มีรายงานการค้นพบไวรัสตับอักเสบครั้งแรกตั้งแต่ 400 ปีก่อนคริสตกาล แต่เพิ่งมีการอธิบายถึงรายละเอียดเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 โดยในช่วงทศวรรษที่ 1970 ได้มีการตั้งชื่อเชื้อไวรัสตับอักเสบเอและบีอย่างเป็นทางการ ก่อนที่หลายปีต่อมานักวิทยาศาสตร์จะเริ่มสังเกตว่าผู้ป่วยบางคนติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดใหม่หลังจากการถ่ายเลือด การติดเชื้อชนิดใหม่นี้ได้รับการระบุชื่อในเดือนเมษายน 2532 โดยใช้ชื่อว่า ไวรัสตับอักเสบซี หรือ HCV
ในปี 2562 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังประมาณ 58 ล้านคน ในจำนวนนี้ 72% อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง (LMIC)
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนรับมือกับโรคอย่างไร?
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีในหลายประเทศ และมีโครงการสำหรับรับมือไวรัสตับอักเสบซีโดยเฉพาะในอิหร่าน เมียนมา ยูเครน ปากีสถาน อินเดียและกัมพูชา
ในปี 2562 องค์การแพทย์ไร้พรมแดนรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีทั่วโลกประมาณ 10,000 คน
กัมพูชา
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนจับมือกับกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาเพื่อขยายการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลพระกุสุมะในกรุงพนมเปญ รวมทั้งยังวิจัยและนำวิธีการวินิจฉัยโรคและรักษาไวรัสตับอักเสบซีแบบใหม่เข้ามาในกัมพูชา อันดับแรกผู้ป่วยทุกคนจะต้องได้รับการรักษาเหมือนกันไม่ว่าจะป่วยด้วยไวรัสชนิดใดหรือเป็นโรคตับระยะไหน ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะไม่ต้องเข้ารับการตรวจวิเคราะห์ก่อนการรักษาเหมือนกับวิธีการรักษาแบบเดิม ประการต่อมา การทดสอบและสังเกตอาการก่อนและระหว่างการรักษาไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะการใช้ยากลุ่ม DAA ปลอดภัยอย่างยิ่ง โดยรวมแล้วผู้ป่วยจะต้องพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาเพียง 5 ครั้ง จากเดิมต้องพบแพทย์ถึง 16 ครั้ง ทำให้การติดตามรักษาโรคจนครบตามกำหนดง่ายและประหยัดขึ้น ซึ่งตั้งแต่ปี 2559 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยวิธีใหม่นี้แล้วมากกว่า 13,000 คน
ในช่วงทศวรรษที่ 1990-2010 การรักษาโรคตับอักเสบใช้เวลาตั้งแต่ 6-12 เดือน ยิ่งไปกว่านั้นการรักษาไม่ได้ง่ายสำหรับผู้ป่วยเพราะมีผลข้างเคียงหลายอย่าง ผู้ป่วยต้องเข้ารับการสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ซ้ำร้ายการรักษาด้วยวิธีเดิมนี้ไม่ได้ผลเท่าไรนักเพราะไวรัสจะถูกกำจัดไปได้เพียงประมาณ 50% ของจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาทั้งหมดเท่านั้น
การรักษาได้รับการพัฒนาให้สะดวกมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา องค์กรจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases Initiative - DNDi) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยไม่แสวงหาผลกำไรที่ MSF ร่วมก่อตั้ง ได้พัฒนาการรักษาชนิดใหม่เพื่อผู้ป่วยที่ถูกละเลย องค์กรนี้ทำหน้านี้จัดหาการรักษาที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้ยาที่ดีที่สุด แต่ใช้ต้นทุนเพียงแค่เสี้ยวเดียวของยานั้น การรักษาแบบใหม่หรือการใช้ยาต้านไวรัสกลุ่มที่ออกฤทธิ์โดยตรง (DAA) เริ่มถูกนำมาใช้เมื่อปลายปี 2556โดย DNDi ทำการทดสอบทางคลินิกหลายชิ้นที่เกี่ยวกับยาราวิดาสเวียร์ (RDV) และโซฟอสบูเวียร์ (SOF) ในมาเลเซียเมื่อปี 2559 โดยการสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย และในประเทศไทยเมื่อปี 2560 โดยความร่วมมือกับรัฐบาลไทย
ผลการทดสอบเบื้องต้นเมื่อต้นปี 2561 พบว่า หลังการรักษาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ 12 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา 97% หายขาด ซึ่งหมายถึงการตรวจไม่พบไวรัสตับอักเสบซีในกระแสเลือดนาน 3 เดือนหลังได้รับการรักษาจนเสร็จสิ้น ผลการทดสอบชี้ให้เห็นว่าสูตรยาผสมราวิดาสเวียร์และโซฟอสบูเวียร์เทียบได้กับการรักษาไวรัสตับอักเสบซีที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในตอนนี้ และยังสะท้อนว่าสูตรการรักษาดังกล่าวอาจเป็นวิธีการรักษาไวรัสตับอักเสบซีสายพันธุ์ต่างๆ ได้อย่างง่ายดายและราคาย่อมเยาที่สุด
ในเดือนมิถุนายน 2564 มาเลเซียรับรองการใช้ยาราวิดา (Ravida®) ซึ่งระบุให้ใช้ร่วมกับยาอื่นๆ เพื่อรักษาไวรัสตับอักเสบซีในผู้ใหญ่ นี่เป็นผลจากการประสานงานกันนานหลายปีขององค์กร DNDi กับรัฐบาลมาเลเซียเพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงยาและทำให้ยาราคาย่อมเยาลงสำหรับผู้ป่วยในมาเลเซีย
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา องค์การแพทย์ไร้พรมแดนผลักดันการปรับลดราคายากลุ่ม DAA และทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยานี้มากที่สุดเข้าถึงตัวยาได้ผ่านทางโครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ (Access Campaign) และองค์กร DNDi ในปี 2561 ผู้ป่วยประมาณ 3 ล้านคน จากผู้ที่ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบซี 71 ล้านคนทั่วโลกได้รับการรักษาด้วยการใช้ยากลุ่ม DAA
ยากลุ่ม DAA ถือความก้าวหน้าทางการรักษาไวรัสตับอักเสบซีครั้งใหญ่สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ชีวิตกับโรคนี้ แต่อย่างไรก็ตามการเข้าถึงตัวยายังจำกัดเพราะบริษัทยาทั้งหลายยังตั้งราคาสูงลิ่ว ในบางประเทศบริษัทยาเหล่านี้ยังขัดขวางการนำเข้ายาสามัญอื่นๆ ที่มีสิทธิบัตรและราคาย่อมเยากว่าด้วย ปัญหานี้ทำให้หลายประเทศต้องเลือกรักษาเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยขั้นร้ายแรงที่สุด
แม้ว่าต้นทุนการผลิตยาโซฟอสบูเวียร์และดาคลาทาสเวียร์สำหรับใช้งานเป็นเวลา 12 สัปดาห์จะต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ผู้ผลิตอย่างกิลิแอด (Gilead) และบริสทอล-เมเยอร์ส สควิบบ์ (Bristol-Meyers Squibb) กลับตั้งราคายาเหล่านี้สูงถึง 147,000 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อเปิดตัวในสหรัฐฯ ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจเป็นวงกว้าง เพราะราคาที่สูงเกินไปยังคงเป็นอุปสรรคขวางกั้นการรักษาทั้งในประเทศที่มีรายได้สูงและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
นับตั้งแต่เริ่มมีการเปิดตัวยากลุ่ม DAA ทีมงาน องค์การแพทย์ไร้พรมแดนพยายามอย่างหนักเพื่อลดช่องว่างทางการรักษาด้วยการขยายการเข้าถึงกลุ่มตัวยาสามัญที่ราคาย่อมเยากว่าและมีการรับรองคุณภาพ จนประสบความสำเร็จครั้งสำคัญในปี 2560 เมื่อศูนย์จัดหาและโครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนเจรจากับผู้ผลิตยาสามัญเพื่อจัดซื้อยากลุ่ม DAA ได้ในราคาเพียง 120 ดอลลาร์ต่อการรักษาสำหรับโครงการเกือบทั้งหมดขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน เปิดทางให้ทีมงานเริ่มรักษาคนได้เป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น
เรื่องราวของผู้เข้ารับการรักษา
ดิน สาวร เจ้าหน้าที่ตำรวจวัย 50 ปี อยู่ในอาการสิ้นหวังหลังจากทราบว่ามียาชนิดใหม่ที่ช่วยรักษาไวรัสตับอักเสบซีที่เขาป่วยอยู่ได้ แต่ยานี้แพงเกินกว่าที่เขาจะซื้อไหว เขาเป็นพ่อลูก 3 ที่อาศัยอยู่ในกรุงพนมเปญของกัมพูชา
“ผมอยากรักษา แต่ผมไม่มีเงิน” เขากล่าว “ผมคงต้องขายบ้าน แล้วลูกๆ ก็จะไม่มีที่อยู่ ผมจึงทำได้แค่รอ”
ดิน สาวร อุ้มลูกชายของเขาไปส่งที่สถานอนุบาลในกรุงพนมเปญ กัมพูชา เมษายน 2560 © Todd Brown
รูปถ่ายภายจากอพาร์ตเมนต์ของดิน สาวรกับลูกของเขา ในกรุงพนมเปญ กัมพูชา เมษายน 2560 © Todd Brown
ดิน สาวรไ้ด้รับข่าวดีจากแพทย์ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ที่แจ้งว่าผลการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีของเขาสำเร็จไปด้วยดี ภายในคลินิกโรคไวรัสตับอักเสบซีขององค์การฯ ในโรงพยาบาลพระโฆษามาก (Preah Kossamak) ในกรุงพนมเปญ กัมพูชา เมษายน 2560 © Todd Brown
จากนั้นเขาไปเจอข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ว่าองค์การแพทย์ไร้พรมแดนให้บริการรักษาโรคนี้ฟรี ช่วงต้นปี 2560 ดินจึงเริ่มไปรักษาที่คลินิกขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในกรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลแห่งเดียวในกัมพูชาที่ให้การรักษาไวรัสตับอักเสบซี ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2560 เขาได้รับทราบข่าวที่รอฟังมานานถึงเกือบ 20 ปีว่าการรักษาประสบผลสำเร็จ เขาหายจากโรคนี้แล้ว
ยาชนิดใหม่สามารถรักษาไวรัสตับอักเสบซีได้ภายในเวลาเพียง 12 สัปดาห์ และช่วยพลิกชีวิตคนได้ แต่คนหลายล้านคนยังไม่มีโอกาสนี้และไม่สามารถเข้าถึงยาที่สามารถรักษาชีวิตของพวกเขาได้
- ไวรัสตับอักเสบซีคืออะไร?
-
โรคตับอักเสบคืออาการที่ตับเกิดการอักเสบขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากไวรัส 5 ชนิดต่อไปนี้ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี ในบรรดาไวรัสเหล่านี้ ไวรัสตับอักเสบซีถือเป็นชนิดหนึ่งที่ร้ายแรงที่สุดและรักษายากที่สุด ไวรัสตับอักเสบซีมีทั้งหมด 8 รูปแบบพันธุกรรมหรือ 8 สายพันธุ์ และ 86 ชนิดย่อย ในจำนวนนี้มี 19 ชนิดย่อยที่เพิ่งพบใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งจำนวนสายพันธุ์และชนิดย่อยของไวรัสตับอักเสบซี ประกอบกับธรรมชาติของไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอที่มีกรดไรโบนิวคลีอิก (RNA) เป็นสารพันธุกรรมซึ่งสามารถกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วทำให้ไวรัสตับอักเสบซีรักษาได้ยากมาก
ไวรัสตับอักเสบซีจัดเป็น “เพชฌฆาตเงียบ” เพราะผู้คนมักไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อและไม่ได้รับการรักษานานหลายปี ผู้ป่วยไม่มีอาการของโรคจึงมักไม่ได้พยายามหาหนทางรักษา
- ไวรัสตับอักเสบซีคล้ายกับเอชไอวีหรือไม่?
-
ทั้งไวรัสตับอักเสบซีและเอชไอวีล้วนเป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA) ซึ่งจะเข้าไปเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมของไวรัสในไซโทพลาซึมหรือของเหลวภายในเซลล์ที่อยู่รอบนิวเคลียส แม้ว่าไวรัสตับอักเสบซีจะเป็นฟลาวิไวรัสและเอชไอวีเป็นเรโทรไวรัส แต่ไวรัสทั้งสองตัวนี้กลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้พัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันได้ยาก
ผู้ป่วยสามารถติดเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันได้ เรียกว่ามีการติดเชื้อร่วม องค์การอนามัยโลกประเมินว่าไวรัสตับอักเสบซีส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเอชไอวีประมาณ 2-15% ทั่วโลก และในจำนวนนี้มากถึง 90% เป็นกลุ่มผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีด (PWID) ทั่วโลกต้องแบกรับภาระผู้ติดเชื้อร่วมไวรัสตับอักเสบซีและเอชไอวี 2.75 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1.3 ล้านคนเป็นกลุ่มผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีด ซึ่งการติดเชื้อร่วมในลักษณะนี้พบได้มากที่สุดในแถบแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ไวรัสตับอักเสบซีแพร่กระจายได้อย่างไร?
-
ไวรัสตับอักเสบซีเป็นเชื้อที่อยู่ในเลือด แพร่ระบาดเข้าสู่ร่างกายผ่านทางกระแสเลือด โดยการถ่ายเลือดหรือการฉีดยาอย่างไม่ปลอดภัย ไวรัสนี้ยังอาจแพร่กระจายได้ในสภาวะทางสาธารณสุขที่ไม่ปลอดภัย ทั้งการให้เลือดหรือเกล็ดเลือดโดยที่ไม่มีการตรวจคัดกรองก่อน และกิจกรรมทางเพศต่างๆ ที่ทำให้สัมผัสถูกเลือด
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าไวรัสตับอักเสบซียังอาจถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์ได้ด้วย แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะระบุว่าการแพร่ระบาดของไวรัสด้วยวิธีนี้อาจพบได้ไม่บ่อยนักก็ตาม
- ไวรัสตับอักเสบซีคร่าชีวิตคุณได้หรือไม่?
-
ไวรัสตับอักเสบซีเป็นโรคตับอักเสบชนิดที่ร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่ง องค์การอนามัยโลกประเมินว่าในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสตับอักเสบซีร่วม 400,000 คน โดยส่วนมากเกิดจากภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคตับแข็งหรือโรคมะเร็งตับ จากสถิติในจำนวนผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีทุก 100 คน จะมีผู้ป่วยประมาณ 5-25 คนที่จะพัฒนาไปเป็นโรคตับแข็งภายในเวลา 10-20 ปี
ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีจะมีโอกาสเกิดโรคตับแข็งมากขึ้น หากเป็นเพศชาย อายุเกิน 50 ปี บริโภคแอลกอฮอล์ หรือเป็นโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์หรือติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือเอชไอวีร่วมด้วย
แต่ไวรัสตับอักเสบซีเป็นโรคที่รักษาให้หายได้
- ไวรัสตับอักเสบซีส่งผลอย่างไรต่อร่างกายของเรา?
-
เมื่ออยู่ในร่างกายไวรัสตับอักเสบซีจะเข้าไปภายในพูของตับ ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นที่ทำให้ตับทำงานได้ตามปกติ โดยไวรัสตับอักเสบซีสามารถเจาะทะลุเซลล์เพื่อดำรงชีวิตและเพิ่มจำนวนได้ไม่ต่างจากไวรัสชนิดอื่นๆ
เมื่อร่างกายรับรู้ว่าถูกคุกคามจะส่งเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นด่านหน้าไปจัดการกับเชื้อโรค แต่การกำจัดไวรัสก็ทำลายเซลล์ของตับที่ไวรัสเข้าไปอาศัยอยู่ด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าผู้ติดเชื้อประมาณ 30% มีโอกาสจะกำจัดไวรัสนี้ออกไปจากร่างกายได้ภายในเวลา 6 เดือนโดยไม่ต้องได้รับการรักษา
แต่โดยมากเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ การติดเชื้อจะกลายเป็นอาการป่วยเรื้อรังหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว เนื่องจากไวรัสจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องและแพร่ไปติดตามพูต่างๆ ในตับซึ่งจะถูกทำลายลงโดยเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกาย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะนำไปสู่การเกิดภาวะพังผืดหรือเป็นแผลในตับ ตับจะหดเล็กลงและแข็งตัว หลอดเลือดภายในจะถูกบีบจนทำให้เลือดไม่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยง
ภาวะที่ตับเป็นพังพืดอาจจะนำไปสู่ภาวะตับแข็ง ซึ่งร้ายแรงกว่าและอาจทำให้เกิดความเสียหายชนิดที่แก้ไขไม่ได้ โรคตับแข็งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งตับ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกระยะของการเป็นโรคตับ
- ใครคือกลุ่มเสี่ยงต่อไวรัสตับอักเสบซีมากที่สุด?
-
ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมากที่สุดคือกลุ่มผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีด กลุ่มผู้ที่อยู่ในเรือนจำหรือภาวะปิดที่สุขอนามัยต่ำ และกลุ่มคนที่ได้รับส่วนประกอบของโลหิตซึ่งติดเชื้อหรือผ่านการทำหัตถการที่มีการใช้อุปกรณ์แทงเข้าไปในร่างกายซึ่งไม่มีการควบคุมการติดเชื้อที่ดีเพียงพอ
บุคคลที่มีความเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าปกติคือเด็กที่เกิดกับแม่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ผู้ที่มีกิจกรรมทางเพศกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีหรือเอชไอวี และผู้ที่สักลายหรือเจาะตามร่างกาย
บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด้านความปลอดภัยสาธารณะอาจสัมผัสกับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ หากได้รับบาดเจ็บจากของมีคม เช่น เข็มฉีดยาหรือมีดผ่าตัดที่ใช้กับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี
- ควรไปพบแพทย์หรือรับการรักษาเมื่อใด?
-
ควรปรึกษาแพทย์หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ร่วมกัน ได้แก่ เป็นไข้ อ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร ผิวหนังและดวงตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม คลื่นไส้และอาเจียน หากคุณเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงสูงที่อาจติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ควรพิจารณาเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีส่วนมากมักไม่แสดงอาการนานนับสิบปีหลังได้รับเชื้อ
- ไวรัสตับอักเสบซีจะถูกกำจัดให้หมดไปจากโลกได้หรือไม่?
-
ไวรัสตับอักเสบซีเป็นโรคที่รักษาได้ แต่ยังมีคนอีกหลายล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้เนื่องจากค่ารักษาที่แพง การจะกำจัดโรคนี้ให้หมดไปได้จะต้องเปลี่ยนแปลงการวินิจฉัยและการรักษาโรคให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การทดสอบเพื่อวินิจฉัยโรคที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือการทดสอบทางวิทยาเซรุ่มผ่านทางน้ำเหลืองหรือทดสอบกรดนิวคลีอิก ซึ่งทั้งซับซ้อนและ/หรือราคาสูงเกินไปสำหรับกลุ่มประเทศที่มีงบประมาณจำกัด มีระบบสาธารณสุขที่ไม่เข้มแข็งนัก หรือมีทั้ง 2 ปัจจัยประกอบกัน จึงจำเป็นต้องมีวิธีการตรวจหาเชื้อที่ราคาย่อมเยากว่านี้
เป็นเรื่องน่ายินดีที่องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่าบรรดาผู้นำทั่วโลกตั้งมั่นจะร่วมกันกำจัดไวรัสตับอักเสบซีซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักทางสาธารณสุขให้ได้ โดยตั้งเป้าจะรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีทั่วโลกให้ได้ 80% ภายในปี 2573
- เราจะป้องกันหรือรักษาไวรัสตับอักเสบซีได้อย่างไร?
-
การถ่ายเลือดหรือการผ่าตัดอื่นๆ จะต้องเลือกทำที่สถานพยาบาลซึ่งมีมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้ออย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับการจัดการและกำจัดหลอดฉีดยารวมถึงขยะทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน
นอกจากนี้ยังควรสวมถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้งเพื่อป้องกันการสัมผัสกับเลือดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
ปัจจุบัน องค์การแพทย์ไร้พรมแดนผลักดันการใช้ยาต้านไวรัสกลุ่มที่ออกฤทธิ์โดยตรง (DAA) ในการรักษาไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งยานี้ยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย การประเมินสถานการณ์ในปี 2562 พบว่ามีผู้ป่วยเพียง 9.4 ล้านคนทั่วโลกที่ได้รับการรักษาด้วยสูตรยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ทำให้ยังมีผู้คนอีก 48.6 ล้านคนที่ยังคงรอคอยการเข้าถึงยารักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าอย่างยากลุ่ม DAA เพื่อรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
- หากรับยาหรือการรักษาแล้วจะยังติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้อีกหรือไม่?
-
การที่มีประวัติเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีไม่ได้ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดิมหรือสายพันธุ์อื่นๆ ในอนาคต การติดเชื้อสำทับหรือการติดไวรัสตับอักเสบซีมากกว่าหนึ่งสายพันธุ์เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้หากยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี อย่างการฉีดยา
10 คำถามเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบซี
เรื่องน่ารู้เพิ่มเติม
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งการติดเชื้อร่วมทั้งไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซีจัดเป็นภาวะอันซับซ้อนจากการที่ไวรัสจำนวนมากเพิ่มจำนวนในร่างกายของคนคนเดียว ซึ่งบางกรณีไวรัสชนิดหนึ่งอาจจะมีจำนวนมากกว่าอีกชนิดหนึ่ง และอาจเกิดกรณีที่ไวรัสไปเสริมหรือกดการเพิ่มจำนวนของไวรัสอีกชนิดได้ โดยผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อร่วมทั้งไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซีจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับแข็งและโรคตับรุนแรงมากกว่า