เคนยา: หนึ่งวันกับการลงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวจากภาวะทับซ้อนจากโรคหัด มาลาเรีย และภาวะทุพโภชนาการ
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยวัย 10 ขวบ ไปตรวจสอบโรคมาลาเรียระหว่างกิจกรรมการช่วยเหลือทางการแพทย์ในแผนกคนไข้ที่หละดาค (Lodakach) ตำบลทางตะวันตกของมณฑลเธอร์คานา (Turkana) เคนยา กรกฎาคม 2566 © Lucy Makori/MSF
การบริการทางการแพทย์เพื่อช่วยชีวิตประชากรในหมู่บ้านที่ห่างไกลมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ที่อาศัยอยู่ห่างจากสถานบริการสาธารณสุข ในเดือนมีนาคม 2566 มณฑล Turkana (เทอร์คานา) ประกาศภาวะระบาดของโรคหัดหลังจากที่พบกรณีมีผู้ป่วยติดเชื้อและมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 8 ราย นอกจากนี้ ชุมชนหลายแห่งยังคงต่อสู้กับโรคระบาดมาลาเรียที่เรื้อรัง
ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา MSF ร่วมกับทีมงานจากตำบลทางตะวันตกของ Turkana ต่อสู้กับภัยคุกคามทั้งจากโรคหัดและโรคมาลาเรียด้วยการฉีดวัคซีนให้ประชาชนครั้งใหญ่ การบริหารจัดการกรณีผู้ป่วยแบบบูรณาการ การรักษาพยาบาลในสถานบริการสาธารณสุข 2 แห่งและการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการแพทย์ที่จำเป็นในระดับชุมชน เด็กจำนวน 26,862 คน ได้รับการฉีดวัคซีนตามการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดครั้งใหญ่ในตำบลที่มีอาณาเขตกว้างขวาง ซึ่งสามารถเข้าถึงชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลกว่า 170 กิโลเมตร ร่วมกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วม การตระหนักรู้ถึงภัยและการเฝ้าระวังภายในชุมชนด้านสาธารณสุข
ทีมงานจากองค์การแพทย์ไร้พรมแดนบรรจุกล่องเก็บความเย็นและกล่องเก็บวัคซีนขึ้นรถสำหรับกิจกรรมรณรงค์ฉีดวัคซีนที่ Kakuma (คาคูมะ) เคนยา กรกฎาคม 2566 © Lucy Makori/MSF
ครอบครัว Ekope (เอโคเพ) จากหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน Lodakach เป็นหนึ่งในครอบครัวที่ต้องเผชิญกับหายนะของโรคเหล่านี้
เราได้พบกับ Hellen Adir (เฮลเลน อะเดอร์) ในแผนกผู้ป่วยที่ Lodakach เธอกำลังกลุ้มใจกับปัญหาทางสุขภาพของลูกสองคนจากทั้งหมดสามคน ได้แก่ Ekidor Ekope (เอคิดอร์ เอโคเพ) บุตรชายอายุ 2 ขวบและ Abenyo Ekope (อาเบนโย เอโคเพ) บุตรสาวอายุ 10 ปีที่ติดตามเธอมาที่ศูนย์บริการทางการแพทย์ อาเบนโยมีอาการอ่อนแรงระหว่างเข้ารับการคัดแยกผู้ป่วย แสงแดดที่แผดเผาทำให้อาการของเธอทรุดลงไปอีก
“น้องเริ่มปวดข้อ ปวดท้อง และปวดขา ฉันเลยมาหายาให้ เพราะฉันคิดว่าน้องน่าจะติดโรคมาลาเรีย” เฮลเลนอธิบาย “2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ชีวิตฉันวุ่นวายมาก ลูกป่วยตามๆ กัน ส่วน Longem Ekope (ลองเจม เอโพเค) ลูกชายวัย 5 ขวบที่อยู่บ้านกำลังฟื้นตัวจากโรคหัดและมาลาเรีย ฉันได้พาเขาไปที่สถานีอนามัย Lopur เพื่อรับการรักษาเมื่ออาทิตย์ก่อนนี้เอง”
มารดาป้อนอาหารเสริมให้กับลูกชายวัย 2 ขวบ หลังการตรวจสุขภาพที่ Lodakach ชึ่งเขามีภาวะทุพโภชนาการอย่างรุนแรง พี่น้องของเธอต่างก็ติดโรคหัดและโรคมาลาเรียเช่นกัน เคนยา กรกฎาคม 2566 © Lucy Makori/MSF
Nancy Gichiki (แนนซี่ กิชิกิ) แพทย์ของ MSF ตรวจอุณหภูมิร่างกายอาเบนโยแล้วพบว่ามีไข้สูง สอดคล้องกับสิ่งที่เธอพบในเด็กและผู้ใหญ่ระหว่างกิจกรรมให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ เธอสังเกตเห็นผดผื่นบริเวณใบหูของอาเบนโยและบอกเธอให้อ้าปากเพื่อตรวจลำคอว่าอักเสบหรือไม่ อาการดังกล่าวทำให้แน่ใจว่าเธอติดโรคหัด จากนั้นก็เป็นการตรวจโรคมาลาเรียเพราะเธอบ่นว่าปวดเมื่อยร่างกาย ผลปรากฏเป็นบวกซึ่งเราต้องเริ่มการรักษาเธอในทันที
รายงานระบุว่าอาเบนโยเป็นหนึ่งในผู้ป่วย 451 รายที่ติดโรคหัดและเป็นหนึ่งในผู้ป่วย 1475 รายที่ตรวจพบโรคมาลาเรียเพียงแค่ตำบลทางตะวันตกของ Turkana ตำบลเดียว โรคเหล่านี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนชรา ในช่วงเวลาที่ทุกคนต่างต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ แสงแดดร้อนระอุก็ไม่อาจขัดขวางผู้ป่วยในการเดินทางมาเข้ารับบริการ ผู้ป่วยบางคนนอนใต้ต้นไม้ที่ไร้ร่มเงาเพื่อบรรเทาความร้อน ทุกคนต่างกำลังรอรับการรักษา ผู้ป่วยชราส่วนมากบ่นถึงอาการปวดข้อ ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่าห้าขวบปรากฎอาการของโรคมากที่สุด
ไม่เพียงเท่านั้นผู้คนในชุมชนชนบทยังต้องดิ้นรนกับภัยแล้งที่ทำลายล้างโดยไม่ทันได้เตรียมตัวอีกด้วย ผลกระทบที่รุนแรงเกิดขึ้นชัดเจนในส่วนของเด็ก สตรีมีครรภ์ และมารดาที่ต้องให้นมบุตร พวกเขาต่างอยู่ในสภาวะขาดสารอาหาร ความเป็นอยู่ที่ไร้ความหวังนั้นเกิดจากปศุสัตว์ที่ล้มตาย ขณะนี้หลายคนดิ้นรนที่จะกักตุนอาหารให้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวของตน
นักโภชนาการจากองค์การแพทย์ไร้พรมแดนวัดเส้นรอบจุดกึ่งกลางแขน (Mid-Upper Arm Circumference – MUAC) ของเด็กเพื่อช่วยชี้วัดกรณีการขาดสารอาหารระหว่างการให้บริการทางการแพทย์ที่ห้องผู้ป่วยใน Lodakach © Lucy Makori/MSF
เอคิดอร์บุตรอายุสองขวบของเฮลเลนมาประเมินภาวะโภชนาการและได้รับอาหารเสริมเป็นplumpy nuts (พลัมพีนัท) สำหรับ 2 สัปดาห์จาก Phinnah Botta (ฟินนาห์ บอททา) นักโภชนาการของ MSF สำหรับกรณีภาวะทุพโภชนาการอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน ทีมงานทางการแพทย์ของ MSF เตรียมการตรวจคัดกรองโรคขาดสารอาหารสำหรับกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กวัย 9 เดือนถึง 5 ขวบ สตรีมีครรภ์ และมารดาที่ต้องให้นมบุตรระหว่างกิจกรรมการช่วยเหลือทางการแพทย์และที่สถานีอนามัย ทั้งนี้จะมีการส่งตัวผู้ป่วยตามอาการไปยังสถานีสาธารณสุขที่ใกล้เคียงเพื่อติดตามอาการและตรวจสอบความคืบหน้าต่อไป
ทีมงานภาคสนามจะคอยถามผู้ปกครองเสมอว่า “มีเด็กที่บ้านป่วยบ้างหรือไม่? ถ้าหากมี โปรดนำพวกเขามารักษา” คุณพ่อกำลังทุกข์ใจตอบว่า “ผมมีแรงไม่พอที่จะอุ้มลูกชายอีกคนมา เขาหนักและอ่อนแอเกินไป ยังดีที่ผมสามารถปั่นจักรยานช้าๆ เพื่อพาอีกลูกคนหนึ่งมาที่ศูนย์ได้” เราจะไม่ยอมให้เด็กคนไหนไม่ได้รับวัคซีนโรคหัดหรือไม่ได้รับการรักษาโรคมาลาเรีย ทีมงานรับฟังและขอให้เขาพาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพประจำชุมชนไปที่บ้าน ท้ายที่สุดเราก็ไปถึงพร้อมกับรับเด็กชายตัวน้อยมารักษาต่อไป
ผู้ป่วยรอรับคำปรึกษาทางการแพทย์อยู่นอกสถานีอนามัยใน Lopur ทั้งนี้ องค์การแพทย์ไร้พรมแดนยังได้สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขของ Turkana ในการบริหารจัดการผู้ป่วยโรคหัดและโรคมาลาเรียที่สถานีอนามัย 2 แห่งใน Lopur ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งมีรายงานว่าห้องผู้ป่วยใน Lopur เป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโรคหัดและโรคมาลาเรียสูงที่สุด เคนยา กรกฎาคม 2566 © Lucy Makori/MSF
เรากำลังแจกจ่ายมุ้งอย่างไม่ย่อท้อเฉกเช่นเดียวกับการรักษาผู้ป่วย MSF ได้แจกจ่ายมุ้งจำนวน 8,403 หลังซึ่งสามารถเข้าถึงเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี สตรีมีครรภ์ และมารดาที่ต้องให้นมบุตร ครอบครัวของเอกิดอร์ได้รับมุ้งเพื่อป้องกันเขาและพี่น้องที่กำลังฟื้นตัวจากยุง
ภายในเพียงวันเดียวเท่านั้น ทีมงานได้ให้คำปรึกษาทางการแพทย์กว่า 100 เคสใน Lodakach และ 1,466 เคสที่สถานีสาธารณสุขและศูนย์ให้บริการทางการแพทย์