Skip to main content

    มาเลเซีย: ผู้ลี้ภัยแบ่งปันประสบการณ์และเรื่องราวท้าทาย

    refugees talk about positive experience in malaysia

    เสียงแห่งการฟื้นคืนชีพ: ผู้ลี้ภัยที่กล้าหาญทั้ง 4 คน แบ่งปันเรื่องราวการอยู่รอดและความหวัง โดยเฉพาะความท้าทายและชัยชนะแห่งชีวิตที่พวกเขาได้รับในมาเลเซีย

    เรื่องราวเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและการปรับตัวของพวกเขา รวมถึงความมีน้ำใจของชาวมาเลเซียในพื้นที่ซึ่งช่วยให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากมาได้  

    Abu Bakkar

    Abu Bakkar ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาวัย 36 ปีจากเมียนมาแบ่งปันเรื่องราวการเดินทางและความยากลำบากของเขาที่ต้องประสบระหว่างมาถึงที่มาเลเซียเมื่อปี 2013 เขาเล่าว่าช่วงเดือนแรกๆ เป็นเวลาที่ยากลำบากมาก เพราะเขาไม่สามารถหาสิ่งของจำเป็น และยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากชุมชนท้องถิ่น Abu Bakkar จึงเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ได้ในที่สุด  

    ในที่สุดผมก็ค่อยๆ กลายเป็นเพื่อนบ้านที่ดีในชุมชนที่อาศัยอยู่ ชาวบ้านช่วยเหลือผมเป็นอย่างดี พวกเขาจัดหาอาหารให้ผม ซึ่งช่วยได้มากเขากล่าวอย่างซาบซึ้ง  

    เขายังบอกด้วยว่าไม่ได้อยากเป็นผู้ลี้ภัย แต่สถานการณ์บีบบังคับให้เขาต้องเป็นสำหรับผม ผมมาที่นี่เพื่อรักษาชีวิต ในเมียนมาครอบครัวของผมไม่ได้ยากจน มีธุรกิจ มีงานทำ มีบ้าน สิ่งเดียวที่ผมต้องการคือการกลับบ้านเกิดและได้กลับไปอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง” 

    แต่ตอนนี้เขายังทำให้แค่เพียงเฝ้าฝันถึงวันที่เขาจะได้มีโอกาสกลับภูมิลำเนา

    Abu Bakkar
    ถ้ายังอยู่ที่เมียนมาผมคงไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ผมมาที่นี่เพื่อลี้ภัยและอยากขอบคุณชาวมาเลเซียที่จิตใจดี
    Abu Bakkar ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

    Hajrah

    Hajrah วัย 19 ปี เป็นผู้ลี้ภัยที่เกิดในมาเลเซียโดยพ่อแม่เป็นชาวโรฮิงญา เธอบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการปรับตัวของทางครอบครัว  

    ครอบครัวของฉันอยู่ในมาเลเซียมา 30 ปี เราหนีภัยจากเมียนมาเพราะปัญหาความขัดแย้งเธออธิบายระหว่างเล่าเรื่องเป็นภาษามาเลย์อย่างคล่องแคล่ว    

    Hajrah เผชิญความยากลำบากหลายอย่าง ทั้งการหย่าร้างของพ่อแม่และปัญหาด้านการเงิน แต่ถึงอย่างไรเธอก็ยังได้รับน้ำใจอันอบอุ่นจากบรรดาเพื่อนบ้านชาวมาเลเซีย  

    Hajrah
    วันหนึ่งเพื่อนบ้านของฉันซึ่งเป็นหญิงสูงวัยออกปากว่าจะช่วยเราจ่ายค่าเช่าบ้านที่ค้างจ่ายมานานถึง 5-6 เดือนแล้วในตอนนั้น ฉันซาบซึ้งมากและจะไม่มีวันลืมน้ำใจของเธอเลย
    Hajrah ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

    เธอบอกว่าในเวลานั้นครอบครัวของเธอไม่มีหนทางในการหาเงินมาจ่ายค่าเช่าบ้านเดือนละ 300 ริงกิต (ประมาณ 2,250 บาท) ได้ ซึ่งอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าประทับใจเกิดขึ้นเมื่อเพื่อนบ้านเสนอตัวจะช่วยซื้อชุด baju raya ที่เป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติกับรองเท้าให้ในช่วงเทศกาลนั่นเป็นเรื่องที่ชุ่มชื่นหัวใจและน่ายินดีที่สุดสำหรับฉัน และฉันจะไม่มีวันลืมเธอกล่าว 

    Muhib

    Muhib ที่เดินทางมาถึงยังมาเลเซียเมื่อ 10 ปีก่อน เล่าประสบการณ์ในฐานะผู้ลี้ภัยที่หลบหนีความรุนแรงออกจากเมียนมา 

