก