Skip to main content

    วัณโรคเป็นโรคระบาดที่มีมานานหลายพันปี พบทั้งในมัมมี่อียิปต์และเชื่อกันว่าพบได้ทั่วไปทั้งในยุคกรีกโบราณและจักรวรรดิโรมัน

    ทว่าเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2425 นี้เอง โรเบิร์ต คอค ประกาศการค้นพบเชื้อมัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส หรือแบคทีเรียที่ก่อวัณโรค

    ความก้าวหน้าสำคัญในประวัติความเป็นมาของวัณโรคเกิดขึ้นหลายสิบปีหลังการค้นพบของคอค ตั้งแต่การทดสอบทูเบอร์คูลินทางผิวหนังโดยเพียร์เคและแมนทูเมื่อปี 2451 การค้นพบวัคซีนบีซีจี (BCG) โดยอัลแบร์ กาลแมตต์ และคามิลล์ เกอแร็ง เมื่อปี 2464 จนกระทั่งมีการพัฒนายารักษาวัณโรคในช่วงต้นทศวรรษที่ 1940

    ยาปฏิชีวนะถือเป็นความก้าวหน้าในการรักษาวัณโรค ในปี 2486 เซลมัน แวกส์มัน, เอลิซาเบธ บูกี และอัลเบิร์ต ชัทซ์​ พัฒนายาสเตรปโตมัยซินขึ้น และในเดือนพฤศจิกายน 2497 ได้ทดลองให้ยานี้แก่ผู้ป่วยเป็นครั้งแรก ต่อมาในปี 2494 ยารักษาวัณโรคตัวต่อมาคือ ไอโซไนอะซิด ได้รับการค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์จากบริษัทไบเออร์เคมิคอลของเยอรมนีกับบริษัทยา 2 แห่ง ได้แก่ สควิบบ์และฮอฟมันน์-ลาโรช การพัฒนายารักษาวัณโรคยังดำเนินต่อไปและนำไปสู่การค้นพบยาอีกหลายชนิด เช่น ไพราซินาไมด์ (2495) อีแทมบูทอล (2504) และไรแฟมพิซิน (2509)

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนรับมือกับโรคนี้อย่างไร?

    การรักษาโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
    การวิจัยและทดสอบทางคลินิก
    การรณรงค์

    patient centred treatment

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนต่อสู้กับวัณโรคมานานหลายปี  ในปี 2562 เราเริ่มรักษาวัณโรคขั้นแรกในผู้ป่วย 18,800 คน และทำโครงการรักษาวัณโรคดื้อยาในผู้ป่วย 2,000 คน

    สถานที่ซึ่งองค์การแพทย์ไร้พรมแดนให้บริการรักษาวัณโรคนั้นมีหลากหลาย ทั้งพื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้งยืดเยื้ออย่างเชชเนีย ค่ายผู้อพยพในชาดหรือไทย เรือนจำในคีร์กีซสถาน และประเทศที่ระบบสาธารณสุขต้องแบกรับภาระเกินกำลังอย่างปาปัวนิวกินี

    สิ่งที่แต่ละโครงการเน้นให้ความสำคัญจะแตกต่างกันออกไป อย่างในเคนยาและแอฟริกาใต้เน้นรักษาวัณโรคและเอชไอวีร่วมกัน ส่วนในอุซเบกิสถานและจอร์เจียเน้นรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ หรืออย่างสถานที่อื่นๆ ซึ่งมีกลุ่มคนที่เข้าถึงระบบการแพทย์ได้ยาก องค์การแพทย์ไร้พรมแดนจะเน้นช่วยเหลือประชากรเฉพาะกลุ่มดังกล่าว อย่างเช่นกลุ่มผู้อพยพในประเทศไทย เป็นต้น

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนมุ่งมั่นจะพัฒนาการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมดด้วยการนำเครื่องมือชนิดใหม่เข้ามาใช้งาน เช่น ชุดตรวจปัสสาวะ TB LAM ซึ่งทราบผลได้เร็ว ต้นทุนต่ำ  ตรวจโรคได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องมืออื่น  หากมีข้อเสียเปรียบคือด้วยต้องแลกเรื่องความไวกับการพบเชื้อที่น้อยกว่าวิธีอื่น (ที่อาจทำให้ตรวจไม่พบเชื้อในหลายกรณี) การตรวจด้วยวิธี TB LAM จึงยังนำมาใช้แทนวิธีอื่นไม่ได้ แต่หากนำมาใช้ร่วมกับระบบ GenXpert MTB/RIF และวิธี TB-LAMP จะช่วยวินิจฉัยวัณโรคในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้จากที่ปกติอาจจะตรวจไม่พบ 

    เครื่องมือที่สำคัญอีกประการคือการทดสอบความไวต่อยา (DST) ซึ่งการรักษาวัณโรคดื้อยานั้นจะต้องมีการนำการทดสอบความไวต่อยามาใช้ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยวัณโรคไม่ได้รับการรักษาด้วยยาชนิดที่เชื้อแบคทีเรียในร่างกายดื้อต่อยานั้นแล้ว 

    ในด้านการรักษา องค์การแพทย์ไร้พรมแดนกำลังทดลองวิธีการกระตุ้นให้ผู้ป่วยรับการรักษาอย่างต่อเนื่องอยู่หลายวิธี รวมถึงเน้นใช้ยาสูตรผสมและยาที่มีคุณภาพในการรักษาในโครงการ  นอกจากนี้องค์การแพทย์ไร้พรมแดนยังตั้งเป้าจะควบรวมบริการรักษาวัณโรคและเอชไอวีเข้าไว้ด้วยกันหากทำได้ และรักษาวัณโรคดื้อยาร่วมด้วยตามความเหมาะสม

    clinical research and trials

    การจัดการกับวัณโรคมีอุปสรรคอยู่หลายข้อ ยาส่วนมากที่ใช้รักษามีมานานเป็นสิบปี บางตัวยาไม่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อรักษาวัณโรคโดยเฉพาะหรืออาจมีผลข้างเคียงที่เป็นพิษ ความท้าทายอีกข้อหนึ่งคือการรักษาวัณโรคจะต้องใช้เวลานาน อาจมากที่สุดถึง 2 ปีในกรณีวัณโรคดื้อยา ทำให้การค้นคว้าวิจัยหายารักษาที่ใช้เวลาน้อยลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นอย่างยิ่ง

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเข้าร่วมการทดสอบทางคลินิก 2 ชิ้น ได้แก่ EndTB และ PRACTECAL เพื่อค้นหาสูตรยารักษาชนิดใหม่ การวิจัยทั้งสองชิ้นเริ่มรักษาผู้ป่วยรายแรกเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2560

    วัณโรคดื้อยาเป็นปัญหาที่น่าวิตกและเพิ่มขึ้นในหลายประเทศที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเข้าทำโครงการ และเพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต องค์การแพทย์ไร้พรมแดนจึงเริ่มศึกษาวิจัยร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่อค้นคว้าหาหลักฐานยืนยันประสิทธิภาพของการรักษาวัณโรคดื้อยาด้วยวิธีใหม่

    advocacy

    ยาส่วนมากที่ใช้รักษาวัณโรคเก่าแก่และมีผลข้างเคียงที่เป็นพิษ แต่ในช่วงสิบปีให้หลัง มีการพัฒนายารักษาวัณโรคตัวใหม่ขึ้นถึง 3 ชนิด ได้แก่ เบดาควิลิน เดลามานิด และล่าสุดคือพรีโทมานิด ทำให้ผู้ป่วยมีความหวังและตัวเลือกในการรักษามากขึ้น

    เมื่อยาเบดาควิลินผ่านการรับรองให้ใช้งานได้เป็นครั้งแรกในปี 2555 ถือเป็นยาวัณโรคดื้อยาตัวแรกที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในรอบกว่า 40 ปี แต่จนถึงปลายปี 2561 มีผู้ที่ได้รับยานี้ทั่วโลกเพียง 28,700 คนเท่านั้น ไม่ถึง 20% ของจำนวนคนที่น่าจะได้ประโยชน์จากยาชนิดนี้

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเคลื่อนไหวเมื่อปี 2561 เพื่อผลักดันให้บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งถือครองสิทธิบัตรยาเบดาควิลินลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทุกคนที่จำเป็นต้องใช้ยานี้รักษาชีวิตสามารถเข้าถึงตัวยาได้ในราคาที่ย่อมเยา ในเดือนกรกฎาคม 2563 หลังจากประชาชน 120,707 คนร่วมกันเข้าชื่อเพื่อผลักดันให้บริษัทดังกล่าวลดราคายา จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ประกาศลดราคาลงเหลือ 1.50 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากราคาต่ำสุดก่อนหน้านั้นถึง 32% แต่ราคานี้เป็นราคาเฉพาะสำหรับประเทศตามรายชื่อที่ทางบริษัทกำหนดเท่านั้น และยังมีสัญญาซื้อขายผูกมัดผ่านทางองค์กร Global Drug Facility (GDF) ซึ่งเป็นผู้จัดหายารักษาวัณโรคให้แก่ประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางที่ดำเนินการโดยกลุ่มพันธมิตรเพื่อการหยุดยั้งวัณโรค (Stop TB Partnership) โดยองค์การแพทย์ไร้พรมแดนยังคงเรียกร้องให้จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ลดราคายาเบดาควิลินลงอีกและเปิดขายให้แก่ประเทศที่เผชิญภาระหนักจากวัณโรคดื้อยาทั้งหมด เพื่อช่วยรักษาชีวิตคนให้ได้มากขึ้น

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนยังคงเรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลและบริษัทยาต่างๆ ให้ยึดมั่นปณิธานในการจัดการกับวัณโรค เพื่อรักษาชีวิต บรรเทาความทุกข์และลดการสูญเสียจากโรคที่เลวร้ายนี้ ผ่านทางโครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ (Access Campaign)

    เรื่องราวของผู้เข้ารับการรักษา

    หลังจากสูญเสียแม่ไปด้วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) เมื่อ 5 ปีก่อน อันติกา พาราบ รู้ตัวภายหลังว่าติดเชื้อนี้เช่นกัน หลังจากรักษาอย่างทุลักทุเลนาน 2 ปีเธอก็หายจากโรคนี้ และต่อมาเธอจึงได้ทราบว่าน้องชายป่วยด้วยโรคนี้อีกคน

    REAL PEOPLE, REAL STORIES TB

    © Abhinav Chatterjee 

    ปี 2559 เมื่ออาการของน้องชายทรุดลง แพทย์ส่งตัวเขาไปรักษายังคลินิกขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในมุมไบ อินเดีย เขาเริ่มได้รับการรักษาด้วยสูตรยาที่มียารักษาวัณโรคตัวใหม่รวมอยู่ด้วย อันติกาได้รับการตรวจคัดกรองวัณโรคผ่านการติดตามกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อเช่นกัน ซึ่งเป็นบริการหนึ่งในการป้องกันโรคที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดนจัดทำให้แก่สมาชิกครอบครัวทั้งหมดของผู้ป่วยวัณโรค  ผลการตรวจสร้างความสะพรึงกลัวให้เธอเป็นอย่างมาก เพราะแม้จะรักษามาก่อนแล้ว แต่อันติกากลับป่วยเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) ซึ่งเป็นวัณโรคชนิดที่รุนแรงที่สุด

    แม้ว่าทีมแพทย์ที่มุมไบจะเริ่มรักษาสองพี่น้องด้วยวิธีการที่ใหม่ขึ้นในเวลาเดียวกัน แต่อาการป่วยของน้องชายของอันติกาลุกลามไปมากจนเขาเสียชีวิตลงในเวลาเพียงไม่นาน การเสียชีวิตของน้องชายและผลการวินิจฉัยโรคของตัวเองเป็นสิ่งที่สะเทือนจิตใจของอันติกาถึงสองต่อ “เขาเริ่มการรักษาที่เดียวกับฉัน ดังนั้นถ้าโรคนี้ทำให้เขาเสียชีวิตได้ มันก็ทำกับฉันได้เหมือนกัน ฉันไม่ได้พิเศษอะไร เขาดูแลตัวเองดีกว่าฉันด้วยซ้ำไป”

    เป็นเรื่องยากที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาวัณโรคดื้อยาด้วยวิธีการอันยากลำบากและกินเวลายาวนานได้โดยปราศจากกำลังใจและการสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับอุปสรรคในชีวิต เช่น การสูญเสียสมาชิกในครอบครัว การว่างงาน หรือการแปลกแยกจากสังคมเพราะถูกผู้คนรังเกียจที่ป่วยเป็นโรคนี้

    10 คำถามเกี่ยวกับวัณโรค

    วัณโรคคืออะไร?

    What is tuberculosis?

    วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากแบคทีเรียชื่อว่า มัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส ซึ่งส่งผลกระทบต่อปอดเป็นหลัก

    ปี 2562 วัณโรคคร่าชีวิตผู้คนไป 1.4 ล้านคน ทำให้วัณโรคกลายเป็นโรคติดต่อที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตทั่วโลกสูงสุดติด 1 ใน 10 อันดับแรก  องค์การอนามัยโลกประเมินว่ามีคนทั่วโลกป่วยเป็นวัณโรคถึง 10 ล้านคนในปี 2562 

    ในจำนวนนี้ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยวัณโรคอาศัยอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย จีน ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน ไนจีเรีย บังกลาเทศ และแอฟริกาใต้

    วัณโรคคล้ายกับปอดอักเสบหรือไม่?

    Is tuberculosis similar to pneumonia?

    ทั้งวัณโรคปอดและปอดอักเสบต่างเป็นการติดเชื้อในปอดคนละชนิดกัน แต่ทั้งสองโรคมีสัญญาณและอาการร่วมกันบางประการ เช่น อาการไอ หายใจไม่ทัน ซึ่งก่อให้เกิดความสับสนได้

    ปอดอักเสบคือการติดเชื้อของเนื้อเยื่อปอดในปอดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราก็ได้ จัดเป็นการติดเชื้อที่เฉียบพลันและอาการลุกลามอย่างรวดเร็ว หากปอดอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ยาปฏิชีวนะจะช่วยให้อาการดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง การรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้เวลานานหลายวัน และผู้ป่วยจะหายจากอาการต่างๆ ภายใน 3-4 วัน แต่ถ้าเป็นปอดอัดเสบที่เกิดจากไวรัส ผู้ป่วยจะต้องพักผ่อน ดื่มน้ำให้มาก และรับประทานยาแก้ไข้

    ส่วนวัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งต่างจากปอดอักเสบตรงที่อาการจะปรากฏขึ้นอย่างช้าๆ และค่อยเป็นค่อยไป แม้ขณะรักษาการฟื้นตัวของผู้ป่วยก็ช้ากว่าโรคปอดอักเสบ ซึ่งวัณโรคต้องรักษายาวนานกว่ามาก โดยใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน

    วัณโรคแพร่กระจายได้อย่างไร?

    How is tuberculosis transmitted?

    เมื่อผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคปอดไอ จาม พูดคุย หัวเราะ หรือร้องเพลง แบคทีเรียที่ก่อโรคจะแพร่กระจายออกไปในอากาศ เมื่อคนอื่นหายใจเข้าไปแบคทีเรียก็อาจจะฝังตัวในปอดและเจริญเติบโตได้

    ผู้ป่วยวัณโรคมักแพร่เชื้อให้แก่คนที่ใช้เวลาอยู่ด้วยเป็นประจำทุกวัน เช่น สมาชิกในครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน

    วัณโรคคร่าชีวิตคุณได้หรือไม่?

    Can tuberculosis kill you?

    โรคนี้เป็นโรคติดต่อ และอาจอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

    หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาวัณโรคไม่ครบตามที่แพทย์แนะนำ แบคทีเรียที่ก่อวัณโรคอาจพัฒนาไปเป็นสายพันธุ์วัณโรคที่ดื้อยาได้ ซึ่งการรักษาจะยากขึ้นกว่าเดิม

    อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การรักษาวัณโรคซับซ้อนคือกรณีที่ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีอาการป่วยอื่นร่วมด้วยอย่างเอชไอวีหรือโรคเบาหวาน

    วัณโรคส่งผลอย่างไรต่อร่างกายของเรา?

    What does tuberculosis do to the body?

    เมื่อแบคทีเรียก่อวัณโรคเข้าไปภายในปอดและทำให้เกิดการติดเชื้อ ร่างกายจะตรวจพบการรุกรานและส่งเซลล์ภูมิคุ้มกันเข้าจัดการ ซึ่งรวมถึงแมโครเฟจหรือเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ทำลายแบคทีเรียและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หากกระบวนการต่อสู้กับเชื้อนี้สำเร็จ ผู้ป่วยคนนั้นจะเป็นวัณโรคระยะแฝง แต่ถ้าระบบภูมิคุ้มกันพ่ายแพ้และแบคทีเรียเพิ่มจำนวนขึ้น ผู้ป่วนคนนั้นก็จะป่วยด้วยวัณโรค

    อาการของวัณโรคมี 2 ประเภท คือวัณโรคระยะแฝง ซึ่งแบคทีเรียก่อวัณโรคถูกควบคุมเอาไว้ได้และอาศัยอยู่ในร่างกายโดยไม่ทำให้เกิดอาการป่วยหรือแสดงอาการใดๆ และอาการป่วยเป็นวัณโรคซึ่งเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียก่อวัณโรคเติบโตและเพิ่มจำนวนในร่างกายจนทำให้เกิดอาการป่วย

    คนจำนวนมากที่เป็นวัณโรคระยะแฝงจะไม่มีอาการป่วยเลย แต่ถ้าภูมิคุ้มกันต่ำ บางครั้งแบคทีเรียอาจจะเติบโตและก่อโรคขึ้นได้

    ควรไปพบแพทย์หรือรับการรักษาเมื่อใด?

    When should you meet the doctor or seek treatment?

    อาการที่พบบ่อยในวัณโรคปอดคืออาการไอที่เกิดขึ้นติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์ บางครั้งมีเลือดและเสมหะปน เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เป็นไข้ และเหงื่อออกมากตอนกลางคืน

    หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์และเข้ารับการทดสอบหาเชื้อ

    ใครคือกลุ่มเสี่ยงต่อวัณโรคมากที่สุด?

    Who is most prone to tuberculosis?

    ใครๆ ก็เป็นวัณโรคได้ แต่บางคนมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น เช่น คนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อเป็นระยะเวลานาน และผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่แออัด

    นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการซึ่งส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำยังมีความเสี่ยงวัณโรคมากขึ้นด้วย เช่น ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งคือภาวะสุขภาพที่ย่ำแย่ อาหารการกินที่ไม่มีประโยชน์​เนื่องด้วยลักษณะการใช้ชีวิตหรือปัญหาอื่นๆ เช่น การใช้ยาเสพติด แอลกอฮอล์ หรือภาวะไร้ที่อยู่อาศัย

    วัณโรคจะถูกกำจัดให้หมดไปจากโลกได้หรือไม่?

    Can tuberculosis be eradicated?

    แม้ว่าจะเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาได้ แต่วัณโรคยังคงคร่าชีวิตผู้คนปีละหลายล้านคน การเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาโรคที่ดีในประเทศที่ยากจนยังคงเป็นอุปสรรคมาโดยตลอด วัณโรคดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้การกำจัดโรคนี้ยากขึ้น เพราะยาจำพวกแรกที่ใช้รักษาจะไม่สามารถฆ่าแบคทีเรียเหล่านี้ได้แล้ว

    เราจะป้องกันหรือรักษาวัณโรคได้อย่างไร?

    How can you prevent or treat tuberculosis?

    หากเป็นวัณโรคแฝง คุณอาจต้องรับยาเพื่อลดความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปสู่การป่วยเป็นวัณโรค

    ถ้าป่วยเป็นวัณโรคจะต้องรับยาหลายชนิดต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 เดือนหรืออาจนานถึง 1 ปีเพื่อฆ่าแบคทีเรียที่ก่อวัณโรคให้ได้ทั้งหมด  อีแทมบูทอล ไอโซไนอะซิด ไพราซินาไมด์ และไรแฟมพิซิน คือตัวยา 4 ชนิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในการรักษาวัณโรค การรับประทานยาจนครบทั้งหมดตลอดการรักษาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และจะต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดด้วย  มิฉะนั้นแบคทีเรียที่ยังไม่ตายจะทำให้รักษาโรคได้ยากและอาจก่อให้เกิดวัณโรคดื้อยาได้

    หากรับยาหรือการรักษาแล้วจะยังติดวัณโรคได้อีกหรือไม่?

    Can you still get tuberculosis after medication/treatment?

    มีความเป็นไปได้มากที่คนเราจะติดเชื้อวัณโรคมากกว่าหนึ่งครั้ง หากผู้ป่วยคนหนึ่งรักษาวัณโรคหายขาดแล้ว แต่ไปหายใจเอาแบคทีเรียก่อวัณโรคเข้าไปในร่างกาย ก็อาจเกิดการติดเชื้อซ้ำได้ วัณโรคยังสามารถกลับมาแสดงอาการได้ใหม่จากการกลับไปติดเชื้อซ้ำอีกครั้ง

    ควรสังเกตอาการใหม่ของวัณโรคอย่างเคร่งครัด พบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ และรับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ 

    เรื่องน่ารู้เพิ่มเติม

    WHAT ELSE SHOULD YOU KNOW TB

    แม้ว่าวัณโรคมักจะมุ่งโจมตีปอดเป็นหลัง แต่โรคนี้ก็ยังเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นๆ นอกเหนือจากปอดได้ด้วย (วัณโรคนอกปอด) ทั้งกระดูกสันหลัง ไต สมอง และต่อมน้ำเหลือง ซึ่งโดยทั่วไปการติดเชื้อจะพัฒนาไปอย่างช้าๆ