    เมื่อกล่าวถึงชีวิตใหม่ Muhib บอกว่าพวกเราผู้ลี้ภัยใช้ชีวิตในแต่ละวันและอาศัยพักพิงอยู่ที่นี่ บางคนที่ไม่ดีต่อเราก็มี แต่คนที่ดีต่อเราก็พร้อมช่วยเหลือเราเสมอ 

    แม้จะเผชิญอุปสรรคและปัญหาด้านสิทธิต่างๆ แต่ Muhib ยังคงรู้สึกขอบคุณประเทศมาเลเซีย

    Muhib
    ที่นี่คือประเทศที่ผมลี้ภัยอยู่ ผมขอบคุณประชาชนของประเทศนี้ พวกเขาต่างเป็นผู้คนที่มีจิตใจดี
    Muhib ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

    Muhib เล่าย้อนถึงช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรงซึ่งทำให้ทางการประกาศคำสั่งจำกัดการเดินทางในมาเลเซีย แต่ในเวลานั้นชาวโรฮิงญาก็ยังคงได้รับอาหารที่ชาวบ้านในท้องถิ่นแจกจ่ายมาให้แก่บรรดาชาวโรฮิงญาซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน 

    แม้จะมีประสบการณ์เชิงบวก แต่ Muhib แนะนำผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ให้หลีกเลี่ยงการเลือกเดินทางมาที่มาเลเซีย เนื่องจากปัญหาการเข้าถึงการดูแลพื้นฐานที่ยากลำบาก เขาบอกว่าเขาเข้าใจดีว่าทำไมบางคนจึงรู้สึกต่อต้านผู้ลี้ภัยการมาอยู่ที่นี่ 1-2 วันคงไม่เป็นอะไร แต่เมื่อกลายเป็น 3-5 วัน และเป็นเดือน หรือ 3 เดือน จากนั้น 1 ปี หรือ 10 ปี แน่นอนว่าผมเองก็คงไม่ชอบเหมือนกันเขากล่าว 

    “ถ้าผมเป็นคนท้องถิ่นคงรู้สึกเหมือนกันว่าทำไมคนเหล่านี้มารบกวนประเทศของผม ทำไมมาเป็นภาระ แต่โชคไม่ดีที่เราไม่มีทางเลือก” เขากล่าวพร้อมย้ำว่าการเดินทางมาที่มาเลเซียเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตของเขาเอาไว้  

    Shehnaz

    Shehnaz เดินทางมาที่มาเลเซียเมื่อปี 2015 และเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในฐานะผู้ลี้ภัยที่ต่างออกไปเล็กน้อย เธอเดินทางเข้ามาผ่านเที่ยวบินระหว่างประเทศ ต่างจากชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ที่โดยสารเรือมา  

    ฉันเกิดและโตในรัฐยะไข่ของเมียนมา และมาถึงที่มาเลเซียในปี 2015 อันดับแรกฉันต้องหนีออกจากเมียนมาไปบังกลาเทศ อยู่ที่นั่นนาน 9 เดือนและเตรียมเอกสารต่างๆ เพื่อเดินทางไปมาเลเซีย” Shehnaz เล่า

    Shehnaz สนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเอง เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในหมู่คนท้องถิ่นได้

    หญิงสาววัย 25 ปีคนนี้พูดคุยกับคนพื้นที่ซึ่งคิดว่าโรฮิงญาเป็นประเทศ ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ เธอเล่าถึงความเข้าใจที่ผิดๆ ซึ่งสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ผ่านการพูดคุยอย่างเปิดกว้าง

    Shehnaz
    ฉันไม่ตำหนิคนที่นี่หากพวกเขาไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับพวกเรา แต่สิ่งที่ฉันอยากขอคือให้พวกคุณเปิดใจเพื่อทำความรู้จักพวกเรา
    Shehnaz ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

    เธอเรียกร้องและเน้นย้ำเรื่องความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมถึงการตระหนักรู้ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ลี้ภัยมีชีวิตที่เรียบง่ายมากขึ้นและสงบสุขขึ้นได้

    ในมาเลเซีย องค์การแพทย์ไร้พรมแดนให้บริการด้านสุขภาพที่สำคัญทั้งบริการสุขภาพพื้นฐาน การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต และยังช่วยรับมือกับปัญหาความรุนแรงทางเพศในหมู่ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยมาตั้งแต่ปี 2015 โดยในปี 2018 องค์การแพทย์ไร้พรมแดนตั้งคลินิกถาวรขึ้นที่ Butterworth ซึ่งช่วยเหลือผู้ป่วยได้เดือนละ 900-1,000 คน นอกจากนี้ยังเปิดคลินิกเคลื่อนที่ในปีนังและจัดกิจกรรมตามศูนย์กักกันต่างๆ ร่วมด้วย