อินโดนีเซีย: การฝึกอบรมเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดอาเจะห์
ผู้ฝึกอบรมด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมอภิปรายผลกระทบของภัยพิบัติต่อสุขภาพจิต © A Putera Pratama Mangewa/MSF
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในอินโดนีเซีย (Indonesia) นั้น การเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ฉุกเฉินถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม และแผ่นดินถล่ม รวมไปถึงภัยที่เกิดจากมนุษย์หรือชุมชน เช่น ไฟไหม้หรืออุบัติเหตุขนาดใหญ่ อินโดนีเซียตั้งอยู่ในเขตวงแหวนแห่งไฟและมักเผชิญกับเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดวิกฤติต่อสุขภาพอย่างมหาศาล จนทำให้เกินขีดความสามารถของระบบสุขภาพท้องถิ่น การเตรียมความพร้อมช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานในเหตุฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดตัวเลขผู้บาดเจ็บและอุปสรรคในการบริการด้านสุขภาพ การเตรียมตัวนี้สำคัญอย่างยิ่งต่อการช่วยชีวิต คงไว้ซึ่งระบบสาธารณสุขที่ดี และการฟื้นฟูพื้นที่อย่างรวดเร็วในเขตที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ยังคงดำเนินงานในอินโดนีเซียด้วยความมุ่งมั่น โดยร่วมมือกับศูนย์วิกฤติด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำโครงการศูนย์ฉุกเฉิน (E-Hub) สำหรับการเสริมสร้างศักยภาพ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสในการศึกษาสำหรับผู้ที่ต้องรับมือกับวิกฤติด้านสุขภาพและภัยพิบัติ เพื่อพัฒนาศักยภาพของพวกเขาในปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพ เมื่อโครงการเริ่มขึ้นในปี 2566 การฝึกอบรมได้ครอบคลุมเขตพิเศษเมืองหลวง (Daerah Khusus Ibukota – DKI) กรุงจาการ์ตา (Jakarta) และจังหวัดบันเติน (Banten) ส่วนตั้งแต่ปี 2567 จนถึงปี 2569 องค์การฯ ได้วางแผนที่จะดำเนินการฝึกอบรมในจังหวัดอาเจะห์ (Aceh)ซูลาเวซีตะวันตก (West Sulawesi) และมะลูกู (Maluku) โดยจังหวัดเหล่านี้ถูกเลือกจากดัชนีความเสี่ยงของพื้นที่ต่อภัยพิบัติที่ยังคงมีทรัพยากรบุคคลที่จำกัดในการปฏิบัติงานใต้เหตุวิกฤติด้านสุขภาพ
ความร่วมมือเพื่อการฟื้นตัวหลังวิกฤติ
กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการริเริ่มการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยมีหนึ่งในเสาหลักคือการเป็นระบบสุขภาพที่ยืดหยุ่นและสามารถฟื้นตัวหลังวิกฤติได้อย่างดี วัตถุประสงค์คือการสร้างระบบสุขภาพที่แข็งแกร่ง สามารถลดความรุนแรง เตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค
เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในระบบการจัดการภัยพิบัติ คือการลดความเสี่ยงภัยพิบัติโดยการเพิ่มขีดความสามารถและเตรียมทรัพยากรบุคคลที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดตัวโครงการพัฒนากำลังสำรอง ซึ่งประกอบไปด้วยการฝึกอบรมทีมแพทย์ อีกทั้งบุคลากรด้านสุขภาพและด้านอื่นๆ ให้มีความพร้อมก่อนที่วิกฤติด้านสุขภาพจะเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้บุคคลที่ผ่านการฝึกอบรมนี้สามารถระดมกำลังไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
องค์การฯ ประจำอินโดนีเซีย กำลังเพิ่มขีดความสามารถของเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทั้งในระดับจังหวัดลงไปจนถึงระดับอำเภอเพื่อที่จะตอบสนองต่อเหตุวิกฤติได้อย่างมีประสิทธิภาพตามบันทึกความเข้าใจร่วมกับศูนย์วิกฤติด้านสุขภาพ ความร่วมมือนี้มีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสามารถของบุคลากรด้านสุขภาพให้ตอบสนองต่อวิกฤติด้านสุขภาพอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดอัตราการตายและการเจ็บป่วยได้ ท้ายที่สุดแล้วการดำเนินกิจกรรมนี้ก็เป็นหนึ่งของความพยายามในการสนับสนุนการปฏิรูประบบสุขภาพและเสริมสร้างความพร้อมและความสามารถในฟื้นตัวหลังวิกฤติด้านสุขภาพ
ภารกิจขององค์การฯ ในอาเจะห์
ในเดือนมิถุนายน องค์การฯ ประจำอินโดนีเซียได้ดำเนินการฝึกอบรมขั้นพื้นฐานในจังหวัดอาเจะห์ทั้งหมด 2 รุ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิกฤติสุขภาพ อนามัยสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข การอบรมเสริมสร้างขีดความสามารถของศูนย์ฉุกเฉินทั้ง 2 รุ่น สำเร็จไปด้วยดีในบันดา อาเจะห์ ซิตี้ (Banda Aceh City) ซึ่งครอบคลุม 4 ทักษะสำคัญด้านเหตุฉุกเฉินที่ปรับใช้ในบันเตินและเขตพิเศษเมืองหลวง กรุงจาการ์ตาในก่อนหน้านี้ รวมไปถึงการฝึกอบรมด้านการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม อนามัยสิ่งแวดล้อม ระบบสารสนเทศขั้นพื้นฐาน และการจัดการข้อมูลในภาวะฉุกเฉิน การฝึกอบรมจัดขึ้นนั้นมีทั้งหมด 8 บทเรียน แบ่งศึกษาใน 4 สถานที่ เพื่อรองรับผู้เข้าร่วมทั้งหมด โดยในแต่ละรุ่นมีผู้เข้าร่วม 235 คน จาก 17 อำเภอ เข้าร่วมการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 3 วัน
องค์การฯ ได้จัดการฝึกอบรมแก่ทั้งผู้เข้าอบรมภายในและผู้ดำเนินงานจากภายนอก จากหลากหลายองค์กรซึ่งประกอบไปด้วย ศูนย์วิกฤติด้านสุขภาพ สำนักงานสุขภาพจิต สำนักงานอนามัยสิ่งแวดล้อมของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์วิกฤติอาเจะห์ แผนกสุขภาพจิตและสิ่งแวดล้อม สมาคมแพทย์แห่งอินโดนีเซีย สภากาชาดอินโดนีเซีย และศูนย์จัดการภัยพิบัติมูฮัมมาดียาห์ สาขาอาเจะห์ นอกจากนี้ ผู้ดำเนินงานออนไลน์ จากโรงพยาบาลกูตูปาลอง (Kutopalong) ขององค์การฯ สาธิตการจัดการขยะภายในสถานพยาบาล การฝึกอบรมใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น การบรรยาย การอภิปราย การอภิปรายกลุ่ม การระดมความคิด การทดสอบบทบาทสมมติ การสาธิตและสถานการณ์จำลอง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทุกคนมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น
ผู้เข้าร่วมรวบรวมแผนที่มูลฐานเข้ากับข้อมูลของสถาบันเพื่อให้เห็นภาพของข้อมูลในเชิงลึก ซึ่งเผยให้เห็นถึงกลุ่มข้อมูลสำคัญ © Rizki Aulianisa/MSF
ผลตอบรับจากผู้เข้าร่วม
อาซรี (Azri) พยาบาลในแผนกบริการด้านสุขภาพจิต โรงพยาบาลคูต เมอเตีย (Cut Meutia) ในอำเภออะเจะห์เหนือ ได้เข้าร่วมการฝึกอบรมการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม (Mental Health and Psychosocial Support - MHPSS) ของศูนย์ฉุกเฉิน
“แม้ว่าฉันจะทำงานในการบริการด้านสุขภาพในทุกวัน แต่การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับฉัน เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมจากหลายหน่วยงานและหลายคลินิกที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ พวกเราอาจจัดตั้งทีมระหว่างภูมิภาคได้ในอนาคต ฉันประทับใจการฝึกอบรมในครั้งนี้ ผู้สอนมีความกระตือรือร้น และมีสื่อการเรียนที่เข้าใจง่ายและตรงประเด็น ฉันชื่นชมความสมดุลระหว่างเนื้อหาที่เป็นทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติจริงที่มีให้”
เขาหวังว่าการฝึกอบรมเช่นนี้จะถูกจัดขึ้นบ่อยครั้ง เพื่อเผยแพร่และส่งต่อความรู้ที่พวกเขาได้รับกับเพื่อนร่วมงานหลังการฝึกอบรม เนื่องจากอาเจะห์เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ มันยังเป็นเรื่องที่จำเป็นในการจัดการฝึกอบรมที่มีคุณค่านี้ต่อไป
ผู้เข้าร่วมการอบรมนำเสนอแผนงานในการติดตามผลจากผู้ป่วย โดยแสดงแผนผังการโอนย้ายผู้ป่วยในเขตพื้นที่ของตนเอง นอกจากนี้การนำเสนอดังกล่าวยังได้ให้คำมั่นสัญญาในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การเข้าถึงสถานพยาบาล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยว่าจะได้รับการรักษาทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ดีที่สุด เพื่อให้การดำเนินการเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ © Rizki Aulianisa/MSF
ในขณะเดียวกัน ดร.มายา ซาฟินา (Maya Safina) อีกหนึ่งผู้เข้าร่วมจากศูนย์กักกันสุขภาพ บาไล เกการันตินัน เกเซฮาตัน (Balai Kekarantinaan Kesehatan หรือ BKK) ในบันดา อาเจะห์ (Banda Aceh) ได้เข้าร่วมกับศูนย์ฉุกเฉินในการฝึกอบรมการบริการสุขภาพด้านภัยพิบัติกล่าวว่า “ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นสิ่งน่าเหลือเชื่อมาก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ฉันได้รับความรู้เพิ่มเติมในด้านการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและการคัดแยกผู้ป่วยหลังเกิดภัยพิบัติ ทักษะด้านการแพทย์ของพวกเราที่ศูนย์กักกันไม่เหมือนกับที่โรงพยาบาลทั่วไป และการฝึกอบรมครั้งนี้ได้ช่วยให้พวกเรามีความพร้อมมากที่ขึ้นกับสถานการณ์ฉุกเฉิน”