Skip to main content

    นวัตกรรม: เมื่อ AI ช่วยพัฒนาการวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก

    Patient during chemotherapy session at Queen's Elizabeth Central Hospital. Malawi, December 2022. © Diego Menjibar

    "ก่อนที่ฉันจะเริ่มเข้ารับการรักษา ฉันรู้สึกเจ็บปวดมากถึงขนาดกินหรือนอนไม่ได้ในตอนกลางคืน แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ฉันรู้สึกดีขึ้นมาก" ผู้ป่วยคนหนึ่งกล่าวระหว่างเข้ารับการทำเคมีบำบัดที่ Queen's Elizabeth Central Hospital มาลาวี ธันวาคม 2022 © Diego Menjibar

    หนึ่งในเหตุผลที่จะอธิบายว่า อะไรคือปัจจัยที่นำไปสู่อัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศที่มีรายได้น้อย คือเรื่องของข้อจำกัดในการเข้าถึงการป้องกันและการตรวจคัดกรอง ไปจนถึงการตรวจวินิจฉัยที่ไม่แม่นยำ

    Clara Nordon ผู้อำนวยการมูลนิธิองค์การแพทย์ไร้พรมแดม ซึ่งเพิ่งกลับมาจากการลงพื้นที่ในมาลาวีกับทีมปฏิบัติการขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน อธิบายถึงโครงการรหัส AI4CC ของทางมูลนิธิ

    Clara คุณช่วยถอดรหัสและเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับโปรเจกต์ที่กำลังดำเนินงานอยู่ในขณะนี้ได้ไหม

    "ได้สิ ที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดน ( MSF) เราชอบใช้คำย่อกันมาก ซึ่ง AI4CC ย่อมาจาก Artificial Intelligence for Cervical Cancer โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว 

    เรามีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกใหม่ ให้สามารถตรวจพบได้ก่อนที่จะถึงระยะลุกลาม เพราะถ้าตรวจพบไว เราก็จะสามารถดำเนินการรักษาได้อย่างทันท่วงทีที่สถานพยาบาล และแน่นอนว่าจะเจ็บน้อยกว่าเนื่องจากใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที เราจึงห้ามปล่อยให้โอกาสที่สำคัญเหล่านี้หลุดมือไปโดยเด็ดขาด

    3 ขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่ การคัดกรองที่มากขึ้น เร็วขึ้น และแม่นยำยิ่งขึ้น

    ดังนั้น เราจึงทำการทดสอบด้วย PCR ที่แม่นยำยิ่งขึ้นในราคาย่อมเยา ผ่านการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งถ้าเราทำสำเร็จจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและช่วยชีวิตผู้หญิงจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้

    เราจำเป็นต้องจินตนาการว่า การใช้ชีวิตด้วยการเป็นมะเร็งปากมดลูกในมาลาวีเป็นอย่างไร การขาดทางเลือกในการรักษา ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น และการถูกปฏิเสธในบางกรณี นี่คือสิ่งที่หลายครอบครัวต้องประสบพบเจอในประเทศที่ผู้ใหญ่ราวร้อยละ 10 ติดเชื้อเอชไอวี"

    การอธิบายข้อเท็จจริงที่ว่าผู้หญิงจำนวนมากยังคงเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกในมาลาวีและในประเทศกำลังพัฒนาระดับกลาง-ล่างจำนวนมากเป็นอย่างไร ในขณะที่ประชาชนในประเทศที่มีรายได้สูงสามารถป้องกันโรคนี้ได้ง่ายและมีโอกาสได้รับอันตรายถึงชีวิตน้อยกว่า

