Skip to main content

    การเข้าร่วมองค์การแพทย์ไร้พรมแดน: ความสุขในการช่วยเหลือผู้อื่น

    An MSF nurse seen with colleagues in Sierra Leone

    © MSF

    พยาบาลอีไลซากล่าวว่า ถ้าเธอจะเป็นพยาบาลในประเทศโลกที่หนึ่งและประเทศพัฒนาแล้วแบบสบายๆ ต่อไปก็ง่ายดี แต่ความปรารถนาของเธอคือการช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก

    An MSF nurse treats a patient in Sierra Leone

     © MSF 

    ถึงแม้ผู้ป่วยทุกคนก็ป่วยเหมือนกัน แต่ฉันอยากช่วยเหลือคนที่เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขมากกว่า ...ฉันได้เจอจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าและมีความสุขมากกว่า เมื่อฉันเข้ามาร่วมภารกิจด้านการแพทย์และเชื่อมสัมพันธ์กับคนท้องถิ่น
    อีไลซา จาง

    ปัจจุบันอีไลซาอยู่ในประเทศเซาท์ซูดาน รับหน้าที่เป็นผู้จัดการกิจกรรมการพยาบาลให้ MSF มาเก้าเดือนแล้ว

    อีไลซาเล่าถึงงานของเธอที่ MSF ว่าเธอได้ร่วมงานกับกลุ่มคนที่น่าทึ่งมาก และความท้าทายที่ต้องทำงานในถิ่นทุรกันดารซึ่งผู้คนมีโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้น้อยมากเป็นแรงกระตุ้นให้เธอสู้ต่อไปเพื่อเป้าหมายด้านมนุษยธรรมของเธอเอง

    ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งมาเลเซียเล่าว่า งานภาคสนามงานแรกของเธอกับ MSF ในประเทศเซียร์ราลีโอนซึ่งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่มาก

    เธอเล่าว่าแม้เธอจะโตในมาเลเซียซึ่งมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ แต่การทำงานกับคนจากประเทศต่างๆ ที่มีวัฒนธรรมต่างกันก็ยังเป็นเรื่องท้าทาย 

    “สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นธรรมชาติหรือเหมาะสมสำหรับเราอาจไม่ใช่สำหรับคนอื่น และสิ่งที่เรามองคนอื่นก็เช่นกัน ฉันจึงต้องเรียนรู้การพูดตรงๆ มากขึ้นเพื่อสื่อสารสิ่งที่ฉันคิด และไม่คาดหวังให้ใครเข้าใจคนอื่นโดยไม่ต้องพูดกัน” เธอเล่า

    เธอเล่าว่าการเดินทางไปเยี่ยมคลินิกและโครงการช่วยเหลือชาวบ้านเป็นประจำบนถนนที่มีหินขรุขระและดินโคลนเป็นเรื่องลำบากมาก
    “บางทีก็ต้องไปด้วยรถจักรยานยนต์เท่านั้น” 

    “ตอนไปเยี่ยมคลินิกกับโครงการช่วยเหลือชาวบ้าน ฉันปวดกล้ามเนื้อกับเป็นแผลฟกช้ำบ่อยมาก และต้องเดินทางไปกลับสี่ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น” เธอเล่า
    แต่เธอกล่าวว่าแม้การเดินทางจะลำบาก เธอก็ยังตั้งใจจะไปให้ถึงชุมชน หลังจากได้เห็นว่าชาวบ้านต้องเดินเท้าหลายชั่วโมงกว่าจะไปถึงสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และไม่ใช่ทุกคนที่จะไปถึงได้ทันเวลารับการรักษา

    “มันทำให้ฉันตระหนักว่าฉันโชคดีแค่ไหนที่ได้เกิดและอยู่ในประเทศที่เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่าย”

    เธอเสริมว่า “ฉันเข้าใจคำกล่าวนี้ลึกซึ้งเลย “อาจจะมีคนอื่นสวดมนต์ขอสิ่งที่คุณมองไม่เห็นความสำคัญอยู่ก็ได้”

    อีไลซายังได้ร่วมงานกับ MSF ในทีมรับมือโควิด-19 ในฮ่องกง ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมแรกๆ ที่ให้บริการความรู้ด้านสุขภาพแก่กลุ่มผู้เปราะบางต่อโรค และต่อมาเธอก็ช่วยบริหารงานสนับสนุนและเวิร์กช็อปด้านสุขภาพจิตด้วย

    เกรซ ลู ฝาแฝดของอีไลซาเองก็มีความมุ่งมั่นแบบเดียวกันในการทำงานเพื่อมนุษยธรรม

    “เกรซกำลังรอรับปริญญาอยู่ที่ออสเตรเลีย พอทุกอย่างเรียบร้อย เธอก็จะมาทำงานกับ MSF ในปีหน้า”

    เรื่องที่น่าสนใจก็คือ อีไลซากับเกรซไม่ได้โตมาด้วยกัน ทั้งคู่แยกจากกันตั้งแต่เกิดและไปโตอยู่คนละที่

    พ่อแม่แท้ๆ ของแฝดคู่นี้ต้องยกลูกสาวทั้งสองให้คนอื่นไปเพราะขัดสนเรื่องเงิน จางจึงไปอยู่กับครอบครัวใหม่ที่เมืองราอุบในมาเลเซีย ส่วนลูไปอยู่กับครอบครัวใหม่ในสิงคโปร์

    แต่ในที่สุดทั้งสองก็ได้กลับมาติดต่อกันเมื่อเจ็ดปีก่อน หลังจากตามหากันผ่านเฟซบุ๊กจนเจอ

    “เกรซกับฉันมีความปรารถนาเหมือนกันคืออยากช่วยคนที่ลำบากกว่าเรา ซึ่งเราคิดมาตั้งแต่ก่อนจะเจอกันเสียอีก และเราสัญญากันว่าจะมาทำงานด้วยกันที่ MSF จะได้เป็น ‘แฝดไร้พรมแดน’ แบบเก๋ๆ” เธอกล่าว