ภัยธรรมชาติ
ภัยธรรมชาติทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นไต้ฝุ่น น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ หรืออื่นๆ ต่างมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อชุมชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายร้อยหรือหลายพันคน ทำให้บ้านเรือนเสียหาย ส่งผลต่อความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพ ชาวบ้านไม่มีน้ำสะอาดและถูกตัดขาดจากบริการสาธารณสุขและการคมนาคม
แต่ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติระดับประเทศหรือเหตุฉุกเฉินระดับท้องถิ่น องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ก็พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ เรามีประสบการณ์สำหรับการให้ความช่วยเหลือใต้สภาวะฉุกเฉินมากว่า 50 ปี และมีเครือข่ายเจ้าหน้าที่ผู้ให้ความช่วยเหลือและทีมจัดหาอุปกรณ์ขนาดใหญ่ทั่วโลกซึ่งพร้อมออกปฏิบัติงานทันทีเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน
ในกรุงมะนิลาและพื้นที่โดยรอบ ทีมทำงานของ MSF กำลังปฏิบัติงานเพื่อให้บริการรักษาพยาบาลและแจกจ่ายของใช้ให้ชาวบ้าน ซึ่งเดือดร้อนจากพายุไต้ฝุ่นสามลูกและพายุโซนร้อนอีกหลายลูกในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2552 ประชาชนหลายหมื่นคนยังต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่สลัมริมคลองแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลาและพื้นที่ลากูนา เดอ เบย์เหนือและตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีปริมาณน้ำเข้าท่วมอย่างหนัก คนเหล่านี้เดือดร้อนเป็นอย่างมากเพราะต้องย้ายไปอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพที่แออัดหรือยังคงอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วมไปส่วนหนึ่ง © Benoit Finck/MSF
การปฏิบัติงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน (Haiyan) ซึ่งเป็นไต้ฝุ่นที่มีขนาดรุนแรงที่สุดลูกหนึ่งในประวัติศาสตร์พัดเข้าถล่มฟิลิปปินส์
“ภัยพิบัติระดับนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์มาก่อน ผลกระทบมันเหมือนเกิดแผ่นดินไหวใหญ่แล้วตามด้วยน้ำท่วมอีกหลายครั้ง” ดร. นาตาชา เรเยส (Dr Natasha Reyes) แพทย์ผู้ประสานงานฉุกเฉินขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ในฟิลิปปินส์กล่าว
หนึ่งวันหลังจากไต้ฝุ่นพัดขึ้นฝั่ง เราก็ส่งหลายทีมเข้าไปช่วยประสานงานบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งใหญ่ที่สุดขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ในฟิลิปปินส์และในภูมิภาคนี้
- ดำเนินการผ่าตัด 11,624 ครั้ง
- ฉีดวัคซีนบาดทะยัก โรคหัด โปลิโอ และตับอักเสบ 29,188 เข็ม
- ให้บริการและ/หรือให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิต 27,044 ครั้ง
- ทำคลอดเด็ก 2,445 ราย
- ตั้งคลินิกเคลื่อนที่ 133 แห่ง
- ก่อสร้างโรงพยาบาลกึ่งถาวร 1 แห่ง ซ่อมแซมโรงพยาบาล 7 แห่ง
- แจกจ่ายชุดสิ่งของบรรเทาทุกข์ 71,979 ชุด
- แจกอาหารให้ประชาชน 50,000 คน
- แจกน้ำสะอาด 14,473,500 ลิตร
เรื่องเล่าจากภาคสนาม: การทำงานใต้ภัยพิบัติสามครั้งซ้อนในจังหวัดสุลาเวสีกลาง
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิที่จังหวัดสุลาเวสีกลาง (Central Sulawesi) ในอินโดนีเซีย ดร. รังกิ ดับเบิลยู ซูดราจัต (Doctor Rangi W. Sudrajat) เข้าร่วมกับทีมทำงานในภาวะฉุกเฉินขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) และเดินทางไปตามชุมชนที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเพราะภัยพิบัติ
วันนั้นคือวันที่ 7 ตุลาคม 9 วันหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ริกเตอร์ ตามด้วยสึนามิสูง 6 เมตรจนทำให้จังหวัดสุลาเวสีกลางเป็นอัมพาต ขณะที่ ดร. รังกิกำลังจะขึ้นเครื่องบินไปเมืองปาลู เธอได้ยินข่าวโทรทัศน์ที่ท่าอากาศยานมาคาสซาร์รายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 1,900 คนและยังเพิ่มขึ้นอีก
เมื่อเธอไปถึงเมืองปาลู ที่สนามบินมีคนเยอะมากกำลังพยายามหาตั๋วเครื่องบินออกจากเมือง เธอเห็นเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่หลับอยู่บนตักแม่มีพันผ้าพันแผลผืนใหญ่มากพันศีรษะ ภายในสนามบินเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เครื่องบินของกองทัพจอดรอบรันเวย์ที่เพิ่งซ่อมได้ไม่นาน และหอควบคุมการจราจรทางอากาศอยู่ในสภาพเสียหาย ซึ่งภายหลังถล่มลงมาบางส่วนจนกลายเป็นข่าวดังบนหน้าสื่อ
ความเสียหายอย่างรุนแรง ในแขวนตาลิเซ (Talise) และมันติคูลอร์ (Mantikulore) ของเมืองปาลู ( Palu) เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหนัก หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในจังหวัดสุลาเวสีกลางเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ©Dirna Mayasari/MSF
ภาวะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
วันต่อมา ดร. รังกิ (Rangi) พยาบาล และหน่วยจัดการน้ำและสุขาภิบาลเข้าร่วมกับทีมคลินิกเคลื่อนที่เพื่อเดินทางไปที่ศูนย์อนามัยชุมชนในเมืองบาลูอาเซ (Baluase) ในเขตซิกิ (Sigi) ของจังหวัดสุลาเวสีกลาง ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 จังหวัดที่เกิดภัยพิบัติ 3 ครั้งซ้อนคือแผ่นดินไหว สึนามิ และปรากฏการณ์แผ่นดินเหลว (liquefaction) หัวหน้าศูนย์อนามัยชุมชนบอกทีมว่า ถ้าเป็นในยามปกติการเดินทางไปเมืองนี้ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง แต่หลังจากแผ่นดินไหว กว่าจะไปถึงที่เกิดเหตุได้ต้องใช้เวลาสองเท่า
ป้ายในซิกิเขียนว่า “ต้องการหมอในการรักษา” © Rangi W. Sudrajat/MSF
เมื่อมองผ่านหน้าต่างบานเล็กของรถยนต์ ดร. รังกิเห็นพงหญ้าสูงรายรอบและถนนดินที่เพิ่งทำใหม่ ทหารตัดหญ้าและเททรายบนพื้นเพื่อใช้เป็นถนน หลังจากแผ่นดินไหวทำให้ซิกิถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
เธอเห็นความเสียหายของตึกรามบ้านช่องและความเสียหายในทุกพื้นที่ของซิกิ ภาพแผ่นดินแยก บ้านถูกทำลาย และอาคารถล่มเป็นเศษซาก เมื่อมองจากระยะไกล ตึกที่เคยเป็นศูนย์อนามัยชุมชนบาลูอาเซดูเหมือนจะไม่เป็นอะไร แต่พอเข้าไปใกล้ก็เห็นได้ชัดว่าศูนย์อนามัยที่เคยให้บริการประชาชนกว่า 15,000 คนเสียหายอย่างมาก
MSF ได้จัดเตรียมแผนงานไว้แล้วเพื่อนำบริการสาธารณสุขกลับคืนมาสู่พื้นที่ และในวันที่ 15 ตุลาคม 2561 ทีมของ MSF ก็เริ่มลงมือก่อสร้างฐานของอาคารศูนย์อนามัยชั่วคราว
ขณะที่ทีมขนส่งและหน่วยจัดการน้ำและสุขาภิบาลกำลังทำงานหนักเพื่อสร้างศูนย์อนามัยขึ้นมาใหม่ ดร. รังกิและทีมแพทย์ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์อนามัยช่วยสนับสนุนก็เริ่มทำกิจกรรมคลินิกเคลื่อนที่ตามพื้นที่ทั้ง 13 หมู่บ้านของเขตโดโลใต้ (South Dolo) โดยไม่มีวันหยุด
ดร. รังกิเคยร่วมงานกับ MSF ในเหตุการณ์ฉุกเฉินมาแล้วหลายครั้ง แต่การรักษาผู้บาดเจ็บเพราะภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศของเธอเองถือเป็นความรู้สึกแสนเศร้าที่ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง การทำงานในครั้งนี้ส่งผลกระทบทบต่อจิตใจของ ดร. รังกิเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และเพื่อปลอบประโลมใจของผู้สูญเสีย เธอก็มักทำอย่างที่เคยทำในภารกิจครั้งอื่น นั่นคือแบ่งเวลามาเล่นกับกลุ่มเด็กน้อย
เดินทางเข้าพื้นที่ภัยพิบัติ
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) มีทีมฉุกเฉินซึ่งเชี่ยวชาญการประเมินสถานการณ์อย่างรวดเร็วและจัดทีมปฏิบัติงานได้ทันที เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการทำงานได้จัดเตรียมไว้เป็นชุดพร้อมขนส่งเสมอถูกเก็บไว้ในคลังตามจุดที่ตั้งสำคัญทั่วโลก
การมีทีมงานที่พร้อมจะวางทุกภารกิจแล้วออกเดินทางไปทำงานในพื้นที่ภัยพิบัติทั่วโลกได้ทันทีทำให้เราไปถึงสถานที่ซึ่งมีคนต้องการความช่วยเหลือจากเราอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการรักษาพยาบาลฉุกเฉินเป็นเรื่องที่รอไม่ได้
เรื่องเล่าจากภาคสนาม: การทำงานในภาวะฉุกเฉินในฟิลิปปินส์หลังจากไต้ฝุ่นโคนีและไต้ฝุ่นหว่ามก๋อสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในฟิลิปปินส์
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน หนึ่งในไต้ฝุ่นลูกใหญ่ที่สุดของปี 2563 พัดถล่มฟิลิปปินส์ ไต้ฝุ่นโคนี (Goni) หรือที่เรียกกันในฟิลิปปินส์ว่าไต้ฝุ่นโรลลี (Rolly) สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างทั่วภูมิภาคบิโคล (Bicol) โดยเฉพาะในจังหวัดคาตันดัวเนส (Catanduanes) และจังหวัดอัลไบย์ (Albay) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 300 กิโลเมตร ก่อนที่ไต้ฝุ่นโคนีจะพัดขึ้นฝั่ง พายุลูกนี้มีความรุนแรงอยู่ที่ระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงที่สุด
ภาพจากกิจกรรมให้ความช่วยเหลือและประเมินสุขภาพประชาชนบนเกาะซานมิเกลในจังหวัดคาตันดัวเนสของฟิลิปปินส์ หลังจากไต้ฝุ่นโคนีและหว่ามก๋อพัดขึ้นฝั่ง บ้านเรือนจำนวนมากเสียหายอย่างเห็นได้ชัด แต่พบผู้เสียชีวิตเพียงไม่กี่ราย (MSF)
ภาพจากกิจกรรมให้ความช่วยเหลือและประเมินสุขภาพประชาชนบนเกาะซานมิเกลในจังหวัดคาตันดัวเนสของฟิลิปปินส์ หลังจากไต้ฝุ่นโคนีและหว่ามก๋อพัดขึ้นฝั่ง บ้านเรือนจำนวนมากเสียหายอย่างเห็นได้ชัด แต่พบผู้เสียชีวิตเพียงไม่กี่ราย (MSF)
3 สัปดาห์ให้หลัง หลายพื้นที่ในอัลไบย์และคาตันดัวเนสยังคงไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่วนสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตต่างก็ไม่เสถียร ซึ่งความเสียหายที่เกิดจากไต้ฝุ่นโคนีทำให้ MSF ส่งทีมประเมินสถานการณ์ลงพื้นที่แต่ละจังหวัด
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองทีมเผชิญอุปสรรคครั้งใหม่ เมื่อไต้ฝุ่นหว่ามก๋อพัดขึ้นฝั่งเมื่อวันที่ 11 และ 12 พฤศจิกายน ทำให้การประเมินสถานการณ์และภารกิจช่วยเหลือของ MSF ต้องหยุดชะงักลง “ทีมของเราต้องหยุดทำงานและรอให้ไต้ฝุ่นหว่ามก๋อพัดผ่านไปก่อน ซึ่งพายุลูกนี้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงมะนิลามากที่สุด” ฌอง-ลุค อองแกลด (Jean-Luc Anglade) หัวหน้าภารกิจของ MSF ในฟิลิปปินส์กล่าว
ดร. เรย์ อานิเซเต (Rey Anicete) หัวหน้าทีมฉุกเฉินของ MSF ในอัลไบย์ เล่าว่า “เริ่มแรกเราไปยังเมืองกิวโนบาตัน ซึ่งไต้ฝุ่นทำให้เกิดโคลนภูเขาไฟถล่มอย่างรุนแรง เป็นครั้งแรกในชีวิตของคนท้องถิ่นในหมู่บ้านซานฟรานซิสโกและทราวีเซียที่ได้เจอกับโคลนภูเขาไฟแบบนี้ ระหว่างสำรวจพื้นที่และเดินข้ามหินก้อนใหญ่ มีคนบอกเราว่าตรงนั้นที่เรายืนเคยเป็นบ้านคนมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าหดหู่มาก”
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) เริ่มแจกจ่ายกระติกน้ำสำหรับเก็บน้ำดื่มและชุดอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ที่ศูนย์อพยพในทั้งสองจังหวัด ซึ่งผู้ประสบภัยแต่ละคนจะได้รับหน้ากากผ้าแบบซักได้สองชิ้น เจลล้างมือ และหน้ากากป้องกันใบหน้า นอกจากนี้ทีมยังวางแผนช่วยฝึกสอนการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อโควิด-19 และจะบริจาคอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ให้ทีมงานของศูนย์อพยพด้วย
ครอบครัวผู้ประสบภัยต้องพักอยู่ที่ศูนย์อพยพ ซึ่ง MSF นำกระติกน้ำและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลไปแจกเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ภายในศูนย์ © MSF
“โควิด-19 กระทบต่อชีวิตของผู้คนในฟิลิปปินส์อย่างรุนแรงมาตั้งแต่เดือนมีนาคม และคนในศูนย์อพยพก็ยิ่งจำเป็นต้องรักษาสุขอนามัยและรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการระบาด ซึ่งทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้อพยพต่างมีส่วนร่วมในการดำเนินภารกิจด้านการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อจนบรรลุเป้าหมาย” อัลเลน บอร์ฮา (Allen Borja) พยาบาลฝ่ายป้องกันและควบคุมการติดเชื้อของ MSF ในอัลไบย์กล่าว
ส่วนในจังหวัดเกาะอย่างคาตันดัวเนส มีเขตเทศบาล 6 เขตจาก 11 เขตที่เสียหายหนักจากไต้ฝุ่นโคนี ซึ่งถ้าพิจารณาจากความเสียหายต่อบ้านเรือนและการดำรงชีพ เกาะนี้ถือว่าเสียหายหนักที่สุด แต่โชคดีที่ชาวจังหวัดยังสามารถออกจากศูนย์อพยพ ก่อนกลับไปอยู่บ้านและเริ่มซ่อมแซมบ้านกันได้โดยเร็ว
“ทีมของ MSF เริ่มการทำงานในสภาวะฉุกเฉินในซานมิเกลตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งที่นี่เป็นหนึ่งใน 4 เขตเทศบาลที่เราเข้าไปช่วยเหลือ แพทย์ 1 คนและพยาบาล 1 คนจาก MSF ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอนามัยเขตเทศบาลเพื่อสนับสนุนเวชภัณฑ์สำหรับกิจกรรมช่วยเหลือหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงเริ่มแจกจ่ายเม็ดยาฆ่าเชื้อในน้ำดื่มและกระติกเก็บน้ำดื่มให้ชาวบ้านประมาณ 2,500 ครอบครัว” ดร. ฮานา บาดานโด (Hana Badando) ผู้นำทีมฉุกเฉินในเขตเทศบาลวิรัค (Virac) จังหวัดคาตันดัวเนสกล่าว
การดูแลผู้บาดเจ็บ
หนึ่งในงานที่เราต้องรีบลงมือเป็นอันดับต้น คือการประเมินว่ามีผู้บาดเจ็บจำนวนมากน้อยเพียงใด และประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานสาธารณสุขในท้องถิ่นเป็นเช่นไรหลังเกิดภัยพิบัติ เพราะถ้าผู้ที่มีบาดแผลหรือกระดูกหักไม่ได้รับการรักษาและการดูแลแผลหลังผ่าตัด แผลของพวกเขาจะลามและติดเชื้ออย่างรวดเร็ว
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) จะส่งหน่วยแพทย์เข้าไปช่วยผ่าตัด ดูแลแผลหลังผ่าตัด และทำกายภาพบำบัด ในบางครั้งเราตั้งโรงพยาบาลเคลื่อนที่โดยใช้เต็นท์เป่าลมซึ่งเหมาะสำหรับใช้งานในช่วงเฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อกหลังจากเกิดแผ่นดินไหว
การฟื้นฟูบริการสาธารณสุขทั่วไป จัดหาที่พัก และแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ขั้นพื้นฐานคืองานอันดับต้นที่ต้องทำ แต่เราไม่ได้ทำงานเพื่อฟื้นฟูในส่วนของอาการบาดเจ็บทางกายภาพเท่านั้น การให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประสบภัยฟื้นตัวจากความบอบช้ำได้
จังหวัดสุลาเวสีกลาง: ศูนย์บริการสาธารณสุขของ MSF ยังคงช่วยเหลือชุมชนที่ถูกภัยพิบัติถล่มต่อไป
6 เดือนหลังจากเกิดภัยพิบัติ 3 ครั้งซ้อนจากแผ่นดินไหว สึนามิ และแผ่นดินเหลวในจังหวัดสุลาเวสีกลาง ศูนย์บริการสาธารณสุขชั่วคราวที่ MSF สร้างไว้เขตโดโลใต้ก็ยังคงช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป เพราะเมื่อศูนย์อนามัยที่เมืองบาลูอาเซเสียหายอย่างหนัก ชาวบ้านใน 12 หมู่บ้านจึงไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้
นอกจากให้บริการด้านการแพทย์และศูนย์บริการสาธารณสุขเคลื่อนที่แล้ว ทีมของ MSF ในท้องถิ่นซึ่งร่วมมือกับหัวหน้าทีมจากศูนย์อนามัยบาลูอาเซและหัวหน้าหน่วยงานสาธารณสุขในเขตซิกิ ตัดสินใจสร้างอาคารศูนย์อนามัยชั่วคราวที่ให้บริการทั้งแผนกผู้ป่วยนอก แผนกสูติกรรม และแผนกฉุกเฉิน รวมทั้งมีการวางระบบการประปาและห้องน้ำ
ดร. อะเดไลด์ กฤษณาวาตี บอร์แมน (Adelide Krisnawati Borman) หรือ ดร. กฤษณา หัวหน้าศูนย์อนามัยบาลูอาเซในเขตโดโลใต้ จังหวัดสุลาเวสี กล่าวว่า “ตอน MSF เข้ามาประเมินสภาพของศูนย์อนามัยชุมชนหลังจากแผ่นดินไหว ที่นี่เสียหายหนักมาก เราจะเข้าไปในตึกก็ไม่ได้ MSF จึงสร้างอาคารชั่วคราวให้เราในเวลาแค่ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นเราจึงย้ายเข้ามาทำงานกันข้างในนี้”
นี่คือหนึ่งในห้องผู้ป่วยในของศูนย์อนามัยชั่วคราว ดร. กฤษณาย้ำว่าศูนย์ชั่วคราวที่บาลูอาเซซึ่ง MSF สร้างให้นั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีแผนกผู้ป่วยนอก แผนกสูติกรรม และแผนกฉุกเฉิน และมีวางระบบการประปาและห้องน้ำ
ดร. กฤษณาเล่าว่าศูนย์แห่งนี้ให้บริการชาวบ้านจาก 12 หมู่บ้าน มีผู้ป่วยนอก 20-30 คนต่อวัน และดูแลผู้ป่วยใน 5-10 คนในทุกวัน ตั้งแต่ศูนย์นี้เริ่มเปิดรักษาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 มีผู้ป่วยเข้ามาแล้วทั้งหมดกว่า 3,000 คน
ดร. กฤษณาย้ำว่าศูนย์ชั่วคราวที่บาลูอาเซซึ่ง MSF สร้างให้นั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม มีแผนกผู้ป่วยนอก แผนกสูติกรรม และแผนกฉุกเฉิน เธอเสริมว่าศูนย์นี้เปิดให้บริการทุกวัน ทั้งการรักษาผู้ป่วยนอกและคลินิกสำหรับเด็ก “ที่นี่มีห้องจ่ายยา ห้องสูติศาสตร์ ห้องฉุกเฉิน และห้องผู้ป่วยใน มีครัวที่ใช้ทำอาหารได้ และมีห้องน้ำด้วย ต้องขอบคุณพระเจ้าที่เราได้ตึกชั่วคราวนี้มา เราขอบคุณ MSF มาก ตึกนี้เป็นประโยชน์ต่อเราและชาวบ้านที่นี่” เธอกล่าว
ห้องจ่ายยาให้ผู้ป่วยมารับยาหลังจากพบแพทย์แล้ว © Eka Nickmatulhuda
ดร. กฤษณาเล่าว่าทีมของเธอมีความสุขที่ได้ให้บริการสาธารณสุขแก่ชุมชนในศูนย์ชั่วคราวของ MSF แห่งนี้ต่อไป และกล่าวว่าตอนแรกก็ไม่คิดว่าอาคารจะมีการแบ่งส่วนที่ครบครันเท่านี้ และทำให้ทีมของเธอก็เริ่มกลับมาให้บริการด้านการแพทย์ได้อีกครั้งภายในเวลาไม่ถึงเดือน “เราอาจจะใช้ตึกนี้ไปอีกราวหนึ่งปี” ดร. กฤษณากล่าว
การประสานงานกับทีมปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ในประเทศ
การทำงานในสภาวะฉุกเฉินขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) พัฒนาขึ้นผ่านการประสานงานกับหน่วยงานภายในประเทศ โดยคำนึงถึงความสำคัญของการปฏิบัติงานและกลยุทธ์ระดับท้องถิ่น รวมถึงข้อจำกัดด้านการเข้าแทรกแซงภายในประเทศ ที่ว่าด้วยเรื่องเวลา คุณภาพ และประเด็นปัญหา
เราวิเคราะห์การทำงานของเราเสมอหลังจากความช่วยเหลือเข้าไป และตั้งคำถามโดยไม่หยุดพักว่าการที่เราเข้าไปช่วยเหลือสามารถช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้เพียงใด โดยที่เป้าหมายของเราคือการ ‘ส่งต่อ’ กิจกรรมด้านการแพทย์ให้หน่วยงานหรือพันธมิตรในท้องถิ่นต่อไป