Onnie ลาบราดอร์ที่ช่วยดูแลผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงและการทรมาน
Alicia de la Rosa นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตบำบัดโดยการใช้สัตว์เลี้ยง ทำงานร่วมกับ Onnie สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ วัย 4 ขวบ เพื่อให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตแก่เหยื่อความรุนแรงที่สถานพยาบาลในกรุงเม็กซิโกซิตี้ ซึ่งบริหารจัดการโดยองค์การแพทย์ไร้พรมแดนตั้งแต่ปี 2017
ที่นี่ ทีมแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ จิตแพทย์ และนักกายภาพบำบัดขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนให้การดูแลอย่างรอบด้านในระยะยาวแก่ผู้อพยพ ไปจนถึงชาวเม็กซิกันที่เผชิญกับประสบการณ์ระหว่างการอพยพจากประเทศต้นทาง
Onnie ได้รับการฝึกฝนเพื่อให้การสนับสนุนด้านการบำบัดแก่เด็ก วัยรุ่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความพิการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการดูแลด้านจิตสังคมที่ผู้ป่วยบางรายได้รับ
คนบางคนที่เคยประสบกับสถานการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจจากความรุนแรงหรือการทรมานอย่างรุนแรงพบว่าเป็นการยากที่จะแสดงอารมณ์ของตนและกลับมาไว้วางใจผู้อื่นในสภาพแวดล้อมของพวกเขาอีกครั้ง การทำงานกับ Onnie นับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาทลายกำแพง เพื่อเปิดใจกับนักบำบัด และรู้สึกมั่นใจที่จะพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ยากลำบากที่พวกเขาต้องเผชิญ ผู้ป่วยที่ศูนย์แห่งนี้เคยตกเป็นเหยื่อของการลักพาตัว การทรมาน การบังคับค้าประเวณี การคุกคาม การทำร้าย ความรุนแรงทางเพศ การค้ามนุษย์ หรือแม้กระทั่งการพบเห็นการฆาตกรรมสมาชิกในครอบครัวAlicia de la Rosa นักจิตวิทยา
Onnie และสุนัขบำบัดตัวอื่นๆ ต่างได้รับการฝึกฝนตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัข ด้วยการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองอย่างเสียง ผิวสัมผัส สภาพแวดล้อม ผู้คน และวัตถุต่างๆ กระทั่งอายุ 1 ขวบ จึงเริ่มฝึกฝนเพื่อเป็นสุนัขบำบัด ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ กระบวนการเชื่อฟังขั้นพื้นฐานเพื่อเรียนรู้ เช่น การนั่ง การนอน การพลิกตัว การยกอุ้งมือ การกระโดด และการเคลื่อนไหว เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงได้
"สัตว์เลี้ยงบำบัด" ยังมีส่วนช่วยให้พวกเขาถ่ายทอดอารมณ์ของตนเองออกมาได้อีกด้วย “มีผู้ป่วยที่มีอาการบอบช้ำทางจิตใจที่ไม่สามารถพูดได้ว่า 'วันนี้ฉันเศร้ามาก' แต่สามารถพูดได้ว่า 'วันนี้ Onnie ดูเศร้า'" de la Rosa กล่าว “นั่นทำให้นักจิตบำบัดสามารถทราบอารมณ์ของพวกเขาได้ ผู้ป่วยยังส่งต่อความไว้วางใจที่พวกเขามีต่อสุนัขไปยังนักบำบัดด้วย ซึ่งหากพวกเขาคิดว่า 'ถ้า Onnie อยากอยู่กับ Alicia แสดงว่าฉันไว้ใจเธอได้'"
ปัจจุบัน Onnie ให้การสนับสนุนผู้ป่วยจำนวนมากที่สถานพยาบาล ซึ่งมีทั้งเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่อพยพออกจากประเทศบ้านเกิด โดยผู้ป่วยมักจะแสดงอาการหรือความผิดปกติทางสุขภาพจิตอย่างเฉียบพลัน เช่น ความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ การนึกย้อนเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ความวิตกกังวล และความรุนแรงที่พวกเขาประสบจากกลุ่มอาชญากรหรือบุคคลอื่นๆ
“Onnie มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วย 2 รายสามารถแบ่งปันประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจที่พวกเขาต้องเผชิญ” de la Rosa กล่าว “สิ่งนี้ช่วยให้พวกเขาปรับมุมมองที่มีต่อประสบการณ์เหล่านั้นใหม่ และเรียนรู้ที่จะเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของพวกเขา” ซึ่งหนึ่งในผู้ป่วยเป็นชายหนุ่มที่มักจะเก็บความทรงจำอันเจ็บปวด และเก็บตัวอยู่ลำพัง เมื่อเขาระลึกถึงประสบการณ์ที่เจ็บปวด เขาไม่สามารถพูดหรือคิดได้ นี่จึงเป็นโอกาสที่ Onnie ได้เข้ามามีส่วนช่วย “พวกเขาทำกิจกรรมและออกกำลังกายด้วยกันซึ่งทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ไม่ถูกคุกคาม และสามารถพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความทรงจำที่เจ็บปวดเหล่านั้นได้” เธอกล่าว
ผู้ป่วยอีกรายมีปัญหาในการแยกแยะระหว่างความคิดและความเป็นจริง เธอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลายครั้งหลังจากทำร้ายตัวเอง “เรากำลังทำงานร่วมกับเธอเพื่อพยายามให้เธอเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกตัวเองเมื่ออาการวิตกกังวลและการนึกย้อนเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจเริ่มต้นขึ้น” de la Rosa กล่าว “Onnie เคยอยู่กับเธอในช่วงวิกฤตครั้งหนึ่ง เขาเริ่มใช้อุ้งเท้ากดบนตักของเธอและเลียเธอเพื่อให้เธอรับรู้ถึงร่างกายของเธอในขณะนั้น วันนี้อาการของผู้ป่วยรายนี้ดีขึ้นมาก ปัจจุบันเธอเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลมาเป็นเวลา 3 สัปดาห์แล้วโดยไม่มีอาการวิกฤตใดๆ”
ในช่วงเริ่มต้นของการรักษาผู้ป่วย ทีมแพทย์และจิตวิทยาจะทำงานร่วมกับพวกเขาเพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ในการรักษา และเมื่อใดที่บรรลุวัตถุประสงค์เหล่านั้น งานของ Onnie ก็จะเสร็จสมบูรณ์ “ผู้ป่วยจะแจ้งให้เราทราบล่วงหน้าว่าสะดวกเข้ารับการบำบัดกับ Onnie ในวันไหน ดังนั้นพวกเขาจึงทราบดีว่าแผน 'สัตว์เลี้ยงบำบัด' จะสิ้นสุดเมื่อใด” de la Rosa กล่าว “เป็นเพราะผู้ป่วยมีความผูกพันธ์กับสุนัข ฉะนั้นสิ่งสำคัญ คือ การปิดสายใยแห่งความรักนี้ในทางที่ดี”
Onnie และ de la Rosa เป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน MSF เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี “เรามีความสุขมาก” de la Rosa กล่าว “เราร่วมมือกับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลผู้รอดชีวิตทุกราย เพื่อช่วยให้พวกเขาฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี การได้เห็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนเหล่านี้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานและเดินทางมายังสถานพยาบาลอย่างบอบช้ำ เป็นสิ่งที่สร้างความพึงพอใจให้กับพวกเราเป็นอย่างยิ่ง”