บราซิล: การป้องกันโควิด-19 ในป่าแอมะซอน เรื่องราวของความกลัวและความหวัง
นางพยาบาลนารา ดูอาร์เต (Nara Duarte) สอนวิธีการทำความสะอาดมืออย่างถูกต้องให้กับเด็กในชุมชนภายในทะเลสาบมิรินี ที่ MSF และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเทศบาลลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยม © Diego Baravelli/MSF
เรามาถึงช้าเกินไป
“เรามีทีมแพทย์รับมือโควิด-19 ในริโอเดจาเนโร (Rio de Janeiro) และเซาเปาโล (Sao Paulo) แต่ข่าวร้ายกลับเริ่มหลั่งไหลมาจากส่วนอื่นของประเทศ ตอนที่ผมเดินทางมาถึงเมืองมาเนาส์ (Manaus) คนงานสุสานกำลังเร่งขุดหลุมฝังศพกันอย่างหนัก ห้องไอซียูของโรงพยาบาลทุกแห่งเต็มไปด้วยผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิต และยังมีรายชื่อของผู้ป่วยอาการหนักอีกหลายร้อยคนที่กำลังรอให้เตียงไอซียูว่างลง สิ่งที่เกิดขึ้นเลวร้ายกว่าที่พวกเราหวาดกลัวกันก่อนหน้านี้ แต่เราก็สามารถจัดเตรียมวอร์ดไอซียูเพื่อรองรับผู้ป่วยได้อย่างค่อนข้างรวดเร็ว ในช่วงแรกมีคนไข้เข้ารักษาเต็มทั้งหมดแต่เราก็คิดว่าช่วงที่เลวร้ายที่สุดน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว”
การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ทำได้อย่างจำกัดของหน่วยงานกลางบราซิล ส่งผลให้การติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อในประเทศที่กว้างใหญ่นี้เป็นไปอย่างยากลำบาก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอุปสรรคในพื้นที่แอ่งแอมะซอน ที่มีข้อจำกัดด้านการขนส่ง ความห่างไกลของระยะทาง รวมทั้งศูนย์รวมของกลุ่มประชากรที่กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้การตรวจหาเชื้อดังกล่าวส่วนใหญ่ยังใช้ชุดทดสอบสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี ซึ่งผลลัพธ์จะระบุว่าเคยติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ แต่ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่ากำลังติดเชื้ออยู่หรือไม่ขณะที่ได้รับการตรวจ หมายความว่าข้อมูลทางระบาดวิทยาในบราซิลจึงเป็นแค่ภาพคร่าวๆ ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสามสัปดาห์ก่อนหน้า ไม่ใช่สถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน
ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม MSF ทำกิจกรรมหลายอย่างในเมืองมาเนาส์ (Manaus) ซึ่งมีประชากรกลุ่มเสี่ยงอย่างกลุ่มผู้อพยพและคนไร้บ้าน ส่วนมากพวกเขาอาศัยในศูนย์พักพิง โดยแต่ละครอบครัวอยู่กันอย่างแออัดและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรักษาระยะห่างระหว่างกัน สถานการณ์ของกลุ่มชนพื้นเมืองวาเรา (Warao) ที่เดินทางจากเวเนซุเอลามายังบราซิลยังเป็นเรื่องที่น่าวิตกเป็นพิเศษด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ทาง MSF จึงได้ตั้งศูนย์กักกันโรคขึ้นสำหรับผู้ที่มีอาการป่วยโควิด-19 ในชุมชนดังกล่าว
ชนพื้นเมืองวาเรา (Warao) ตรวจวัดความดันโลหิตในศูนย์กักกันโรคที่ดำเนินการโดย MSF ในมาเนาส์ (Manaus) ชาวพื้นเมืองวาเราส่วนมากที่อยู่ในเมืองเอกของรัฐอามาโซนัส (Amazonas) มักอาศัยในศูนย์พักพิง ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเว้นระยะห่างทางสังคม © Euzivaldo Queiroz/MSF
หน่วยดูแลผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู)
หัวใจของภารกิจในมาเนาส์ (Manaus) คือการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลสำคัญแห่งหนึ่ง ที่ชื่อว่าโรงพยาบาล 28 เด อาโกสโต (28 de Agosto Hospital) MSF เข้ารับช่วงต่อการบริหารงานในชั้น 5 ของโรงพยาบาล ซึ่งประกอบด้วยเตียงไอซียู 12 เตียง สำหรับผู้ป่วยวิกฤต และวอร์ดขนาด 36 เตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยอาการหนัก แม้ว่าแรงกดดันจากจำนวนผู้ป่วยที่ล้นมือในช่วงที่การระบาดระลอกแรกรุนแรงที่สุดจะผ่านไปแล้ว แต่วอร์ดนี้ยังคงเต็มแน่น ซึ่งประสบการณ์การรับมือเหตุฉุกเฉินของ MSF ได้ช่วยให้โรงพยาบาลทั้งจัดการรักษาคนไข้ได้ดีและมีคุณภาพมากขึ้น
พยาบาลเรเบคกา อเลเธีย (Rebecca Alethéia) กำลังอธิบายกระบวนการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลระหว่างฝึกอบรมทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลท้องถิ่นในเตเฟ่ (Tefé) © Diego Baravelli/MSF
ทีม MSF ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลท้องถิ่นเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ รวมถึงการรับมือเหตุฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 © MSF
นายแพทย์เปโดร คูรี โมยเซส (Pedro Cury Moyses) จดจำบรรยากาศที่เต็มไปด้วยแรงกดดันอย่างสูงได้ชัดเจน “พอถึงโรงพยาบาล เราก็เจอกับสถานการณ์ที่คนที่ทำงานในระบบสาธารณสุขของบราซิลคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือโครงสร้างของระบบอันเปราะบางที่ทำงานได้อย่างสุดกำลังแล้ว”
“แต่ผมก็มีความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับการส่งตัวคนไข้ไอซียูคนหนึ่งกลับบ้าน ครั้งแรกที่ผมพบเธอ เธอดูกลัวอย่างเห็นได้ชัด เพราะเธอฟื้นตัวได้ช้าและยากลำบาก เธอมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนจะติดโควิด-19 ที่ยิ่งทำให้การรักษาซับซ้อนมากขึ้น ทีมของเราเกรงว่าอาการเธอจะแย่ลง แต่สุดท้ายเมื่อเธออาการดีขึ้นจนพอที่จะออกจากโรงพยาบาลได้ เราเตรียมตัวส่งเธอออกห้องผู้ป่วย เธอนั่งอยู่บนรถเข็นและต้องประหลาดใจเมื่อเจ้าหน้าที่ไอซียูและเจ้าหน้าที่ในวอร์ดต่างยืนปรบมือให้เธอตลอดโถงทางเดิน และตรงสุดทางที่สามีของเธอรอรับอยู่ยังมีช่อดอกไม้ให้ด้วย เธอเป็นสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแทนภารกิจของเราในโรงพยาบาลแห่งนี้ที่มาเนาส์ (Manaus) การดูแลรักษาให้เธอกลับมาแข็งแรงอีกครั้งช่วยให้บรรดาแพทย์ที่นั่นมีความหวังหลังจากต้องเผชิญกับอัตราการเสียชีวิตที่สูงลิ่วมาตลอดช่วงที่เกิดโรคระบาดใหญ่นี้”
มุ่งสู่ป่าแอมะซอน
ในเมืองมาเนาส์ (Manaus) ที่แม่น้ำเนโกร (Negro) และโซลิโมยส์ (Solimões) ไหลมาบรรจบกัน เกิดเป็นลำน้ำแอมะซอนขนาดมหึมา เมื่อสถานการณ์โรคระบาดในเมืองหลักของรัฐผ่านจุดที่สาหัสที่สุดไปจนสถานการณ์เริ่มทรงตัว โรคนี้ก็ได้คืบคลานเข้าไปสู่พื้นที่ต้นน้ำและป่าฝนอย่างเงียบเชียบเป็นที่เรียบร้อย
“ในช่วงแรก นานครั้งจะมีการแจ้งเรื่องผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ห่างไกลและในชุมชนริมแม่น้ำแถบแอ่งแอมะซอน” ดูเนีย เดคิลี (Dounia Dekhili) หัวหน้าภารกิจ MSF ในบราซิลอธิบาย “หลายปีแล้วที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขและสวัสดิการในพื้นที่นี้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก ระยะทางที่ห่างไกลและการขาดแคลนตัวเลือกในการเดินทางถือเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการติดตามข้อมูลการระบาด การส่งตัวผู้ป่วยไปรักษายังที่อื่นให้ทันท่วงทีในกรณีที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรือการดูแลที่ซับซ้อนกว่าเดิม เรารู้ว่าเราต้องทำความเข้าใจสถานการณ์โรคระบาดในป่า แต่พื้นที่ป่าเองก็เปราะบางอย่างยิ่งและต้องใช้หลักการ 'ไม่ก่ออันตรายแก่ผู้ป่วย' อย่างเฉพาะตัวไม่เหมือนที่ไหน คือการรักษาโควิด-19 ต้องเข้าถึงง่ายได้ทั้งจากบริเวณริมแม่น้ำและจากชุมชนของชนพื้นเมือง ขณะที่การหลีกเลี่ยงไม่นำโรคเข้าไปยังใจกลางชุมชนเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้”
ทีมงานลงจากเรือคลินิกเพื่อไปตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนในแต่ละบ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจประจำวัน © Diego Baravelli/MSF
เมื่อเดินทางล่องขึ้นไปตามลำน้ำโซลิโมยส์ (Solimões) ประมาณ 2-3 วัน จะพบกับแม่น้ำสายย่อยอย่างเตเฟ่ (Tefé) ชื่อนี้ยังเป็นชื่อของเขตเทศบาลริมสองฝั่งแม่น้ำที่มีประชากร 60,000 คน นี่คือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดหนักที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ตายานา โอลิเวรา มิรันดา (Tayana Oliveira Miranda) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในเตเฟ่ เล่าถึงการปรากฏขึ้นของโรคระบาดนี้
“ตอนที่มีการยืนยันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วยรายแรก ทีมงานทั้งหมดต่างตื่นตัวปนไปกับความหวาดกลัว เราเริ่มให้เจ้าหน้าที่ที่สูงอายุ ตั้งครรภ์ และมีอาการป่วยเรื้อรังถอนตัวออกจากทีม จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่ยังทำงานต่อก็เริ่มงานล้นมือ ตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น แล้วเราก็มีผู้เสียชีวิตรายแรก เจ้าหน้าที่ในกะนั้นต่างหัวใจสลาย ซ้ำแล้วแรงกดดันก็เพิ่มขึ้นเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม จำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเริ่มล้มป่วย เราเปลี่ยนระบบการทำงานโดยนำวอร์ดโควิด-19 เข้ามาภายในโรงพยาบาล เพราะไม่มีที่ว่างเหลือแล้วจากจำนวนผู้ป่วยที่ล้นโรงพยาบาล ความโกลาหลเริ่มเข้ามาแทนที่ ช่วงที่สาหัสที่สุดคือวันที่มีคนไข้เข้าโรงพยาบาล 41 คน ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 6 คน และความต้องการใช้บริการหน่วยพยาบาลฉุกเฉินทางอากาศสำหรับทั้งรัฐก็สูงมาก”
“วันนั้นมีผู้เสียชีวิต 9 คน ทีมของเราเป็นทุกข์กันมาก แพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตอนนั้นร้องไห้ สมาชิกในทีมไม่กินข้าว เป็นวันที่เลวร้ายและฉันกล้าพูดว่าไม่มีใครกินอะไรหรือหลับลงได้ในคืนนั้น อย่างน้อยก็ ฉันคนหนึ่งที่กินไม่ได้นอนไม่หลับแต่วันต่อมาเราก็ต้องเดินผ่านเข้าประตูโรงพยาบาลและทำงานต่อไป เพราะเราไม่มีทางเลือกอื่น”
เมื่อ MSF เดินทางมาถึงยังเมืองนี้ จำนวนผู้ป่วยเริ่มทรงตัวอยู่ในระดับที่จัดการได้ง่ายขึ้นแล้ว ทีมงานของโรงพยาบาลระบุชัดเจนว่าพวกเขาต้องการฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือสถานการณ์ใดก็ตามที่จะทำให้มีผู้ป่วยทะลักเข้าโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก บุคลากรทางการแพทย์และผู้ช่วยแพทย์รวมมากกว่า 200 คน เข้าร่วมการอบรมของ MSF ที่โรงพยาบาลนี้ในเตเฟ่ (Tefé)
คลินิกบนเรือ
เตเฟ่มีเรือพยาบาลหลักอยู่ลำหนึ่งที่ให้บริการทางการแพทย์ถึงตามชุมชนซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ การเดินทางไปกลับนานสองสัปดาห์จะมีการจอดแวะเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามริมน้ำหลายครั้ง โนวา เซียว (Nova Sião) เป็นหนึ่งในหมู่บ้านลำดับท้ายที่ได้รับบริการก่อนจะกลับถึงเตเฟ่ ซึ่งหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบมิรินี (Mirini) ที่นี่บุคลากรทางการแพทย์จะลงเรือลำเล็กเพื่อแวะไปตามบ้านแต่ละหลังและให้คำปรึกษาทางการแพทย์
“เรารู้ว่าเรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนที่มีความเปราะบาง” นารา ดูอาร์เต (Nara Duarte) พยาบาลของ MSF อธิบาย “ดังนั้นจึงสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกับบุคลากรการแพทย์ติดเชื้อระหว่างการให้คำปรึกษา เราขอเข้าไปช่วยควบคุมการติดเชื้อในเรือคลินิกลำแรกหลังจากการปิดเมือง เพราะเรารู้สึกว่านี่คือส่วนสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงการแพร่กระจายโรคเข้าไปยังชุมชนที่เปราะบางที่สุด”
ทีมควบคุมการติดเชื้อของ MSF ใช้เวลาที่อยู่บนเรือสร้างช่องทางเดินให้ผู้คนลงเรือ การเดินสวนภายในเรือ และการขึ้นเรือ เพื่อเป็นมาตรการในการควบคุมโรคระหว่างลงพื้นที่ไปให้คำปรึกษา ส่วนในช่วงเย็นหลังเสร็จภารกิจแล้ว ทีมงานจะฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เรือคลินิกกับลูกเรือในเรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินด้านระบบทางเดินหายใจด้วย
โจนาลิตอน เด เฟรอิตัส ดา ซิลวา (Jhonaliton de Freitas da Silva) พยาบาลบนเรือคลินิกบอกว่า “การฝึกอบรมเหล่านี้ดีมาก เพราะ MSF ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของเราและเราก็กำลังพยายามปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้น ฉันได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับการสื่อสารและการรับฟังผู้ป่วยให้ได้เป็นอย่างดี บางครั้งเราตั้งคำถามถึงเหตุผลที่พวกเขามาเข้ารับคำปรึกษา แต่ไม่ได้พยายามเสาะหาว่ามีปัญหาอื่นอีกหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ฉันรู้แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง”
คนท้องถิ่นเดินทางมาถึงยังคลินิกบนเรือแม่เพื่อเข้ารับการรักษา ทีมของ MSF เดินทางออกจากเตเฟ่ (Tefé) และอยู่บนเรือลำดังกล่าวระหว่างที่รัฐผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองหลังจากช่วงที่การระบาดรุนแรงที่สุดผ่านพ้นไป © Diego Baravelli/MSF
การให้คำปรึกษาในคลินิกบนเรือที่ต้นน้ำเหนือเมืองเตเฟ่ (Tefé) ในแอมะซอน ©Diego Baravelli/MSF
ปรับตัวเข้ากับความต้องการของชุมชน
กว่า 400 กิโลเมตรไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณที่ปกคลุมไปด้วยน้ำสีเข้มจากแม่น้ำเนโกร (Negro) คือเขตเทศบาลเซากาเบรียลดากาโชเอรา (São Gabriel da Cachoeira) ซึ่ง MSF ตั้งศูนย์ขึ้นที่นี่เพื่อรักษาคนไข้โควิด-19 ที่มีอาการป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง สถานที่ให้บริการมีการปรับเปลี่ยนให้มีรูปแบบเฉพาะเพื่อความสอดคล้องกับประเพณีท้องถิ่น ซึ่งประชากรมากกว่า 90% ของพื้นที่นี้สืบเชื้อสายมาจากชนพื้นเมือง
ยกตัวอย่างเช่นผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองสามารถเข้ารับการรักษาภายในศูนย์พร้อมผู้ดูแลได้อีกหนึ่งคน ซึ่งปกติตามโรงพยาบาลจะไม่อนุญาต โดยมีการจัดเปลญวนให้ผู้ป่วยและญาติ นอกจากนี้ ยาพื้นเมืองที่ใช้กันแพร่หลายในพื้นที่ยังได้รับอนุญาตให้ใช้ในศูนย์ควบคู่ในกับการรักษาของ MSF ได้ด้วยหากไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง บรรดาหมอผีและผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนคนพื้นเมืองสามารถเข้าเยี่ยมและประกอบพิธีกรรมได้ โดยมีข้อบังคับเพียงอย่างเดียวคือพวกเขาต้องสวมอุปกรณ์ส่วนบุคคลป้องกันการติดเชื้อด้วย เพื่อเลี่ยงการติดเชื้อระหว่างสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
บุคลากรทางการแพทย์สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลก่อนเข้าเขตควบคุมในศูนย์ดูแลของ MSF สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางในเซากาเบรียลดากาโชเอรา (São Gabriel da Cachoeira) © Diego Baravelli/MSF
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญคือ การประชาสัมพันธ์ให้คนท้องถิ่นทราบว่าจะต้องไปขอความช่วยเหลือจากที่ไหนจึงจะตรงกับความต้องการ MSF พูดคุยกับผู้นำและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับชุมชนคนพื้นเมือง และเพื่อตอบคำถามจากคนในชุมชนเหล่านั้น เจ้าหน้าที่ MSF ยังไปร่วมรายการวิทยุที่ออกอากาศตามหมู่บ้านชนพื้นเมืองอีกด้วย
ในช่วงสองสัปดาห์แรก ศูนย์ดังกล่าวรับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 10 คน ทุกคนหายดีและได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ อันโตนิโอ คาสโตร (Antonio Castro) วัย 99 ปี เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น หลังจากมีอาการหายใจลำบากจนต้องสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งทีมงานของ MSF ได้ตามดูอาการและนำตัวเข้ารักษาที่ศูนย์ ก่อนจะสามารถกลับบ้านได้ในอีกไม่กี่วันถัดมา
ทีมงาน MSF ช่วยเหลืออันโตนิโอ คาสโตร (Antonio Castro) ผู้ป่วยวัย 99 ปี ที่ศูนย์ดูแลในเซากาเบรียลดากาโชเอรา (São Gabriel da Cachoeira) เขาอยู่ในความดูแลของ MSF ราว 2-3 วัน เพื่อสังเกตอาการหายใจลำบาก © Diego Baravelli/MSF
อนาคตที่ไม่แน่นอน
คำตอบที่ยังไม่มีใครบอกได้จากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ คือข้อสงสัยว่าหนทางข้างหน้าที่จะนำไปสู่จุดสิ้นสุดของโรคระบาดนี้จะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือมาตรการป้องกัน ทั้งการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากและรักษาสุขอนามัยของมือนั้นสำคัญมาก
“เราได้ยินมาว่าการระบาดของโรคนี้ในรัฐอามาโซนัส (Amazonas) จบลงแล้ว ตอนนี้ก็เพียงแค่รอว่าเมื่อไรจะเกิด ‘ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity)' โฟลเรส (Flores) ผู้ประสานงานทางการแพทย์กล่าว “ความคิดนี้ (การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่) เหลวไหลมาก เพราะเป็นการมองข้ามไปว่ายิ่งคนติดเชื้อมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งมีคนเสียชีวิตมากขึ้นเท่านั้น เราได้เห็นระบบสาธารณสุขที่ล้มเหลวและความสูญเสียที่ประชาชนต้องประสบจากการรับมือกับโรคได้อย่างล้าช้าจนไม่สามารถควบคุมการระบาดได้มาแล้ว”
จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรัฐอามาโซนัสลดลง แต่ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่แถบด้านในของประเทศ สิ่งที่เรากลัวกันก็คือโรคนี้จะแผ่ระบาดต่อไปอย่างเชื่องช้า จนสามารถเข้าไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลยิ่งกว่าเดิมซึ่งจะนั่นหมายความว่าการเข้าถึงระบบสาธารณสุขก็จะยากยิ่งกว่าเดิมเช่นกัน
วิลมาร์ ดา ซิลวา มาทอส (Vilmar da Silva Matos) เป็นหัวหน้าชนเผ่ายาโนมามิ (Yanomami) ซึ่งเดินทางจากชุมชนที่อยู่ในมาตูราจา (Maturacá) ไปยังเมืองเซากาเบรียลดากาโชเอรา (São Gabriel da Cachoeira) อยู่เป็นประจำ เขาเล่าถึงความกลัวหลังจากได้ฟังข่าวว่าโรคนี้กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ผู้คนของเขามากขึ้น และยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับผู้สูงอายุ “เราคิดว่าเราแพ้แล้ว พวกเราวิตกกันเป็นพิเศษเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เรากลัวจะเสียบรรดาผู้นำซึ่งเป็นเสมือนทั้งพจนานุกรมและผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเราไป” เขาเล่าขณะอยู่ในที่พักชั่วคราวซึ่งชนเผ่ายาโนมามิ (Yanomami) จะแวะมาพักระหว่างที่เข้ามาในเมือง
การป้องกันโควิด-19 ไม่ให้ระบาดไปทั่วป่าแอมะซอนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยรักษาชีวิตคนและเกียรติยศศักดิ์ศรีซึ่งถ่ายถอดจากรุ่นสู่รุ่นและฝังรากลึกอยู่ในองค์ความรู้อันประเมินค่าไม่ได้และไม่มีอะไรจะมาทดแทนได้เหล่านี้
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำเทศบาลพูดคุยกับครอบครัวระหว่างการเยี่ยมบ้านในแถบทะเลสาบมิรินี (Mirini) ©Diego Baravelli/MSF
MSF ในบราซิล
ในบราซิล นอกเหนือจากภารกิจในรัฐอามาโซนัส (Amazonas) MSF ยังช่วยเหลือวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ในรัฐโรไรมา (Roraima) บริหารหน่วยไอซียูและพัฒนาการขยายกิจกรรมเข้าไปถึงยังชุมชนยากจนในแถบชานเมืองทางตะวันออกของเซาเปาโล (Sao Paulo) และตั้งทีมเฉพาะกิจสำหรับระบุตำแหน่งพื้นที่เสี่ยงที่พบสถิติการแพร่ระบาดสูงในพื้นที่อื่นของประเทศ ซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ โดย MSF ได้ส่งต่อกิจกรรมก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ให้แก่องค์กรที่เกี่ยวข้องในริโอเดจาเนโร (Rio de Janeiro) และเซาเปาโล (Sao Paulo)