เมียนมา: การเสริมสร้างสุขภาพทางดิจิทัล เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงทางเพศ และการเข้าถึงการบริการสุขภาพ
งานเสริมสร้างสุขภาพ (Health Promotion) ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ให้ความรู้ด้านเพศศึกษาและอนามัยการเจริญพันธุ์กับผู้ป่วยที่อยู่ในคลินิกอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งใหม่ในเมืองบะมอ (Bhamo) รัฐคะฉิ่น (Kachin) - เมียนมา สิงหาคม 2566 © Zar Pann Phyu/MSF
คณะทำงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ประจำประเทศเมียนมา กำลังนำเครื่องมือและทรัพยากรดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงทางเพศ และความรุนแรงระหว่างคู่รัก (intimate partner violence) และเพื่อให้ผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ยังคงสามารถติดตามผู้ป่วยได้ในช่วงเกิดภัยสงคราม
ผลจากการสู้รบอย่างไม่ได้สัดส่วนส่งผลกระทบกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งนำไปสู่สถานการณ์ที่พวกเธอต้องเสี่ยงอันตรายยิ่งขึ้นจากปัญหาความรุนแรงทางเพศ และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ (gender-based violence) ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงผู้กลายเป็นผู้พลัดถิ่นที่อยู่ ก็มีแนวโน้มจะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงระหว่างคู่รัก โดยทั้งสองกรณีกำลังเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจริงกับประชากรเพศหญิงในเมียนมา ประเทศที่ได้รับอันดับ 165 จากทั้งหมด 177 ประเทศ ในการจัดอันดับดัชนีชี้วัดสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในชีวิตของผู้หญิงทั่วโลก
สถานการณ์การสู้รบในเมียนมาที่ลุกลามขยายตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยสถิติมีมากกว่า 200,000 คน จากเหตุการณ์ข้างต้นส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมากถูกตัดโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น เข้าถึงข้อมูลด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ ด้านความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงระหว่างคู่รัก ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ และปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นได้รายงานว่า มีหญิงตั้งครรภ์ในรัฐยะไข่เสียชีวิตลงก่อนที่จะไปถึงโรงพยาบาลเพราะถูกควบคุมตัวอยู่ที่ด่านตรวจของทหาร
วันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (The International Day for the Elimination of Violence against Women) เป็นหมุดหมายเริ่มต้นของกิจกรรม 16 วัน เพื่อต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ โดยเป็นแผนกิจกรรมร่วมระหว่างสหประชาชาติ (United Nations) กับกลุ่มประชาสังคมอันมีความมุ่งหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วโลก ในแผนกิจกรรมดังกล่าว องค์การแพทย์ไร้พรมแดนประจำประเทศเมียนมามีการประชาสัมพันธ์ถึงการเสริมสร้างสุขภาพทางดิจิทัล (digital health promotion campaign) ซึ่งเป็นโครงการใหม่เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย จากความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงระหว่างคู่รัก และเพื่อช่วยให้ผู้เสียหายจากความรุนแรงลักษณะดังกล่าวสามารถเข้ารับการบริการทางการแพทย์ และรับบริการสังคมสงเคราะห์จิตเวช ในคลินิกหลายแห่งซึ่งจัดตั้งโดยองค์การแพทย์ไร้พรมแดน
การสร้างความตระหนักผ่านช่องทางออนไลน์
ความขัดแย้งนอกจากเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการบริการสุขภาพของผู้ป่วยหลายคนแล้ว ยังสร้างความลำบากแก่เจ้าหน้าที่ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในการเข้าถึงผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางที่สุด และการนำความช่วยเหลือทางการแพทย์เข้าไปยังชุมชนนั้นๆ แม้แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อาศัยและทำงานในชุมชนก็ไม่สามารถเข้าถึงผู้คนในจุดที่ไกลที่สุดในละแวกที่โครงการของเราดำเนินการได้ ซึ่งสถานที่เหล่านั้นมีความตระหนักเพียงเล็กน้อยว่าความรุนแรงทางเพศและความใกล้ชิดของคู่ครองมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงและองค์การแพทย์ไร้พรมแดนมีโครงการดูแลปัญหาเหล่านี้
เม ผิ่ว (May Phyu)* จากรัฐฉาน เป็นหนึ่งในคณะพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยจากความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในคู่รัก กล่าวว่า "ผู้ป่วยหลายคนไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในคู่รัก บ้างก็ถูกล่วงละเมิดอยู่ทุกวันโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่เข้ามายังคลินิกเอง เพราะพวกเขารู้ว่าจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์หลังประสบเหตุดังกล่าว"
อีกเสียงสะท้อนที่เน้นย้ำถึงปัญหาดังกล่าวมาจากหัวหน้าโครงการขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในรัฐยะไข่ เกี่ยวกับดูแลด้านความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่า คนทั่วไปคิดว่ามันเป็น"เรื่องปกติ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีความรุนแรงในคู่รัก
เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยจากความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงระหว่างคู่รักได้รับการดูแลรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในลำดับแรกทีมงานขององค์การฯ จำเป็นต้องอธิบายให้พวกเธอเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นอย่างไร และเสริมสร้างความเข้าใจในชุมชนนั้นๆ เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย แนวทางการรักษาที่มี และการเข้าถึงบริการขององค์การฯ
เมื่อพูดถึงการให้ความรู้ด้านสุขศึกษา (health education - HE) ทีมงานขององค์การฯ ใช้วิธีการแจกแผ่นพับ กรณีบางคนไม่รู้หนังสือ ก็ใช้การจัดสัมมนาด้านสุขศึกษาในชุมชน อย่างไรก็ตาม ฉันมองว่าในโซเชียลมีเดียนั้นยังมีข้อมูลน้อยเกินไป สมัยนี้ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือใช้ ฉันว่ามันเป็นเรื่องที่ดีถ้าเราสามารถแชร์ความรู้สุขศึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในคู่รักผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียได้เม ผิ่ว (May Phyu)* พยาบาลวิชาชีพ
ในทศวรรษที่ผ่านมา ปริมาณผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากประมาณ 908,000 คน เป็น 23.9 ล้านคน โดยในจำนวนนี้มี 15 ล้านคนคือผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียเป็นประจำ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้งานผ่านเฟซบุ๊ก
นอกจากนี้ แม้ว่าประเทศเมียนมาจะอยู่ในอันดับรั้งท้ายตามการวัดดัชนีวัดความเป็นอยู่ที่ดีของสตรีครั้งล่าสุด (‘Women, Peace and Security’ index) แต่จำนวนสตรีที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือก็เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2560 นับเป็นร้อยละ 67.3 มาเป็นร้อยละ 90 ของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าหลายประเทศข้างเคียง เช่น ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศบังกลาเทศ โดยมีจำนวนร้อยละ 81 ร้อยละ 79 และร้อยละ 75 ของประเทศ ตามลำดับ
องค์การฯ เล็งเห็นการใช้ประโยชน์จากกระแสนิยมเหล่านี้ โดยใช้เฟซบุ๊กเพื่อให้ความรู้สุขศึกษา และเผยแพร่ความตระหนักเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรี รวมถึงปัญหาความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในคู่รัก แผนกิจกรรมดังกล่าวยังจะช่วยเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับบริการสุขภาพขององค์การฯ และเอื้อให้ผู้คนสามารถค้นหาคลินิกที่อยู่ใกล้ที่สุด โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง
โดยในไม่ช้าโครงการนี้ก็จะใช้โปรแกรมการสื่อสารออนไลน์ (โปรแกรมแชต) เพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้ป่วยกับผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์
ผู้ป่วยเข้ามายังคลินิกแห่งใหม่ที่เมืองบะมอ รัฐคะฉิ่น เพื่อทำการฝากครรภ์ โดยนี่เป็นการตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 ของเธอ - เมียนมา สิงหาคม 2566 © Zar Pann Phyu/MSF
แนวทางการทำงานแบบใช้ชุมชนเป็นฐาน
แม้ว่าการให้ความรู้ด้านสุขศึกษาผ่านทางออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กขององค์การฯ จะเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้เป็นการทั่วไป แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ยังต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะในบริบทของประเทศที่มีข้อจำกัดและมีความอันตรายในการเดินทาง ดร. นูร ไรน์แบร์ค (Dr Noor Rijnberg) ผู้ดำเนินงานด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ เล่าถึงความมุ่งหมายของทีมงานด้านความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในคู่รักในเมียนมาว่า "เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น และเพื่อให้มั่นใจว่าผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจะสามารถเข้าถึงได้ด้วย หากไม่สามารถทำได้ก็ยังต้องปรับกระบวนกิจกรรมให้สอดคล้องในส่งมอบการรักษาให้แก่ชุมชนนั้นๆ เป็นอย่างดีที่สุด"
คลินิกขององค์การฯ ทุกแห่งในเมียนมา ให้บริการสุขภาพด้านอนามัยการเจริญพันธุ์สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในคู่รัก เมื่อไม่นานมานี้ที่เมืองบะมอ ทางองค์การฯ ได้จัดตั้งคลินิกเฉพาะทางแห่งใหม่เพื่อให้การดูแลด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ ปัญหาความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในคู่รัก ซึ่งล้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกละเลยโดยเฉพาะในหมู่ผู้พลัดถิ่นซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่
การลงทุนอย่างยั่งยืนเหล่านี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการชี้ประเด็นปัญหาความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในคู่รัก ท่ามกลางวิกฤตภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมียนมา