Skip to main content

    อินโดนีเซีย: การประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับภาวะพิษจากเมทานอลสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

    MPi workshop in Jakarta 1

    ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการภาวะพิษจากเมทานอลจากโรงพยาบาลหลายแห่งและสำนักงานสาธารณสุขในกรุงจาการ์ตา รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่กระทรวง © ซิซิ ไรเอมาซารี (Cici Riesmasari)/MSF

    เมทานอล (CH3OH) เป็นแอลกอฮอล์อันตรายซึ่งพบได้ในเครื่องใช้ในครัวเรือนและผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมหลายอย่าง การสัมผัสกับเมทานอลสามารถเกิดอาการเป็นพิษ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความผิดปกติทางระบบเผาผลาญอย่างรุนแรง การสูญเสียการมองเห็น ความผิดปกติทางระบบประสาทที่เรื้อรัง และอาจถึงแก่ชีวิต เป็นเรื่องน่ากังวลว่าภาวะพิษจากเมทานอลเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ถูกละเลยจากทั่วโลก รวมทั้งประเทศอินโดนีเซีย

    เมื่อพิจารณาข้อมูลจาก 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีรายงานว่าอินโดนีเซียมีจำนวนผู้ป่วยจากภาวะพิษจากเมทานอลทั้งกรณีที่ยืนยันแล้วและที่เฝ้าระวังมากที่สุดในโลก เฉพาะในอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 2560 รายงานขององค์การฯ ระบุว่ามีมากกว่า 200 กรณีที่ได้รับการยืนยันภาวะพิษจากเมทานอล ส่วนรายงานยืนยันจากหลายองค์กรรวมกันระบุว่าผู้ได้รับพิษที่ยืนยันแล้วหรือเฝ้าระวังว่าได้รับพิษจากเมทานอลน่าจะมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,100 ราย และเสียชีวิตกว่า 700 ราย

    องค์การฯ สามารถบันทึกตัวเลขในกรณีที่ระบุไว้ในรายงานข่าว แต่ในความจริงปัญหาด้านสาธารณสุขมีมากกว่าที่ประเมินเป็นอย่างมาก มีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาการรายงานละการเฝ้าระวังโรค มาตรการทางสาธารณสุขที่เพิ่มความตระหนักรู้และขยายการป้องกันให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเสริมสร้างการวินิจฉัยและการจัดการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยในสถานพยาบาลอย่างทันท่วงที

    ในการกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ดร. โรเจอร์ เทค (Dr. Roger Teck) ผู้อำนวยการองค์การฯ ประจำประเทศอินโดนีเซีย ได้อธิบายว่า

    “ที่อินโดนีเซีย เราได้ดำเนินโครงการศูนย์กลางกรณีฉุกเฉิน (Emergency Hub / E-Hub) ที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการเตรียมตัวและการปฏิบัติงานในกรณีฉุกเฉิน ที่ถูกออกแบบ วางแผน และดำเนินการด้วยความร่วมมือกับศูนย์วิกฤติทางสุขภาพ (Health Criss Centre) ของกระทรวงสาธารณสุข (Ministry of Health – MOH) โปรแกรมเสริมสร้างขีดความสามารถรวมถึงกรณีปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ของภาวะพิษจากเมทานอล ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เราสามารถเรียนรู้และแบ่งปันวิธีการที่มีประโยชน์สำหรับการวินิจฉัยและการจัดการกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์ให้ดีและทันท่วงทียิ่งขึ้น เพราะภาวะพิษนี้สามารถส่งผลต่อไปยังผู้คนในชุมชนหลายคนในเวลาเดียวกันและอาจส่งผลต่อทั้งครอบครัวอีกด้วย”

    องค์การฯ กำลังสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลประเทศอินโดนีเซียในการพัฒนาและดำเนินกิจกรรมที่มีเป้าหมายในการลดความเสี่ยงต่อสุขภาพและปฏิบัติงานเมื่อเกิดผลกระทบจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งเหตุอื่น ๆ ของวิกฤติทางสุขภาพ ด้วยโครงการศูนย์การเสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับการเตรียมพร้อมและการปฏิบัติงาน (E-Hub) องค์การฯ ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มการตระหนักรู้ การสนับสนุนการป้องกัน และการเสริมสร้างการปฏิบัติการทางการแพทย์ในกรณีภาวะพิษจากเมทานอลซึ่งถูกมองข้ามจากบริการการแพทย์ฉุกเฉิน

    ดร.อีวา ซูซานติ (Dr. Eva Susanti) ผู้อำนวยการด้านการป้องกันและการควบคุมโรคไม่ติดต่อของกระทรวงสาธารณสุขมีความยินดีที่องค์การฯ ร่วมมือกับกระทรวงเพื่อเสริมสร้างการป้องกันและการจัดการกับภาวะพิษจากเมทานอล

    “การประชุมเชิงปฏิบัติการวันนี้ที่ดำเนินการโดยองค์การฯ จะเพิ่มขีดความสามารถแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานเป็นด่านหน้าในการเพิ่มความตระหนักรู้แก่สาธารณชนในวงที่กว้างขึ้น เพื่อที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะได้สามารถทำการตรวจสอบ การป้องกันและการควบคุมพร้อมทั้งการรักษาภาวะพิษจากเมทานอลในอินโดนีเซีย”
    MPi workshop in Jakarta 2

