มาราวี: ชีวิตที่ไม่แน่นอนของชุมชนพลัดถิ่นกับโควิด-19
ทีม MSF แจกจ่ายยารักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ชุดดูแลสุขอนามัย และใบปลิวรายละเอียดมาตรการป้องกันโควิด-19 ให้ผู้ป่วยที่เป็นคนพลัดถิ่น ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวซาโกนโซนกัน เจ้าหน้าที่ MSF พยายามปฏิบัติการเชิงรุกในบ้านของผู้ป่วยโดยมีผู้นำค่ายคอยให้ความช่วยเหลือ © Chika Suefuji/MSF
เมื่อจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2563 (2020) ฟิลิปปินส์ประกาศใช้มาตรการกักกันชุมชนอย่างรวดเร็ว พอถึงเดือนกรกฎาคม 2563 (2020) จึงไม่พบการระบาดในพื้นที่เมืองมาราวีทางตอนใต้ของประเทศอีก สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้ แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในเมือง โดยเฉพาะผู้พลัดถิ่นที่ต้องอาศัยอยู่ภายในและโดยรอบเมืองมาราวี
มาราวีเป็นเมืองเดียวในฟิลิปปินส์ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ท่ามกลางประชากรทั่วประเทศที่เป็นชาวคาทอลิกเสียส่วนมาก “ตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ชาวเมืองมาราวีปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ด้วยความหวังว่าการปิดชุมชนเพื่อกักกันโรคจะสิ้นสุดลงก่อนเทศกาลถือศีลอด” ชิกะ สุเอะฟุจิ ผู้ประสานงานโครงการขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในมาราวีกล่าว
© Veejay Villafranca
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการประกาศให้ขยายเวลากักกันโรคในชุมชนต่อไป และผู้คนไม่สามารถไปมัสยิดหรือสุเหร่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญที่สุดในช่วงเดือนรอมฎอนได้ ประชาชนบางส่วนค่อนข้างไม่พอใจที่วิถีปฏิบัติในเดือนรอมฎอนปีนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงไป หลายคนตั้งคำถามต่อการตัดสินใจดังกล่าวเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เราหารือเรื่องนี้กับผู้นำชุมชนและผู้นำทางศาสนาเพื่ออธิบายถึงการแพร่กระจายของไวรัส ซึ่งพวกเขาเข้าใจดีและประกาศขอความร่วมมือจากประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค วิธีนี้ช่วยกระจายข้อมูลที่ถูกต้องออกไปเป็นวงกว้างและทำให้ชาวเมืองจำนวนมากยอมปฏิบัติตามมาตรการ โดยรวมแล้วนับว่าผู้คนในเมืองนี้ปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อปกป้องครอบครัวและชุมชน ซึ่งช่วยให้ควบคุมการระบาดของไวรัสในชุมชนได้สำเร็จ
แม้ว่าโควิด-19 จะไม่ได้ระบาดร้ายแรงในพื้นที่นี้ แต่ก็เพิ่มภาระให้แก่ชาวเมืองมาราวี เพราะช่วงที่มีมาตรการกักกันชุมชน การไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อรับคำปรึกษาต่างๆ ต้องถูกระงับไป ปัญหาการเข้าถึงน้ำสะอาดที่ไม่เพียงพอก็ทำให้การปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อป้องกันโรคระบาดยิ่งลำบากมากขึ้นไปกว่าเดิม
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษหากติดเชื้อโควิด-19 ทีม MSF จึงเดินทางไปตรวจเยี่ยมตามบ้านเรือนเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับยาอย่างสม่ำเสมอและแจกใบปลิวเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 รวมทั้งวิธีการป้องกันตัวเองและครอบครัวจากโรคนี้ร่วมด้วย
ผู้ใหญ่บ้าน (หญิงสวมหมวก) และเจ้าหน้าที่ MSF หยุดพักระหว่างภารกิจให้ข้อมูลเคลื่อนที่ รถขององค์การฯ กระจายเสียงข้อความส่งเสริมสุขภาพไปทั่วมาราวี ข้อความบนแผ่นป้ายนี้เขียนว่า “อยู่ในบ้าน” ในภาษามาราเนา ภาษาถิ่นของชาวมาราวี © Gilbert G. Berdon
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 (2017) เมืองมาราวีถูกกลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลามเข้ายึดครอง ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์และกลุ่มดังกล่าว การเข้ายึดครองเมืองกินเวลานานถึง 5 เดือน และทำให้ประชาชนประมาณ 370,000 คน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือน กว่า 3 ปีให้หลัง หลายพื้นที่ในเมืองยังคงอยู่ในสภาพซากปรักหักพัง ชาวเมืองร่วม 70,000 คนยังต้องอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก และอีกกว่า 50,000 คน คาดว่าต้องไปอาศัยอยู่ตามบ้านเรือนของญาติมิตร ทุกคนต่างมีความทรงจำเกี่ยวกับการเข้ายึดครองเมืองที่ยังคงชัดเจน เช่นเดียวกับอาจิบา สุมาเลก วัย 34 ปี ที่จำได้ดีว่าครอบครัวของเธอต้องละทิ้งบ้านเพื่อหนีภัยการสู้รบโดยได้รับแจ้งล่วงหน้าเพียงไม่กี่วัน และกลับมาพบว่าบ้านกลายเป็นซากปรักหักพังในอีก 5 เดือนต่อมา
เมืองมาราวีซึ่งตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองบังซาโมโรมินดาเนามุสลิมทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ มีประชากรประมาณ 200,000 คน เขตดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองตนเองให้เป็นอิสระจากฟิลิปปินส์มากขึ้น และเผชิญปัญหามายาวนานทั้งด้านสาธารณสุขรวมถึงเศรษฐกิจที่เปราะบางมากที่สุดในฟิลิปปินส์ ตั้งแต่การยึดครองเมืองสิ้นสุดลงเมื่อเดือนตุลาคม 2560 (2017) เกิดการระบาดของโรคหัด ไข้เลือดออก และโปลิโอ ก่อนหน้านั้นสถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่ก็ไร้เสถียรภาพจากการปะทะกันของกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม แต่ประชาชนในพื้นที่ยังมีความหวังว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะนำมาซึ่งเสถียรภาพในระยะยาวและความมั่งคั่งของพื้นที่นี้ได้
ในช่วงแรก ผู้พลัดถิ่นต้องพักอยู่ตามเต็นท์กระทั่งศูนย์ผู้อพยพและศูนย์พักพิงชั่วคราวสร้างเสร็จ ครอบครัวสุดท้ายเพิ่งจะได้ย้ายจากเต็นท์เข้าไปยังศูนย์พักพิงเมื่อเดือนมกราคม 2563 (2020) นี้เอง
โซไบดา โคมาดุก วัย 60 ปี เล่าถึงการเสียชีวิตของสามีจากอาการหัวใจวาย ระหว่างที่เมืองกำลังถูกเข้ายึดครอง สำหรับเธอแล้วศูนย์พักพิงไม่ได้ดีไปกว่าเต็นท์สักเท่าไร “เราได้รับคำบอกเล่าว่าศูนย์พวกนี้สร้างขึ้นมาให้ใช้งานได้ 5 ปี คุณคิดว่ารัฐบาลจะสร้างสถานที่ที่ใช้งานได้นานกว่านี้ไหมล่ะ ไม่!” เธออยู่ในมาราวีมาทั้งชีวิตและอธิบายได้เป็นอย่างดีถึงความยากลำบากที่ผู้พลัดถิ่นต้องเผชิญ
น้ำขาดแคลน ที่พักชั่วคราวอยู่ไกลจากตลาด และอาหารมีราคาแพง ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ผู้คนจำต้องพึ่งพาอาหารพร้อมทาน ขณะที่แพทย์ได้แนะนำให้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อใช้เป็นเหมือนยารักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
“การทำอาหารที่มีประโยชน์เป็นเรื่องยาก เราอยู่ห่างไกลจากร้านขายผักและผลได้ หรือต่อให้ไปซื้อมาได้เราก็ไม่มีน้ำสะอาดไว้ล้างผักอยู่ดี” โซไบดากล่าว
ปัญหาการเข้าถึงน้ำสะอาดสร้างความยากลำบากให้ผู้คน ชิกะ สุเอะฟุจิ ผู้ประสานงานโครงการของ MSF ระบุว่า “สภาพความเป็นอยู่ของคนเหล่านี้น่าวิตก การใช้รถบรรทุกน้ำเข้ามาเสริมช่วยชีวิตคนได้ แต่ก็เป็นแค่มาตรการชั่วคราว ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว ฉันหวังว่าสิ่งที่ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเหล่านี้ในมาราวีและลาเนาเดลซัวร์ต้องเผชิญจะเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันและนำไปสู่อนาคตที่ดีกว่าสำหรับพวกเขา
ระหว่างการกักกันโรคในชุมชนช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม หลายครอบครัวไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้ ทำให้พวกเขาต้องเผชิญภาระหนักในการตัดสินใจว่าจะใช้เงินซื้ออาหารหล่อเลี้ยงครอบครัวหรือรักษาโรคให้สมาชิกที่ล้มป่วย
ซากปรักหักพังและโครงสร้างอาคารตั้งเด่นเป็นเครื่องรำลึกถึงการยึดครองเมืองเมื่อปี 2560 (2017) ที่นำโดยกลุ่มท้องถิ่นซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลาม ในเมืองมาราวี ลาเนาเดลซัวร์ © Veejay Villafranca
แม้กระทั่งก่อนการปิดชุมชนเพื่อกักกันโรค การเข้าถึงระบบสาธารณสุขก็เป็นไปได้ยากเพราะการเข้ายึดครองเมือง มีสถานพยาบาลเพียง 15 แห่งจากทั้งหมด 39 แห่งทั่วมาราวีและพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้นที่ใช้การได้ ส่วนที่อื่นๆ ได้รับความเสียหายหรือเปิดบริการไม่ได้ ทาง MSF ได้เข้าฟื้นฟูศูนย์สุขภาพ 4 แห่งหลังการยึดครองเมืองเพื่อช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ในมาราวี และเริ่มจัดหาน้ำสะอาดรวมทั้งให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนร่วมด้วย
ในปี 2558 (2015) ภายในเขตปกครองตนเองบังซาโมโรในมินดาเนามุสลิม อัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังคิดเป็นสัดส่วน 41.5% ของการเสียชีวิตทั้งหมด โดยมีโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานอยู่ในกลุ่ม 10 โรคที่พบมากที่สุด
ปัจจุบัน MSF สนับสนุนการทำงานของศูนย์สุขภาพ 3 แห่งในพื้นที่ โดยช่วยให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต รักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน รวมถึงจ่ายยาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จานัว มังกานาร์ หัวหน้าทีมแพทย์ MSF อธิบายไว้ดังต่อไปนี้
การควบคุมการระบาดของโควิด-19 เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวมาราวี โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในฟิลิปปินส์การเฝ้าระวังและติดตามประวัติการสัมผัสโรคโควิด-19 ทำในระดับชุมชนร่วมด้วย ซึ่ง MSF ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นได้เริ่มฝึกหัดทีมงานใน 72 เขตของเมืองมาราวีให้ทราบถึงวิธีการสำรวจและติดตามประวัติการสัมผัสโรค รวมทั้งแนวทางการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 การกักกันโรคที่บ้านและเรื่องสุขภาพจิตไปพร้อมๆ กัน
ผู้คนในมาราวีเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน การฟื้นฟูพื้นที่ใจกลางเมืองมาราวีที่เสียหายจากการเข้ายึดครองเมืองยังคงเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะจนถึงขณะนี้ยังคงมีสิ่งที่หลงเหลือมาจากสงคราม ทั้งวัตถุระเบิดที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่และยังไม่ระเบิดและปัจจัยอื่นๆ อีกมาก คนจำนวนไม่น้อยยังหวังว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกสำหรับอนาคตของพวกเขา แต่ความจริงแล้วคือเกือบ 3 ปีหลังการยึดครองเมืองยุติลง คนจำนวนมากยังคงเป็นคนพลัดถิ่น ไม่มีบ้านอยู่อาศัย ต้องพักอยู่ในสถานที่พักพิงชั่วคราว หรือบ้านของญาติ โดยไม่รู้เลยว่าสภาพความเป็นอยู่เช่นนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด
ซาราห์ โอรังกากา กล่าวว่าการยึดครองเมืองและโรคระบาดซ้ำเติมความกังวลของชาวเมืองมาราวี เธอต้องย้ายไปอยู่กับบรรดาพี่น้องอีกครั้งหนึ่งหลังจากสูญเสียร้านค้าเล็กๆในเมืองไป เธอบอกว่า
“ตอนนี้ฉันยังโอเคอยู่และเราเพิ่งจะยอมรับได้ว่าอะไรเป็นอย่างไร ซึ่งอีกไม่ช้าเราก็จะผ่านมันไปได้”