    “ประการแรก การเข้าถึงวัคซีน HPV ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในวัคซีนที่สามารถป้องกันมะเร็งชนิดร้ายแรงได้ก็ตาม ประการที่สอง วิธีการตรวจคัดกรองในปัจจุบันซึ่งอาศัยการประเมินปากมดลูกด้วยสายตานั้นไม่น่าเชื่อถือ แม้ว่าวิธีการนี้จะไม่แพงและมีข้อดีคือสามารถดำเนินการได้ทันทีในสถานพยาบาล แต่ก็อาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดในการแปลผลได้ หมายความว่า ผู้หญิงที่ได้รับการตรวจคัดกรองอาจกลับมาเข้ารับการรักษาอีกครั้งในอีกหลายปีต่อมาด้วยโรคมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาได้อีกต่อไป

    บ่อยครั้งที่ทีมองค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้เข้าไปมีส่วนช่วยดูแลผู้หญิงที่ไม่มีทางเลือกในการรักษาอีกต่อไป ซึ่งอาจเป็นการสร้างภาระให้กับเจ้าหน้าที่พยาบาลอีกด้วย

    เราต้องหาทางปรับปรุงกลยุทธ์การคัดกรองและลดช่องว่างเหล่านี้ มะเร็งนี้เกิดจากไวรัส และเราต้องนึกถึงการต่อสู้ครั้งนี้เหมือนกับที่เรานึกถึงการต่อสู้กับโรคระบาด การฉีดวัคซีนและการวินิจฉัยอย่างแม่นยำ คือ สิ่งที่เราสามารถทำได้ดีที่สุด"

    จุดเริ่มต้นของโครงการ

    "เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ องค์การแพทย์ไร้พรมแดนตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันและการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงคุณภาพการตรวจคัดกรอง แต่เมื่อมีความเห็นไม่ต้องตรงกันแม้แต่ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ พื้นที่สำหรับการปรับปรุงก็มีจำกัด

    เมื่อต้นปี 2020 แผนกการแพทย์แจ้งให้เราทราบถึงผลงานการวิจัย ซึ่งตีพิมพ์โดย Journal of the National Cancer Institute ที่เน้นถึงศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายเพื่อปรับปรุงการตรวจคัดกรองโรคในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ฉะนั้นจากประสบการณ์ของเรากับ Antibiogo เราจึงตัดสินใจที่จะสานต่อการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในโครงการนี้ต่อไป 

    Pauline Choné ที่ปรึกษาของมูลนิธิองค์การแพทย์ไร้พรมแดน ยินดีที่จะริเริ่มโครงการนี้กับเรา นอกจากนี้ เรายังได้มีการติดต่อ Mark Schiffman ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาระดับโมเลกุลที่ศึกษา HPV มานานกว่า 35 ปี ไปจนถึง Charlotte Ngo ที่ปรึกษาด้านเนื้องอกวิทยาขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ซึ่งหลังจากที่พวกเราปรึกษาหารือเกี่ยวกับภารกิจในมาลาวีด้วยกัน ทุกคนก็ให้ความร่วมมืออย่างแข็งขัน ต้องยอมรับว่าหากไม่มีพวกเขา เราคงทำอะไรไม่ได้มาก

    ในระยะแรก เราตกลงที่จะปรับปรุงผลลัพธ์จากอัลกอริทึมให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการใช้ประโยชน์จากคลังภาพปากมดลูกที่เก็บรวบรวมโดยองค์การแพทย์ไร้พรมแดน และสร้างเครื่องมือคำอธิบายภาพประกอบที่ "เหมาะสม" จากมุมมองของแพทย์ โดยได้รับความร่วมมือจาก KTH (Royal Institute of Technology ในสวีเดน) ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้ระยะเวลากว่า 1 ปี 

    ในลำดับต่อไป เราจึงมุ่งหน้าไปที่ความพยายามทั้งหมดของเราในการสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการ และเชื่อมโยงระบบต่างๆ เข้ากับทีมองค์การแพทย์ไร้พรมแดนในมาลาวี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาวิจัยผู้หญิง 100,000 คนทั่วโลก เพื่อประเมินแนวทางใหม่ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

