Skip to main content

    ฟิลิปปินส์: 5 ปีของการให้บริการทางการแพทย์ ท่ามกลางการปิดล้อมเมืองมาราวี

    Philippines: Five years of medical care after the Marawi siege. 2022. © MSF/Regina Layug Rosero

    Johaniya H. Daud พยาบาล NCD กับผู้ป่วยและลูก 2 คนของเขา องค์การแพทย์ไร้พรมแดนให้บริการด้านคำปรึกษาและเวชภัณฑ์โดยไม่คิดค่าบริการที่คลินิกใน Rorogagus และศูนย์พักพิงผู้พลัดถิ่นอีก 2 แห่งในเมืองมาราวี ฟิลิปปินส์ ตุลาคม 2022 © MSF/Regina Layug Rosero

    ในเดือนธันวาคม 2022 องค์การแพทย์ไร้พรมแดนตัดสินใจยุติการดำเนินโครงการของเรา และส่งมอบกิจกรรมต่างๆ ให้หน่วยงานสาธารสุขในท้องถิ่นสานต่อ หลังเสร็จสิ้นภารกิจการปฏิบัติงานทางการแพทย์ในระยะฉับพลันและหลังภาวะฉุกเฉินเป็นที่เรียบร้อย

    เมื่อกิจกรรมสิ้นสุดลง ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ขององค์การแพทย์ไร้แพรมแดนมองย้อนกลับไปถึงการดำเนินโครงการมาราวีตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา 

    ชีวิตภายใต้ความขัดแย้งหลายทศวรรษและการปิดล้อมเมืองมาราวี

    ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์เป็นที่ตั้งของเกาะมินดาเนา ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี การปะทะกันระหว่างกลุ่มติดอาวุธและกองทัพฟิลิปปินส์ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงบ่อยครั้ง จึงเป็นเหตุให้เมืองมาราวี ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัด Lanao del Sur ในเขตปกครองตนเอง Bangsamoro ของชาวมุสลิมมินดาเนา (BARMM) ต้องต่อสู้กับดัชนีชี้วัดสุขภาพและเศรษฐกิจที่อ่อนแอที่สุดในประเทศมาเป็นเวลานาน

    เมืองมาราวี จุดศูนย์กลางของการปะทะ

    Philippines: Five years of medical care after the Marawi siege. October 2022. © MSF/Regina Layug Rosero

    เมืองมาราวี ฟิลิปปินส์ ตุลาคม 2022 © MSF/Regina Layug Rosero

    Marawi City, the Philippines. October 2022. © MSF/Regina Layug Rosero

    เมืองมาราวี ฟิลิปปินส์ ตุลาคม 2022 © MSF/Regina Layug Rosero

    Philippines: Five years of medical care after the Marawi siege. July 2022. © MSF/Ely Sok

    เมืองมาราวี ฟิลิปปินส์ กรกฎาคม 2022 © MSF/Ely Sok

    ในเดือนพฤษภาคม 2017 กลุ่ม 2 กลุ่มที่เชื่อมโยงกับรัฐอิสลามได้เข้ายึดเมืองมาราวี ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งกับกองทัพฟิลิปปินส์ (AFP) การสู้รบซึ่งกินเวลานานกว่า 5 เดือน ได้ทำลายศูนย์กลางเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ ส่งผลให้ชาวเมืองมาราวีและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 350,000 รายต้องอพยพหนีออกจากบ้านอย่างไม่มีทางเลือก "ใจกลางเมืองมาราวีเป็นจุดศูนย์กลางของการปะทะ ดูไม่ต่างจากภาพของเมืองมาริอูโปลหรือโมซูลในข่าวเลย" Aurélien Sigwalt หัวหน้าภารกิจขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ในฟิลิปปินส์กล่าว

    "ฉันเริ่มรู้สึกป่วยจริงๆ หลังการปิดล้อมเมืองมาราวี เพราะปัญหาต่างๆ และความกังวลของตัวเอง เราอพยพระหว่างการปิดล้อมเมืองโดยไม่มีสิ่งของใดๆ หรือแม้กระทั่งเงิน สิ่งที่ติดตัวเราตอนนั้นมีเพียงเสื้อผ้าที่เราสวมใส่และของในกระเป๋าเสื้อ ทุกครั้งที่ฉันได้ยินเสียงรถมอเตอร์ไซค์ ฉันมักนึกว่าเป็นเสียงเฮลิคอปเตอร์ แต่กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เช้าแล้ว พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ฉันนอนไม่หลับเลย”

    - Rasmia Magompara ผู้ป่วย
    Philippines: Five years of medical care after the Marawi siege. October 2022. Copyright: MSF/Regina Layug Rosero

    Rasmia Maonara Magompara ผู้ป่วยวัย 56 ปี เล่าว่า "ก่อนการปิดล้อมเมืองมาราวี เรามีร้านอาหารและร้านล้างรถใน Banggolo Plaza ซึ่งสร้างรายได้กว่า 30,000 ถึง 40,000 เปโซต่อเดือน ทว่ากิจการเหล่านี้ถูกทำลายไปหมดแล้ว ตอนนี้ฉันจึงหาเลี้ยงชีพด้วยการทำสวนและเปิดร้านอาหารแห่งใหม่ ครอบครัวของเราต่างทำงานอย่างหนักเพื่อยังชีพ"

    Rasmia ได้รับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานจากองค์การแพทย์ไร้พรมแดน ที่คลินิก Sagonsongan เป็นประจำ เมืองมาราวี ประเทศฟิลิปปินส์ ตุลาคม 2022 © MSF/Regina Layug Rosero

    สนับสนุนผู้พลัดถิ่นจากการปิดล้อม

    ในเดือนกรกฎาคม 2017 องค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้เปิดตัวโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นจากความขัดแย้ง ด้วยการสนับสนุนน้ำดื่มสะอาด สุขอนามัย และการปฐมพยาบาลด้านจิตใจแก่ประชาชนกว่า 11,000 รายที่อาศัยอยู่ในศูนย์อพยพในเมืองมาราวีและพื้นที่โดยรอบ

    ดร. นาตาชา เรเยส ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนด้านการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้นกล่าวว่า “สิ่งที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดนจะรับประกันในขั้นต้น คือ การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดโดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ” พร้อมเสริมว่า "เราแจกจ่ายกระบอกบรรจุน้ำและยาเม็ดกรองน้ำบริสุทธิ์ ซ่อมแซมท่อและห้องสุขา ติดตั้งฝักบัว และสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้ชุมชนสามารถกักเก็บน้ำได้"

    "สิ่งที่สำคัญรองลงมา คือ การเยียวยาจิตใจ ด้วยการจัดกิจกรรมพัฒนาจิตใจและสังคมสำหรับเด็กๆ เพราะเรามีความเชื่อว่าความเครียดของผู้ปกครองสามารถส่งผลกระทบต่อพวกเขาได้เช่นกัน ทีมของเราจึงจัดกิจกรรมสันทนาการ เพื่อให้พวกเขารู้สึกเหมือนเป็นเด็กอีกครั้ง ควบคู่กับการจัดห้องให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวสำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่ต้องการ"

    จากผู้พลัดถิ่นสู่นักส่งเสริมสุขภาพ

    Amelia Pandapatan หนึ่งในผู้พลัดถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การแพทย์ไร้พรมแดนในปี 2017 เล่าว่า  “ฉันเห็นเจ้าหน้าที่ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนปฏิบัติงานที่ศูนย์พักพิง จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพจิต และแจกชุดสุขอนามัย” 

    Philippines: Five years of medical care after the Marawi siege. October 2022 © MSF/Regina Layug Rosero

    Amelia Pandapatan หนึ่งในผู้พลัดถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การแพทย์ไร้พรมแดนในปี 2017 เมืองมาราวี ฟิลิปปินส์ ตุลาคม 2022 © MSF/Regina Layug Rosero

    เมื่อเธอทราบข่าวว่า องค์การแพทย์ไร้พรมแดนกำลังเปิดรับสมัครทีมงาน เธอไม่ลังเลที่จะสมัครงานตำแหน่งผู้ส่งเสริมสุขภาพโดยทันที "ทีมแพทย์เริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกลุ่มเล็กๆ เรามีแพทย์ 1 คน เภสัชกร 1 คน พยาบาล 2 คน และนักส่งเสริมสุขภาพ 1 คน ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะสามารถดำเนินงานในแต่ละวันได้ แต่ก็จะมีข้อจำกัดในบางส่วนที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะบางครั้งฉันในฐานะนักส่งเสริมสุขภาพก็จะต้องเข้าไปช่วยในเรื่องการลงทะเบียน การตรวจสัญญาณชีพ รวมถึงเป็นล่ามระหว่างหมอกับผู้ป่วย” Pandapatan เล่าย้อนถึงอุปสรรคในปี 2017

    ครั้นพิจารณาดัชนีบ่งชี้ด้านสุขภาพที่อ่อนแอของภูมิภาคแล้ว งานของนักส่งเสริมสุขภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และนี่คือสิ่งที่ Pandapatan ภาคภูมิใจ "ในฐานะนักส่งเสริมสุขภาพ เราให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้ป่วยและชุมชน ฉันคิดว่านั่นเป็นหนึ่งในความสำเร็จของเราที่ได้เห็นผู้ป่วยมีความสามารถในการจัดการสุขภาพของตนเอง"

    ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและความต้องการด้านสาธารณสุขหลังจากสถานการณ์ความขัดแย้ง

    สถานการณ์ในมาราวีค่อยๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติ ผู้พลัดถิ่นหลายรายทยอยย้ายจากการพักอาศัยในเต๊นท์ไปยังศูนย์อพยพและที่พักพิงชั่วคราว โดยมีครอบครัวสุดท้ายที่ย้ายไปที่ศูนย์พักพิงในเดือนมกราคม 2020 ทว่าความท้าทายในการสร้างหรือซ่อมแซมบ้านเรือนขึ้นใหม่กลับกลายเป็นอุปสรรคหลักของชาวเมืองมาราวีจำนวนมาก จนเป็นเหตุให้ต้องอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงจนถึงขณะนี้ เนื่องจากข้อจำกัดทางการเงิน

    จากสถานพยาบาล 39 แห่งในมาราวีและพื้นที่ใกล้เคียง มีเพียง 15 แห่งที่สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้งในปี 2020 ขณะที่ในส่วนอื่นๆ ถูกทำลายหรือไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ได้ ซึ่งทางองค์การแพทย์ไร้พรมแดนก็ได้ให้การสนับสนุนด้านการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และคลินิกของ Marawi Rural Health Unit (RHU) และ City Health Office (CHO) รวมถึงคลินิกในศูนย์พักพิงอีก 3 แห่งภายในเมือง

    ในปี 2018 ทีมงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้เริ่มปฏิบัติงานในคลินิก ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว 3 แห่ง รวมถึงใน CHO ผ่านทางการให้คำปรึกษาและจ่ายยาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลเบื้องต้น

    Philippines: Five years of medical care after the Marawi siege. October 2022. © MSF/Regina Layug Rosero

    Sarah Ambor หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสุขภาพแจ้งผู้ป่วยว่า พวกเขาไม่สามารถเข้าไปรับบริการในคลินิกโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย และขณะที่รอรับบริการอยู่ด้านนอก เธอก็สอนเรื่องการล้างมืออย่างถูกวิธี ตุลาคม 2022 © MSF/Regina Layug Rosero

    Philippines: Five years of medical care after the Marawi siege. October 2022. © MSF/Regina Layug Rosero

    Michelle Lovely Carl หัวหน้าพยาบาล ซักประวัติผู้ป่วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคัดกรองที่สถานีอนามัยในศูนย์พักพิง Rorogagus เมืองมาราวี ฟิลิปปินส์ ตุลาคม 2022 © MSF/Regina Layug Rosero

    เมื่อความต้องการด้านการแพทย์ฉุกเฉินลดลง ปัญหาสุขภาพที่สะสมมานานก่อนการปิดล้อมก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง ตั้งแต่นั้นมาโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานก็จัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของ 10 สาเหตุการเสียชีวิตในภูมิภาค Lanao del Sur จึงเป็นสาเหตุให้องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเริ่มดำเนินโครงการที่ให้ความสำคัญกับโรคไม่ติดต่อในปี 2019

    นอกจากการให้คำปรึกษาและการจ่ายยาแล้ว เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนยังจัดการชั้นเรียน เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อและสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี “เมื่อองค์การแพทย์ไร้พรมแดนเริ่มทำงานที่คลินิกในศูนย์พักพิง Rorogagus ผมกับภรรยารู้สึกขอบคุณมาก เพราะนอกจากคลินิกจะอยู่ไม่ไกลแล้วเรายังได้รับยาฟรีอีกด้วย” Said Abdullah ผู้ป่วยวัย 76 ปีกล่าว “ผมทำตามคำแนะนำที่ได้รับ ด้วยการออกกำลังกายและหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ควรบริโภคในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และตอนนี้ผมรู้สึกดีขึ้นมาก อาการวิงเวียนศีรษะที่เคยมีทุกวันก็หายไป”

    ระหว่างปี 2018 ถึง 2022 ทีมแพทย์ไร้พรมแดนได้ให้คำปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพเบื้องต้น 30,000 ครั้งในมาราวี ซึ่งเป็นการให้คำปรึกษาด้านโรคไม่ติดต่อกว่า 10,000 แห่ง

    Philippines: Five years of medical care after the Marawi siege. October 2022. Copyright: MSF/Regina Layug Rosero

    Said Abdullah ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงวัย 76 ปี เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโรคไม่ติดต่อ (NCD) ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนที่คลินิก Rorogagus ในเมืองมาราวี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 (ภาพถ่ายเมื่อตุลาคม 2022) © MSF/Regina Layug Rosero

    ส่งมอบกิจกรรมทางการแพทย์ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

    “5 ปีหลังการปิดล้อม การให้บริการทางการแพทย์ในระยะเฉียบพลันและหลังเหตุฉุกเฉินได้ดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุดลงแล้ว หน่วยงานสาธารณสุขของมาราวีมีความสามารถในการจัดการผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ และให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่ชาวมาราวีได้ดียิ่งขึ้น” Sigwalt กล่าว โดยในช่วงก่อนปิดโครงการองค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ CHO เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพในท้องถิ่น และบริจาคยาเพื่อสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

    ผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของโครงการโรคไม่ติดต่อ (NCD) ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้ทยอยย้ายไปรับการรักษาที่ CHO ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่ง Sarah Ambor หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสุขภาพขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนอธิบายว่า "เราได้จัดการประชุมประจำเดือนกับ CHO เพื่ออัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย ยารักษาโรค และความต้องการของพวกเขา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง"

    ในปี 2021 และ 2022 องค์การแพทย์ไร้พรมแดนยังได้ดำเนินโครงการให้คำปรึกษาและฝึกฝนสำหรับเจ้าหน้าที่ RHU 67 รายในจังหวัด Lanao del Sur เพื่อถ่ายทอดทักษะทางเทคนิคและความรู้ในการจัดการโรคไม่ติดต่อ

    5 ปีหลังจากการปิดล้อม มาราวียังคงมีรอยแผลเป็นจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อาคารและสิ่งก่อสร้างจำนวนมากได้กลายเป็นซากปรักหักพังจากการเป็นจุดศูนย์กลางของการปะทะ "ที่ผมพอจะพูดได้ คือ เราหวังว่าการปิดล้อมมาราวีจะไม่เกิดขึ้นอีก และขอให้บ้านเมืองสงบสุข" Said Abdullah กล่าว

    ในปี 2023 องค์การแพทย์ไร้พรมแดนยังคงเดินหน้าปฏิบัติงานในฟิลิปปินส์ อาทิ โครงการวัณโรคในกรุงมะนิลา และในขณะเดียวกันจะประเมินความจำเป็นด้านการสนับสนุนจากองค์กรด้านการแพทย์ภายในประเทศต่อไป