    ดร. อีวา ซูซานตี (ซ้าย) ผู้อำนวยการสำนักงาน NCDs กระทรวงสาธารณสุขแห่งอินโดนีเซีย และดร.โรเจอร์ เทค (ขวา) ผู้อำนวยการองค์การฯ ศูนย์อินโดนีเซีย ได้เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการภาวะพิษจากเมทานอลในวันแรก ซึ่งจัดให้มีขึ้นโดยทีมงาน E-Hub ขององค์การฯ ในอินโดนีเซีย © แอนเดรีย ซิออคคา (Andrea Ciocca) / MSF   

    MPi workshop in Jakarta 3

    ดร.คะนูท เอริค โหฟด้ะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้ป่วยหนักและพิษวิทยาทางคลินิกจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยออสโลที่นอร์เวย์ กำลังอธิบายกลไกของภาวะพิษจากเมทานอลให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม © ซิซิ ไรเอมาซารี/MSF

    MPi workshop in Jakarta 4

    ในตอนท้ายของการประชุมเชิงปฏิบัติการ องค์การฯ ส่งต่อโปสเตอร์สรุปแนวทางการรักษาทางคลินิกที่สถานพยาลบาลที่พวกเขาปฏิบัติงานอยู่ จะได้สามารถแสดงไว้ในที่ทำงานของพวกเขาได้ © แอนเดรีย ซิออคคา / MSF

    สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ องค์การฯ ศูนย์อินโดนีเซียได้เชิญ ดร.คะนูท เอริค โหฟด้ะ (Knut Erik Hovda) แพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยออสโลที่นอร์เวย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์ผู้ป่วยหนักและพิษวิทยาทางคลินิก เพื่อให้ความรู้เฉพาะทางด้านภาวะพิษจากเมทานอลที่รอบคลุม รวมถึงการพยาบาลในภาวะฉุกเฉินร่วมกับองค์การฯ การหารือที่การประชุมเชิงปฏิบัติการรวมถึงกระบวนการวินิจฉัย ทางเลือกในการรักษา และการพยากรณ์โรคจากสภาวะของผู้ป่วย นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้พิจารณาถึงความจำเป็นในการเตรียมการกรณีฉุกเฉินและการหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการพัฒนาแนวทางโดยเฉพาะซึ่งออกแบบสำหรับบริบทของชาวอินโดนีเซีย

    ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับฟังผู้เชี่ยวชาญของอินโดนีเซียด้วย ได้แก่ ดร.รี มหารานี (Tri Maharani) ที่ทำงานวิจัยและพัฒนาของกระทรวงสาธารณสุขและเป็นประธานสมาคมพิวิทยาของอินโดนีเซีย นอกจากนี้ก็มี ดร.อัลวิน กูนาวัณ (Elvine Gunawan) นักจิตวิทยาที่ได้กล่าวถึงมุมมองในด้านสุขภาพจิตของผู้รอดชีวิตจากภาวะพิษเมทานอล ศาสตราจารย์โฮเซน ฮัสซินเนียน โมกะตัม (Hossein Hassanian Moghaddam) ประธานสมาคมพิษวิทยาแห่งเอเชียแปซิฟิกจากประเทศอิหร่าน ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการผ่านการประชุมทางซูม (Zoom) เพื่อเล่าถึงการระบาดของภาวะพิษจากเมทานอลรุนแรงทั่วประเทศที่อิหร่านเมื่อไม่นานมานี้ ระหว่างรับมือกับโรคโควิด-19 เนื่องจากมีการใช้และบริโภคเมทานอลซึ่งอยู่ในอุปกรณ์สำหรับล้างมือ (เช่น แอลกอฮอล์ล้างมือ) มากยิ่งขึ้น

    การอภิปรายนี้ทำให้เรารับรู้ถึงความสำคัญของงานที่จำเป็นต้องทำที่อินโดนีเซีย คือ การเพิ่มความตระหนักรู้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและชุมชน  มีความจำเป็นที่ต้องพูดคุยกันอย่างเปิดเผยกับชุมชน ผู้นำด้านศาสนา และผู้นำด้านจารีตประเพณี เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในการป้องกันภาวะพิษจากเมทานอล การส่งเสริมพฤติกรรมในการขอความช่วยเหลือในการดูแลสุขภาพที่เหนือกว่าข้อห้ามและความรู้สึกอับอาย พร้อมทั้งยอมรับการใช้ยาแก้พิษที่รวมถึงเอทานอลซึ่งเป็นยาที่ช่วยชีวิตได้ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ค่าใช้จ่ายในการวินิจฉัยและการรักษาภาวะพิษจากเมทานอลต้องครอบคลุมโดยประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาเพื่อช่วยชีวิตจากผลกระทบในภาวะพิษจากเมทานอล

    การเพิ่มศักยภาพให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบถึงความรู้และทักษะที่จำเป็นนั้น การประชุมเชิงปฏิบัติการมุ่งหมายในการเสริมสร้างให้การดูแลด้านสุขภาพเป็นแบบมืออาชีพที่จะปฏิบัติงานในกรณีภาวะพิษจากเมทานอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การดำเนินการเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทำให้แน่ใจว่าการรักษาบุคคลที่ได้รับพิษเป็นไปโดยทันที แต่ยังสามารถป้องกันเหตุการณ์และช่วยชีวิตที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคต