Skip to main content

    โรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก: 10 ปีให้หลังกับ 5 สิ่งที่ควรจดจำ

    Ebola, 10 years after the largest outbreak in history. In the picture, MSF staff members carry a deceased Ebola patient to the morgue.

    เจ้าหน้าที่แพทย์ไร้พรมแดนนำผู้ป่วยอีโบลาที่เสียชีวิตไปยังห้องดับจิต - เซียร์ราลีโอน ธันวาคม 2557 © Anna Surinyach 

    นายแพทย์มิเชล ฟาน แฮร์ป (Dr Michel Van Herp) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอีโบลามาตั้งแต่ก่อนปี 2557 ได้มองย้อนกลับไปถึงการระบาดของโรคอีโบลาครั้งใหญ่ที่สุด และตอบ 5 คำถามสำคัญ

    1. เมื่อ 10 ปีก่อนเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นบ้าง

    เมื่อเราอ่านรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคที่ไม่ทราบสาเหตุในประเทศกินีในช่วงต้นปี 2557 เราคิดว่าอาจเป็นการระบาดของโรคอีโบลา แม้ว่าโรคนี้จะพบได้น้อยมากในแอฟริกาตะวันตก เราจึงได้ส่งคณะทำงานโรคอีโบลาลงพื้นที่ ในเวลานั้น องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières – MSF) เป็นองค์กรหนึ่งในไม่กี่องค์กรที่มีประสบการณ์กับการระบาดของโรคอีโบลา แต่เป็นที่ชัดเจนว่าการระบาดครั้งนี้ซ่อนตัวเงียบอยู่หลายเดือน และพบได้ในหลายพื้นที่ชนิดที่เกินกำลังที่จะมีใครมีประสบการณ์รับมือกับการระบาดมาก่อน

    การระบาดครั้งนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าโรคอีโบลาจะระบาด เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานใด และไม่มีผู้ที่สามารถรับมือกับโรคได้ กว่าที่การระบาดจะได้รับความสนใจจากรัฐบาล หน่วยงานของสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN) และองค์กรช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ก็ต้องใช้เวลานานมาก องค์การแพทย์ไร้พรมแดนออกมาเตือนหลายครั้งด้วยความตื่นตระหนก แต่ดูจะไม่มีใครฟัง

    2. ทำไมการระบาดครั้งนี้จึงแตกต่างจากครั้งอื่น

    ไม่เคยมีการระบาดของโรคอีโบลาเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศเช่นนี้มาก่อน เชื้อไวรัสแพร่กระจายไปในประเทศกินี เซียร์ราลีโอน (Sierra Leone) และไลบีเรีย (Liberia) นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยในประเทศเซเนกัล (Senegal) มาลี (Mali) และไนจีเรีย (Nigeria) อีกด้วย  และยังเป็นครั้งแรกที่ประเทศตะวันตกอย่างอิตาลี (Italy) สเปน (Spain) สหราชอาณาจักร (United Kingdom) และสหรัฐอเมริกา (the United States of America) พบผู้ป่วยโรคอีโบลา 

    การระบาดในระดับนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย และเมื่อการระบาดสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2559 มีรายงานผู้ติดเชื้อกว่า 28,000 ราย ในจำนวนนั้นมีผู้เสียชีวิต 11,000 ราย ก่อนการระบาดครั้งนี้ การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดของโรคอีโบลามีผู้ติดเชื้อเพียง 425 รายเท่านั้น ทุกฝ่ายรวมถึงองค์การแพทย์ไร้พรมแดนต่างตกตะลึงและรับมือกับการระบาดครั้งนี้ไม่ทัน

    3. การรับมือกับการระบาดครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมาหรือไม่

    เป็นเวลาเกือบ 6 เดือน ที่โลกพยายามเลี่ยงการระบาดครั้งนี้ พอถึงช่วงปลายฤดูร้อน ปี 2557 รัฐบาลและองค์การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอื่นๆ จึงเริ่มยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในที่สุด

    ในเวลานั้นยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอีโบลา ผู้ป่วยจะถูกรับตัวเข้ามาอยู่ในคลินิกโรคอีโบลา จุดประสงค์หลักเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ในการระบาดครั้งก่อนๆ สมาชิกในครอบครัวสามารถเฝ้าไข้ผู้ป่วยได้ แต่ในปี 2557 เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมากได้ จึงจำเป็นต้องสร้างอาคารขนาดใหญ่ มาตรการความปลอดภัยจึงต้องมีความเข้มงวดอย่างยิ่ง โดยไม่อนุญาตให้เฝ้าไข้ได้ แนวทางในการรับมือเหตุการณ์การระบาดครั้งใหญ่เช่นนี้ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวเกิดความหวาดกลัว

    ในช่วงปลาย ปี 2557 องค์กรช่วยเหลือทางมนุษยธรรมหลายสิบองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์รับมือกับโรคอีโบลา ได้เข้าร่วมปฏิบัติงานในด้านต่างๆ การประสานงานระหว่างองค์กรเหล่านี้ในหลายสถานที่และหลายประเทศเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง รัฐบาลบางประเทศหันไปใช้อำนาจแบบเผด็จการเพื่อบังคับให้ผู้ป่วยและครอบครัวยอมปฏิบัติตามกฎ ซึ่งยิ่งทำให้พวกเขาหวาดกลัวยิ่งขึ้นไปอีก

    การให้ความสำคัญกับผู้ป่วยและครอบครัวซึ่งเคยเป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมการระบาดก่อนหน้านี้ กลับไม่สามารถนำมาใช้เป็นกลไกการรับมือกับการระบาดของโรคอีโบลาที่ซับซ้อนและมีขนาดใหญ่ขึ้น

    In December 2014, MSF rapid response Team intervened on a remote Ebola outbreak in Quewein, Grand Bassa County, Liberia.

    โรงพยาบาลขนาดใหญ่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการระบาดของโรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก ในขณะที่กิจกรรมเพื่อเข้าถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบยังคงมีความสำคัญมาก ทีมแพทย์องค์การฯ ยังคงควบคุมมาตรฐานการทำงาน แต่ต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ อาทิ การไปรับผู้ป่วย ช่วยเหลือครอบครัว และฆ่าเชื้อภายในบ้าน - ไลบีเรีย ธันวาคม 2557 © Yann Libessart/MSF

    Members of the medical team are getting fully dressed with protective clothing prior to entering the ebola healthcare structure.

    เมื่อเจ้าหน้าที่รายใหม่จำนวนมากไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับโรคอีโบลา องค์การแพทย์ไร้พรมแดนจึงต้องเข้มงวดกับความปลอดภัย การสวม และถอดอุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสมเป็นส่วนสำคัญของการสวมใส่ เจ้าหน้าที่จะไม่ถอดเครื่องมือด้วยตัวเอง แต่จะต้องมีผู้ช่วยเสมอ เพื่อตรวจสอบว่าชุดป้องกันเชื้อโรคนั้นปลอดภัยหรือไม่ - กินี เมษายน 2557 © Amandine Colin/MSF

    Epidemiologist Michel Van Herp explains to the population in Gbando what is Ebola and how to avoid transmission.

    ในเดือนมีนาคม 2561 นายแพทย์และนักระบาดวิทยา มิเชล แวน เฮิร์ป อธิบายให้พลเมืองในประเทศกินีฟังว่าอีโบลาคืออะไร และสามารถหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อได้อย่างไร มีการพูดคุยกับชาวบ้านเพื่ออธิบายว่าโรคนี้คืออะไร และถามพวกเขาเกี่ยวกับข้อกังวลเกี่ยวกับการระบาดในเวลานั้น - กินี มีนาคม 2557 © Joffrey Monnier/MSF

    4. เราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้หรือไม่

    มีหลายเรื่องที่ถือเป็น ‘บทเรียน’ และเป็นสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนปี 2557 แต่กลับถูกลืมเลือนไป ครั้งนี้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เราได้เรียนรู้ว่าเราสามารถใช้การป้ายกวาดช่องปาก (oral swab) ผู้เสียชีวิตอย่างง่ายๆ เพื่อเก็บตัวอย่างตรวจสอบว่าเสียชีวิตจากเชื้ออีโบลาหรือไม่ และทำให้เราเข้าใจลักษณะการเปลี่ยนแปลงของการระบาดได้ดียิ่งขึ้น

    เรายังดำเนินการวิจัยทางคลินิกและค้นพบวัคซีนต้านไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซาอีร์ (Zaire) ที่มีประสิทธิภาพ และเนื่องจากเราได้เรียนรู้จากการดำเนินการวิจัยทางคลินิก เราจึงจัดการกับการระบาดในช่วงปี 2561 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of the Congo – DRC) ได้รวดเร็วขึ้น ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เราค้นพบวิธีรักษาโรคอีโบลาสายพันธุ์ซาอีร์ด้วยสารภูมิต้านทาน

    Jackson Niamah, Liberian Physicians Assistant at MSF's Ebola Management Centre in Monrovia addresses UN security council members in New York who later unanamously vote through an emergency resolution on the Ebola outbreak.

    แจ็คสัน ไนมาห์ หัวหน้าทีมที่ศูนย์การรักษาอีโบลาขององค์การแพทย์ไร้พรมแแดน ในเมืองมอนโรเวีย ประเทศไลบีเรีย ปราศรัยต่อหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในนิวยอร์ก โดยกล่าวถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการกับวิกฤติอีโบลาในระดับภูมิภาค ก่อนที่สหประชาชาติ รัฐบาล และหน่วยงานช่วยเหลืออื่นๆ จะเริ่มช่วยเหลือสามประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ กินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน - ไลบีเรีย กันยายน 2557 © Morgana Wingard

    5. อะไรคือสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่ออนาคต

    มีสิ่งที่เป็นรูปธรรมหลายอย่างที่เราพัฒนาได้ ควรมีการอนุญาตให้ญาติเฝ้าไข้ผู้ป่วยในคลินิกโรคอีโบลาได้อีกครั้ง เนื่องจากเราสามารถปกป้องญาติผู้ป่วยได้ดีขึ้นแล้วด้วยการฉีดวัคซีนและยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ

    ผู้ป่วยที่มีอาการหนักควรได้รับการรักษาด้วยสารภูมิต้านทานโดยเร็วที่สุด สารภูมิต้านทานอาจเป็นตัวช่วยชีวิตได้อย่างแท้จริง และยิ่งผู้ป่วยได้รับเร็วเท่าไร ก็ยิ่งได้ผลดีขึ้นเท่านั้น เราต้องปรับรูปแบบเพื่อใช้ทางเลือกนี้ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และยังต้องค้นหาวิธีการรักษาอื่นต่อไป เชื้อไวรัสอีโบลาอาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบรุนแรงจนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ หากมียาที่ช่วยบรรเทาการอักเสบนี้ได้ เราก็จะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคอีโบลาได้มากขึ้น

    เรายังต้องพัฒนาการติดตามอาการของผู้ป่วยหลังการฟื้นตัว เชื้อไวรัสอาจยังหลงเหลืออยู่ในสมอง ดวงตา และอัณฑะของผู้ป่วยที่หายแล้ว ยาต้านไวรัสชนิดอื่นสามารถกำจัดไวรัสจากบริเวณเหล่านี้ได้ และหกเดือนหลังจากฟื้นตัวเต็มที่ ผู้หายป่วยจากโรคอีโบลาควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันอีกครั้ง

    ในรอบสิบปีที่ผ่านมา เราได้ทำผิดพลาดในการรับมือการระบาดของโรคอีโบลา ความผิดพลาดบางข้อเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ บางข้อเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความควบคุม แต่โดยรวมแล้วถือว่ามีความก้าวหน้าขึ้นอย่างชัดเจน และมีทางเลือกที่ดีในการพัฒนาการรักษาต่อไปโอกาสในการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคอีโบลาในการระบาดครั้งต่อไปจะดีขึ้นกว่าที่เป็นเมื่อสิบปีก่อนอย่างมาก