    ด้วยความช่วยเหลือจากทีมองค์การแพทย์ไร้พรมแดนในมาลาวี ซึ่งเป็นแนวหน้าในโครงการนี้ และจากการตรวจสอบของคณะกรรมการจริยธรรมขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนและหน่วยงานของมาลาวี เราตั้งเป้าที่จะให้ผู้หญิงชาวมาลาวี 10,000 คนเข้าร่วมในกระบวนการศึกษาวิจัยด้วย เนื่องจากผลลัพธ์ในครั้งนี้อาจช่วยให้เราปรับปรุงการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างก้าวกระโดด"

    แนวทางการรักษารูปแบบใหม่นี้คืออะไร และจะช่วยเปลี่ยนสถานการณ์หายนะในปัจจุบันเกี่ยวกับโรคมะเร็งนี้อย่างไร

    "การศึกษานี้พิจารณาจาก 2 นวัตกรรมหลักๆ คือ

    • การตรวจคัดกรองอย่างเป็นระบบผ่านการทดสอบ PCR ซึ่งจะคัดแยกผู้หญิงและระบุผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อ HPV ที่มีความเสี่ยงสูง (ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะพัฒนาเป็นมะเร็ง) ซึ่งเป็นไปได้ด้วยเทคโนโลยีการตรวจแบบใหม่ที่เร็วกว่าและราคาไม่แพง (กระทรวงสาธารณสุขจะขยายต่อไปการตรวจคัดกรองดังกล่าวไปยังพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต)
    • ปรับปรุงการประเมินภาพถ่ายด้วย AI

    ตลอดระยะเวลาของการศึกษานี้ เราจะทำ VIA และเก็บภาพถ่ายของปากมดลูกสำหรับสตรีที่ติดเชื้อ HPV+ และเชื่อมโยงสถานะผ่านการตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมภารกิจจึงมีห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยากายวิภาคเต็มรูปแบบ

    ข่าวดีก็คือ ก่อนที่ผลการศึกษาจะพร้อมใช้งาน เราจะพัฒนาให้กระบวนการคัดกรองมีความแม่นยำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากการทดสอบ PCR อย่างเป็นระบบ"

    เหตุใดมูลนิธิองค์การแพทย์ไร้พรมแดนจึงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา

    "บางคนอาจคิดว่าผู้หญิง 4,000 คน "ไม่ใช่ตัวเลขที่มากนัก" แต่เมื่อเรารู้ว่าในปี 2020 ผู้หญิงเกือบ 3,000 คนเสียชีวิต เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ ตัวเลขก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญเสมอไป และนั่นคือความคิดเห็นที่เราได้รับจากทีมงานภาคสนามที่บอกกับเรา ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเผชิญกับโรคที่ป้องกันได้ง่ายในพื้นที่อื่นๆ สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขอย่างเห็นได้ชัด

    บทบาทของเราคือทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในฐานะนักวิจัย เพื่อประเมินว่าเทคโนโลยีใดสามารถสนับสนุนแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ในสภาพแวดล้อมที่เปราะบางได้ด้วยวิธีที่ค่อนข้าง "เรียบง่าย" และตรงไปตรงมา และนำแนวทางปฏิบัติและเครื่องมือต่างๆ มาปรับใช้ งานหลักของเราคือการ "จัดตั้ง" โครงการโดยใช้ทรัพยากรที่ดีที่สุดที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอก ซึ่งหมายถึงการจัดแนวทางการทำงานร่วมกับคนหลายกลุ่มจากภูมิหลังและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน"

    ก้าวต่อไปของโครงการ

    "การศึกษาของเราเริ่มต้นขึ้นที่เมือง Blantyre ในเดือนพฤษภาคม 2023 ซึ่งจะใช้เวลาราว 12 เดือน และจะเป็นการปูทางไปสู่การการศึกษา PAVE ในอนาคต ซึ่งจะทราบผลการวิจัยในช่วงปลายปี 2024 (ในผู้หญิง 100,000 คน) หากได้ผลสรุป NCI จะแนะนำให้มีการส่งเสริมและใช้โปรโตคอลใหม่นี้อย่างแพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนาระดับกลาง-ล่างทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญในระดับโลก"