บังกลาเทศ: การช่วยเหลือทางการแพทย์และสุขาภิบาลหลังน้ำท่วม
ผลกระทบจากน้ำท่วมในอำเภอโนยาคาลีส่งผลให้บ้านเรือน พืชผลทางการเกษตร และถนนได้รับความเสียหาย พื้นที่สนามหญ้าของหมู่บ้านในโนยาคาลีจมอยู่ใต้น้ำท่วมขัง - กันยายน 2567 ©Farah Tanjee/MSF
ในช่วงกลางเดือนกันยายน สถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอโนยาคาลี (Noakhali) ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศบังกลาเทศ (Bangladesh) ยังไม่มีวี่แววคลี่คลายตัว และผลกระทบอันเลวร้ายก็เริ่มปรากฏให้เห็น ซัลมาน (Salman) เด็กชายวัย 14 เดือน คือหนึ่งในผู้ประสบกับผลกระทบที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทั่วไปโนยาคาลี ผู้ปกครองของเด็กชายพาเขามารวจอาการป่วยจากโรคท้องร่วง ซึ่งเป็นอาการเสี่ยงที่พบเจอได้ทั่วไปในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม
“แม้ว่าบ้านของพวกเราจะรอดจากน้ำท่วมแล้ว แต่พื้นที่โดยรอบก็ยังคงถูกท่วมอยู่ ทำให้แหล่งน้ำที่พวกเราใช้ไม่ปลอดภัย” จาวิด (Javed) พ่อของซัลมาน กล่าว
เช่นเดียวกับคนอื่น ครอบครัวของซัลมานไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องดื่มน้ำที่ปนเปื้อน ทำให้เกิดการระบาดของโรคท้องร่วงอย่างกว้างขวาง แม้ว่าเริ่มต้นจะมีการพยายามรักษาซัลมานที่บ้านด้วยยาที่จ่ายโดยหมอประจำหมู่บ้าน แต่อาการของเขายังคงแย่ลง พ่อแม่ของเด็กชายจึงรีบพาเขาไปโรงพยาบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières – MSF) เพื่อพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
ซัลมานวัย 14 เดือน เจ็บป่วยจากโรคท้องร่วงภายหลังจากสายน้ำท่วมเข้ามายังพื้นทีอำเภอโนยาคาลี ผู้ปกครองของเขาต้องนำตัวเด็กชายตัวเล็กมายังโรงพยาบาลทั่วไปโนยาคาลีเพื่อเข้ารับการรักษา - กันยายน 2567 ©Farah Tanjee/MSF
น้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่สุดของโนยาคาลีในรอบ 2 ทศวรรษ
อำเภอโนยาคาลีและเฟนี (Feni) ได้เผชิญกับน้ำท่วมเฉียบพลันที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม น้ำท่วมครั้งล่าสุดนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในน้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่สุดในโนยาคาลีในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
“เมื่อระดับน้ำเริ่มสูงขึ้น ฉันรู้ดีว่าฉันต้องกลับบ้าน ไม่ว่าจะเสี่ยงแค่ไหนก็ตาม” ฮูมายูน อาห์เหม็ด ริฟัต (Humayun Ahmed Rifat) จากหมู่บ้านคาบิลปุระ (Kabilpur) กล่าว “เมื่อลองจินตนาการว่าครอบครัวของฉันต้องเผชิญกับความยากลำบากและสูญเสียข้าวของเครื่องใช้ ฉันไม่อาจทนไม่เลย มันเป็นการแข่งขันกับเวลาทั้งที่มีแต่สิ้นหวังเพื่อเตรียมความพร้อมเท่าที่เราพอจะทำได้”
ริฟัตรีบออกเดินทางจากเมืองจิตตะกอง (Chittagong) ไปยังหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือครอบครัว และพบว่าแม่กับน้องสาวของเขากำลังพยายามเอาชีวิตรอดจากการที่น้ำได้เข้าท่วมบ้านแล้ว
น้ำท่วมได้พังทลายบ้านเรือน พื้นที่เพาะปลูก และโครงสร้างพื้นฐาน ถนนจมอยู่ใต้น้ำ ส่งผลให้การสัญจรถูกตัดขาดและขัดขวางการเข้าช่วยเหลือ ความเสียหายได้แผ่ขยายเป็นวงกว้าง ทำให้ผู้คนหลายพันคนต้องพลัดถิ่นและดิ้นรนเพื่อรับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วม
“น้ำท่วมครั้งนี้ไม่เพียงทำลายที่อยู่อาศัย แต่ยังทำลายความหวังของฉันเป็นชิ้นๆ” จาวิดกล่าว “ฉันลงทุนไปเยอะมากกับฟาร์มเลี้ยงปลาและนาข้าวของฉัน แต่ก็ได้แค่มองมันถูกพัดพาไปกับสายน้ำ ฉันเสียทุกสิ่งทุกอย่างไปกับน้ำท่วม ตัวเลขความเสียหายนั้นมหาศาล แต่ฉันก็ไม่ใช่คนเดียวที่เผชิญกับเหตุการณ์นี้”
ช่วงเวลาที่อำเภอโนยาคาลีเผชิญกับน้ำท่วม ถนนหนทางถูกตัดขาดและจมอยู่ใต้น้ำขัง ประชาชนต้องใช้เรือในการเดินทาง - กันยายน 2567 ©Farah Tanjee/MSF.
ปัญหาด้านสุขภาพและระบบน้ำและสุขาภิบาลที่เปราะบางหลังน้ำท่วม
เหตุการณ์น้ำท่วมสร้างแหล่งเพาะพันธุ์โรคติดต่อทางน้ำ เช่น โรคท้องร่วงและการติดเชื้อทางผิวหนัง การขาดแคลนการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขาภิบาลได้ทวีความรุนแรงของวิกฤตด้านสาธารณสุข โดยเด็ก ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้
เพื่อรับมือกับน้ำท่วม ทีมขององค์การฯ ได้มีมาตรการรับมือเหตุฉุกเฉินในอำเภอโนยาคาลีระหว่างช่วงต้นเดือนกันยายนไปจนถึงต้นเดือนตุลาคม โดยผลของการประเมินจากองค์การฯ พุ่งเป้าไปที่ความต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์และการบำบัดน้ำอย่างเร่งด่วน
จัสมิน (Jasmine) หญิงตั้งครรภ์จากพื้นที่ลักษมีนารายันปุระ (Laxminarayanpur) ในเมืองมัจดี (Maijdee) ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยสุดท้ายบ้านของเธอก็ต้องเผชิญกับน้ำท่วมเช่นกัน
“ฉันต้องรีบไปยังศูนย์พักพิงกับลูกชายวัย 3 ขวบ” เธอกล่าว “น้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเราไม่มีเวลาเก็บข้าวของเลย”
“เมื่อกลับมาถึงบ้าน ฉันต้องพบเจอกับความยากลำบากในการอาศัยอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วม ในฐานะหญิงตั้งครรภ์ ฉันพยายามระมัดระวังอย่างดีที่สุด แต่น้ำที่ปนเปื้อนกระทบต่อสุขภาพของฉัน” จัสมินกล่าว “ฉันเป็นโรคท้องร่วงและบ่อยครั้งฉันต้องใช้ห้องน้ำที่มีน้ำท่วมขัง”
พี่ชายของจัสมินนำตัวเธอส่งโรงพยาบาลโนยาคาลี เนื่องจากอาการของเธอแย่ลงและเธอต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล
แผนกผู้ป่วยในขนาด 250 เตียงของโรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วยโรคท้องร่วงเฉียบพลัน บุคลากรของโรงพยาบาลรวมถึงทีมแพทย์ขององค์การฯ ที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือแผนกผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในการรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยนอนรอรับการรักษาทั้งบนพื้นและบนเตียงเนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามา
“โรงพยาบาลแออัดมากจนแทบจะไม่มีที่สำหรับเดิน” พันกาจ พอล (Pankaj Paul) หัวหน้าผู้ประสานงานทางการแพทย์ขององค์กรฯ กล่าว “สุขอนามัยและความสะอาดเป็นปัญหาสำคัญในสถานการณ์ที่มีจำนวนผู้ป่วยและผู้ดูแลล้นเกินเช่นนี้ ซึ่งเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาลไปอย่างมาก”
“เมื่อองค์การฯ เริ่มปฏิบัติการการรับมือ เรามุ่งเน้นไปที่การรักษา โดยพบว่าผู้ป่วยหลายรายสามารถกลับบ้านได้หลังจากเข้ารับการสังเกตอาการเพียงไม่นาน” พอลกล่าว “เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งต่อตัวผู้ป่วยในแต่ละจุดบริการ รวมถึงเสริมสร้างคุณภาพของการดูและรักษา พวกเราได้นำระบบคัดกรองผู้ป่วยมาใช้ ซึ่งช่วยให้พวกเราได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด”
เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำดื่มมีความปลอดภัย ทีมงานด้านน้ำประปาและสุขาภิบาลขององค์การฯ ได้ทำการฆ่าเชื้อและซ่อมแซมบ่อน้ำที่ชำรุด รวมถึงฆ่าเชื้อถังเก็บน้ำในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ทีมยังจัดการฝึกอบรมให้กับคนในท้องถิ่นเกี่ยวกับวิธีการฆ่าเชื้อแหล่งน้ำและซ่อมแซมบ่อน้ำที่ชำรุด และแจกจ่ายอุปกรณ์ที่จำเป็น - กันยายน 2024 ©Farah Tanjee/MSF.
เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำดื่มมีความปลอดภัย ทีมงานด้านน้ำประปาและสุขาภิบาลขององค์การฯ ได้ทำการฆ่าเชื้อและซ่อมแซมบ่อน้ำที่ชำรุด รวมถึงฆ่าเชื้อถังเก็บน้ำในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ทีมยังจัดการฝึกอบรมให้กับคนในท้องถิ่นเกี่ยวกับวิธีการฆ่าเชื้อแหล่งน้ำและซ่อมแซมบ่อน้ำที่ชำรุด และแจกจ่ายอุปกรณ์ที่จำเป็น - กันยายน 2024 ©Farah Tanjee/MSF.
ทีมแพทย์ไร้พรมแดนในโรงพยาบาลโนยาคาลีขนาด 250 เตียงของ กำลังให้คำปรึกษากับผู้ป่วยที่เป็นโรคท้องร่วงเฉียบพลัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งตัวผู้ป่วยและรับรองคุณภาพการดูแล องค์การฯ ได้นำระบบคัดแยกผู้ป่วยมาใช้ในพื้นที่รองรับผู้ป่วย - กันยายน 2567 ©Farah Tanjee/MSF.
พยาบาลขององค์การฯ ทำการรักษาผู้ป่วยโรคท้องร่วงและให้น้ำเกลือผู้ป่วย โดยทางโรงพยาบาลทั่วไปแห่งนี้ได้เปิดทำการแผนกผู้ป่วยโรคท้องร่วงภายหลังจากเกิดน้ำท่วมในโนยาคาลี - กันยายน 2567 © Farah Tanjee/MSF.
เพื่อให้มีน้ำดื่มที่สะอาด ทางทีมได้ทำการฆ่าเชื้อและซ่อมแซมท่อบาดาลที่ได้รับความเสียหายในอำเภอโนยาคาลีและเฟนี รวมถึงการฆ่าเชื้อถังเก็บน้ำของโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคอีกด้วย
ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรเอกชนในท้องถิ่น องค์การฯ ได้แจกจ่ายชุดอุปกรณ์จำนวน 1,000 ชุดไปยัง 5 สถานที่ในเขตการปกครองของตำบลคาบิลฮัต (Kabirhat upazila) ซึ่งประกอบไปด้วย มุ้งกันยุง ไฟฉาย สบู่ ผงซักฟอก ผ้าอ้อม แปรงฟัน ยาสีฟัน และผ้าอนามัย ในเฟนี องค์การฯ ให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำและสุขาภิบาลด้วยการฆ่าเชื้อและซ่อมแซมท่อบาดาล ทีมงานด้านน้ำและสุขาภิบาลยังได้ฝึกอบรมอาสาสมัครจำนวน 45 ทีมเพื่อช่วยทำการฆ่าเชื้อและซ่อมแซมท่อบาดาลใน 45 หมู่บ้านทั่วโนยาคาลีและเฟนี
“ในช่วงแรกของการใช้มาตรการรับมือเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลโนยาคาลีมีผู้ป่วยมากกว่า 500 รายต่อสัปดาห์ แต่หลังจากเสร็จสิ้นโครงการ ตัวเลขลดลงเหลือ 300 ราย” นิลาทรี ชักมา (Niladri Chakma) ผู้ประสานงานเหตุฉุกเฉินขององค์การฯ ในบังกลาเทศกล่าว “เมื่อเราได้ส่งต่อโครงการให้กระทรวงสาธารณสุข พวกเรามั่นใจว่าความตั้งใจของพวกเราในการพัฒนาการทำงาน เช่น การใช้ระบบคัดกรองผู้ป่วย จะนำไปสู่การเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
แม้ว่าองค์การฯ ได้หยุดมาตรการการรับมือเหตุฉุกเฉินในวันที่ 4 ตุลาคม แต่พวกเรายังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสนับสนุนหน่วยงานระดับชาติและระดับท้องถิ่นในบังกลาเทศเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และยังคงปฏิบัติงานในค็อกส์ บาซาร์ (Cox’s Bazar) เมืองธากา (Dhaka) ต่อไป