คองโก: องค์การฯ เผยตัวเลขการเข้ารักษาตัวจากความรุนแรงทางเพศที่น่าตกใจ
ในค่ายบูเลงโกและลูชากาลา ทีมแพทย์ได้จัดตั้งคลินิกสองแห่งที่มีชื่อว่าทูไมนี (Tumaini) หรือ "ความหวัง" ในภาษาสวาฮีลี (Swahili) เพื่อให้บริการทางการแพทย์และจิตวิทยาโดยไม่เก็บค่ารักษาและเป็นความลับกับผู้หญิงทุกวัยมาที่คลินิกนี้ ซึ่งมีทั้งผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศและผู้ที่ต้องการวางแผนครอบครัว ขอคำแนะนำด้านจิตวิทยา หรือรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ © Alexandre Marcou/ MSF
อัมสเตอร์ดัม/บาร์เซโลนา/บรัสเซลส์/เจนีวา/ปารีส, 30 กันยายน 2567 – จากรายงานย้อนหลัง (retrospective report) ที่เผยแพร่ในวันจันทร์ที่ 30 กันยายน องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศว่าในปี 2566 มีรักษาผู้ตกเป็นเหยื่อและผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo) มากเป็นประวัติการณ์ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นปี 2567 องค์กรด้านมนุษยธรรมทางการแพทย์เรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระดับชาติและนานาชาติเร่งดำเนินการแก้ไขทันที เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์นี้อีก รวมถึงพัฒนาระบบการดูแลผู้รอดชีวิต
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้โดยองค์การฯ ในคองโก โดยอ้างอิงจากข้อมูลขององค์การฯ ใน 17 โครงการที่เราจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขใน 5 จังหวัดของคองโก ได้แก่ นอร์ท กีวู (North Kivu) เซาท์ กีวู (South Kivu) อีตูรี (Ituri) มานีมา (Maniema) และเซนทรัล กาซาอี (Central Kasai) ช่วงหลายปีก่อนหน้า หรือนับตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2565 ทีมขององค์การฯ ได้รักษาผู้ตกเป็นเหยื่อในประเทศประมาณ 10,000 รายต่อปี จะเห็นได้ว่าปี 2566 เป็นปีที่มีผู้เข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก
แนวโน้มนี้ยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2567 แค่ในจังหวัดนอร์ท กีวู จังหวัดเดียว มีผู้ตกเป็นเหยื่อและผู้รอดชีวิตจำนวน 17,363 รายที่ได้รับการรักษาจากองค์การฯ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมและพฤษภาคม แม้จะยังไม่ผ่านครึ่งปี ตัวเลขนี้คิดเป็น 69% ของจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อทั้งหมดที่ได้รับการรักษาในปี 2566 ใน 5 จังหวัดที่กล่าวไปข้างต้น
เป้าหมายแรกคือกลุ่มหญิงพลัดถิ่น
ภายหลังการวิเคราะห์และตรวจสอบเป็นเวลาหลายเดือน บันทึกด้านการดูแลรักษาประจำปี 2566 ที่ระบุในรายงานเรื่อง “พวกเราต้องการความช่วยเหลือ (We are calling for help)” แสดงให้เห็นว่า 91% ของผู้ตกเป็นเหยื่อที่ได้รับการรักษาโดยองค์การฯ ในคองโก เข้ารับการรักษาที่จังหวัดนอร์ท กีวู อันเป็นพื้นที่ที่มีการปะทะระหว่างกลุ่ม M23 กองทัพคองโกและพันธมิตรตั้งแต่ปลายปี 2564 ซึ่งการต่อสู้ดังกล่าวบีบบังคับให้พลเรือนหลายแสนคนต้องหลบหนีออกจากพื้นที่
ผู้ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่ (17,829 ราย) รับการรักษาในศูนย์พักพิงรอบเมืองโกมา (Goma) ซึ่งยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2566
จากคำให้การของคนไข้ของเรา มีมากกว่า 2 ใน 3 ถูกทำร้ายด้วยอาวุธปืน การทำร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นในพื้นที่ค่ายผู้พลัดถิ่น รวมไปถึงบริเวณโดยที่สตรีและเด็กผู้หญิงออกไปเพื่อหาฟืนและน้ำ หรือออกไปทำงานในไร่ โดยกว่าร้อยละ 98 ของจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อเข้ารับการรักษาจากองค์การฯ ในคองโก ปี 2566คริสโตเฟอร์ มัมบูลา หัวหน้าโครงการ
การปรากฏตัวกลุ่มผู้ติดอาวุธจำนวนมากตัวทั้งในและรอบค่ายผู้พลัดถิ่น ได้อธิบายถึงความรุนแรงทางเพศที่ขยายตัวมากขึ้น การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ไม่เพียงพอและสภาพความเป็นอยู่อันโหดร้ายในค่ายผู้พลัดถิ่นเหล่านี้ เป็นสาเหตุให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น การขาดแคลนอาหาร น้ำ และกิจกรรมสร้างรายได้ ทำให้สตรีและเด็กผู้หญิงเป็นผู้เปราะบางมากขึ้น (1 ใน 10 ของผู้ตกเป็นเหยื่อที่ได้รับการรักษาจากองค์การฯ ในปี 2566 คือผู้เยาว์ ที่ถูกบีบบังคับให้เดินทางไปยังหุบเขาและไร่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นที่ที่มีกลุ่มติดอาวุธอยู่จำนวนมาก ความขาดแคลนด้านสุขอนามัยและที่พักพิงที่ปลอดภัยสำหรับสตรีและเด็กผู้หญิง ทำให้พวกเธอตกเป็นเป้าหมายของการถูกทำร้าย อีกหลายคนตกเป็นเหยื่อของการหาผลประโยชน์ทางเพศเพื่อการเลี้ยงดูครอบครัวของพวกเธอ
“หากพิจารณาจากเอกสาร ดูเหมือนจะมีหลากหลายโครงการในการป้องกันและดำเนินการช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงทางเพศตามอย่างที่ควรจะเป็น แต่ความจริงแล้ว ในพื้นที่ของค่ายผู้พลัดถิ่น ทีมของพวกเราประสบปัญหาทุกวันในการส่งต่อผู้ตกเป็นเหยื่อที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ” คริสโตเฟอร์ มัมบูลา กล่าว “บางโครงการดำเนินงานอยู่มักมีระยะเวลาการทำงานที่สั้นเกินไป และยังขาดแคลนทรัพยากรอย่างหนัก ยังมีอีกมากมายหลายสิ่งที่จำเป็นในการปกป้องผู้หญิงเหล่านี้และเพียงพอต่อความช่วยเหลือที่เหยื่อต้องการ”
การเรียกร้องให้ดำเนินการทันที
จากความต้องการความช่วยเหลือจากผู้ตกเป็นเหยื่อ และเพื่อต่อยอดจากงานก่อนหน้าในการแก้ไขปัญหาที่มีมายาวนานในประเทศ รายงานขององค์การฯ ได้ทำรายการ 20 มาตรการเร่งด่วนที่ผู้มีส่วนร่วมในความขัดแย้งนี้ต้องเร่งดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐของคองโก ทั้งระดับชาติ จังหวัด และชุมชน รวมไปถึงผู้บริจาคและหน่วยงานด้านมนุษยธรรมระดับนานาชาติ โดยสามหัวข้อหลักที่องค์การฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นคือ
ประเด็นแรก องค์การฯ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งนี้ต้องเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการที่กฎหมายห้ามให้มีการกระทำใดอันเป็นการใช้ความรุนแรงทางเพศ รวมถึงเคารพวิถีของพลเรือนในค่ายผู้ลี้ภัยด้วย การปกป้องพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบต้องมาก่อนการเรียกร้องให้ปกป้องพลเรือนจากการถูกรังแกยังช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้านมนุษยธรรม
ทางตอนล่างของทิศตะวันตก มีการตั้งค่ายของกลุ่มติดอาวุธ และในเวลากลางคืนพวกเขาจะเข้าห้ำหั่นกันด้วยกระสุนปืน ซึ่งทำให้พลเรือนที่พลัดถิ่นหวาดกลัว บนเนินแรกทางทิศเหนือที่จะข้ามฝั่งไปยังเมืองซาเก เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงและมีการใช้ปืนใหญ่หยิงถล่มเมืองเอเมสหลายนัดต่อวัน ทำให้ประชากรที่พลัดถิ่นต้องติดอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ © Marion Molinari / MSF
ประเด็นที่สอง องค์การฯ เรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในศูนย์พักพิงของผู้พลัดถิ่นในประเทศ ได้แก่ ต้องมีการปรับปรุงการเข้าถึงความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร น้ำ กิจกรรมสร้างรายได้ รวมไปถึงการเข้าถึงที่พักอาศัยและสุขาที่ปลอดภัยและมีแสงสว่างเพียงพอ การลงทุนเหล่านี้ต้องมาพร้อมกับความพยายามในการสร้างความตะหนักถึงความรุนแรงทางเพศที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การระดมทุนด้านมนุษยธรรมต้องมีความยืดหยุ่นพอในการตอบสนองต่อความต้องการความช่วยเหลือที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่และในสถานการณ์เร่งด่วน ผู้สนับสนุนต้องแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบในการดำเนินการตามมาตรการด้วย
ประเด็นสุดท้าย องค์การฯ เรียกร้องให้มีการลงทุนเฉพาะด้านสำหรับการดูแลที่ดีขึ้นในด้านการแพทย์ สังคม กฎหมาย และสภาพจิตใจแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ ซึ่งต้องใช้เงินทุนในระยะยาวเพื่อพัฒนาการฝึกอบรมด้านการแพทย์ อุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือหลังถูกข่มขืนแก่หน่วยดูแลรักษา การช่วยเหลือด้านกฎหมาย รวมไปถึงการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้รอดชีวิต และยังต้องมีเงินทุนสำหรับกิจกรรมสร้างความตะหนักเพื่อป้องกันการตีตราและกีดกันผู้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งบางครั้งทำให้พวกเขาไม่กล้าออกมาขอความช่วยเหลือ เนื่องจากมีคำขอทำแท้งจำนวนมากจากผู้ตกเป็นเหยื่อ องค์การฯ เรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายของประเทศเพื่อประกันการเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์ที่ครอบคลุมหลังทำแท้ง
ความรุนแรงทางเพศเป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์และทางมนุษยธรรมหลักในคองโก ข้อมูลล่าสุดจากพื้นที่รับผิดชอบความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในคองโก ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากหลายองค์กรด้านมนุษยธรรมที่ได้ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความรุนแรงจากเหตุทางเพศใน 12 จังหวัดของคองโก โดยมีผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศ 55,000 รายได้รับการรักษาในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567