Skip to main content

ภารกิจบรรเทาทุกข์ของ MSF หลังไต้ฝุ่นโคนีและหว่ามก๋อสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในฟิลิปปินส์

MSF teams saw substantial damage to houses, but very few deaths, from their first assessment of damages in Guinobatan, Albay Province, following landfall of typhoons Goni and Ulysses. © MSF

ทีม MSF ลงพื้นที่ประเมินความเสียหายรอบแรกในกิวโนบาตัน จังหวัดอัลไบย์ หลังไต้ฝุ่นโคนีและหว่ามก๋อพัดขึ้นฝั่ง พบบ้านเรือนจำนวนมากเสียหายอย่างหนัก แต่แทบไม่มีผู้เสียชีวิต  © MSF

สามสัปดาห์ให้หลัง หลายพื้นที่ในอัลไบย์และคาตันดัวเนสยังคงไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่วนสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตต่างก็ไม่เสถียร ซึ่งความเสียหายที่เกิดจากไต้ฝุ่นโคนีทำให้ MSF ส่งทีมประเมินสถานการณ์ลงพื้นที่แต่ละจังหวัด    

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองทีมเผชิญอุปสรรคครั้งใหม่ เมื่อไต้ฝุ่นหว่ามก๋อพัดขึ้นฝั่งเมื่อวันที่ 11 และ 12 พฤศจิกายน ทำให้การประเมินสถานการณ์และภารกิจช่วยเหลือของ MSF ต้องหยุดชะงักลง “ทีมของเราต้องหยุดทำงานและรอให้ไต้ฝุ่นหว่ามก๋อพัดผ่านไปก่อน ซึ่งพายุลูกนี้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงมะนิลามากที่สุด” ฌอง-ลุค อองแกลด  หัวหน้าภารกิจของ MSF ในฟิลิปปินส์กล่าว 

ระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดอัลไบย์แตกต่างกันมาก เมืองต่างๆ ที่อยู่ตามไหล่เขาของภูเขาไฟมายอน ซึ่งหันหน้าเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกและตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากเป็นจุดที่ไต้ฝุ่นโคนีพัดขึ้นฝั่งขณะที่มีกำลังแรงสูงสุด หลังจากนั้นเมืองที่ตั้งอยู่ในที่ลุ่มจึงได้รับความเสียหายอย่างหนักจากน้ำในแม่น้ำที่เอ่อล้นทะลักเข้าท่วมพื้นที่และเหตุดินโคลนจากภูเขาไฟถล่มอย่างรุนแรง 

ดร. เรย์ อานิเซเต หัวหน้าทีมฉุกเฉินของ MSF ในอัลไบย์ เล่าว่า “เริ่มแรกเราไปยังเมืองกิวโนบาตัน ซึ่งไต้ฝุ่นทำให้เกิดโคลนภูเขาไฟถล่มอย่างรุนแรง เป็นครั้งแรกในชีวิตของคนท้องถิ่นในหมู่บ้านซานฟรานซิสโกและทราวีเซียที่ได้เจอกับโคลนภูเขาไฟแบบนี้  ระหว่างสำรวจพื้นที่และเดินข้ามหินก้อนใหญ่ มีคนบอกเราว่าตรงนั้นที่เรายืนเคยเป็นบ้านคนมาก่อน ฟังแล้วหดหู่มาก”

แม้ว่าจะพบเห็นความเสียหายได้อย่างชัดเจนในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมือง แต่การอพยพล่วงหน้าช่วยลดการสูญเสียชีวิตไปได้มาก คนส่วนมากที่อพยพออกไปก่อนสามารถกลับเข้าไปอาศัยที่บ้านได้แล้ว พร้อมกับค่อยๆ เริ่มซ่อมแซมความเสียหาย 

ปัจจุบันศูนย์อพยพสองแห่งรองรับผู้อพยพ 1,037 คน ซึ่งอาจต้องอาศัยอยู่ต่อไปอีกเป็นระยะเวลาหนึ่งเพราะบ้านเรือนและชุมชนเสียหายอย่างหนัก ในเมืองกิวโนบาตัน บ้านและสิ่งก่อสร้างในหมู่บ้านซานฟรานซิสโกและทราวีเซียจมอยู่ใต้กองโคลน ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพออกจากพื้นที่ ส่วนเมืองตีวีถูกไต้ฝุ่นโคนีพัดถล่มโดยตรง เขตทุกเขตเผชิญกับลมกระโชกแรง ฝนตก และรวมทั้งคลื่นพายุซัดฝั่ง บ้านเรือนมากกว่า 1 ใน 3 ถูกทำลาย และครอบครัวต่างๆ เกือบ 200 ครัวเรือนยังคงต้องอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโจโรอัน 

MSF teams conducted outreach activities and health assessments in San Miguel island, Catanduanes Province, Philippines, following landfall of typhoons Goni and Ulysses. © Hana Badando/MSF

ทีม MSF ลงพื้นที่ทำกิจกรรมและประเมินสุขภาพบนเกาะซานมิเกล จังหวัดคาตันดัวเนส ฟิลิปปินส์ หลังไต้ฝุ่นโคนีและหว่ามก๋อพัดขึ้นฝั่ง © Hana Badando/MSF

ทีม MSF เริ่มแจกจ่ายกระติกน้ำสำหรับเก็บน้ำดื่มและชุดอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ที่ศูนย์อพยพในทั้งสองจังหวัด ซึ่งผู้ประสบภัยแต่ละคนจะได้รับหน้ากากผ้าแบบซักได้สองชิ้น เจลล้างมือ และหน้ากากเฟซชิลด์  นอกจากนี้ทีมยังวางแผนช่วยฝึกสอนการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อโควิด-19 และจะบริจาคอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ให้ทีมงานของศูนย์อพยพด้วย 

“โควิด-19 กระทบต่อชีวิตของผู้คนในฟิลิปปินส์อย่างร้ายแรงมาตั้งแต่เดือนมีนาคม และคนในศูนย์อพยพก็ยิ่งจำเป็นต้องรักษาสุขอนามัยและรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการระบาด ซึ่งทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้อพยพมีบทบาทมากในการบรรลุเป้าหมายด้านการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อให้สำเร็จ” อัลเลน บอร์ฮา พยาบาลฝ่ายป้องกันและควบคุมการติดเชื้อของ MSF ในอัลไบย์กล่าว

ส่วนในจังหวัดเกาะอย่างคาตันดัวเนส มีเขตเทศบาล 6 เขตจาก 11 เขตที่เสียหายหนักจากไต้ฝุ่นโคนี ซึ่งถ้าพิจารณาจากความเสียหายต่อบ้านเรือนและการดำรงชีพ เกาะนี้ถือว่าเสียหายหนักที่สุด แต่โชคดีที่ชาวจังหวัดยังสามารถออกจากศูนย์อพยพกลับอยู่บ้านและเริ่มซ่อมแซมบ้านกันได้โดยเร็ว

“ทีมของ MSF เริ่มงานตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินในซานมิเกลตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งที่นี่เป็นหนึ่งใน สี่เขตเทศบาลที่เราเข้าไปช่วยเหลือ แพทย์หนึ่งคนและพยาบาลหนึ่งคนจาก MSF ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอนามัยเขตเทศบาลเพื่อสนับสนุนเวชภัณฑ์สำหรับกิจกรรมช่วยเหลือหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทีมนี้เริ่มแจกจ่ายยาเม็ดฆ่าเชื้อในน้ำดื่มและกระติกเก็บน้ำดื่มให้ชาวบ้านประมาณ 2,500 ครอบครัว” ดร. ฮานา บาดานโด ผู้นำทีมฉุกเฉินในเขตเทศบาลวิรัค จังหวัดคาตันดัวเนสกล่าว