องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) เริ่มปฏิบัติงานในอินโดนีเซียในปี 1995 เพื่อให้บริการทางการแพทย์หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ภูเขาเคอรินชิ ในจังหวัดจัมบี สุมาตรากลาง นับตั้งแต่ปี 1995 จนถึงปี 2009 ทางองค์การได้ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยธรรมชาติในจังหวัดต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซีย และร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินโครงการที่มุ่งเน้นด้านเอชไอวี/เอดส์ และวัณโรค
ในปี 2015 องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) กลับมาดำเนินงานในอินโดนีเซียภายใต้บันทึกความเข้าใจร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (MoH) โดยมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างขีดความสามารถในมิติของสุขภาพวัยรุ่น ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 องค์การแพทย์ไร้พรมแดนทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 โดยมุ่งเน้นในพื้นที่บริเวณกรุงจาการ์ตาและจังหวัดบันเติน ทุกวันนี้องค์การก็ยังดำเนินงานภายในประเทศเพื่อสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มขีดความสามารถ การอำนวยความสะดวกในการฝึกอบรม สุขศึกษา การจัดบริการด้านสุขภาพในวัยรุ่น การเตรียมความพร้อมและการรับมือในกรณีฉุกเฉิน การรับมือกับโรคโควิด-19 ฯลฯ โดยอินโดนีเซีย องค์การก็เป็นที่รู้จักในนาม “ด็อกเตอร์ ลินตัส บาตัส” (Dokter Lintas Batas)
ไทม์ไลน์: องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ในอินโดนีเซีย
• 2538 (1995): องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) เริ่มปฏิบัติงานในอินโดนีเซียหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ภูเขาเครินชิ ในจังหวัดจัมบี จากปี 1995 จนถึงปี 2009 ทางองค์การได้ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉินและภัยธรรมชาติในจังหวัดต่างๆ ในอินโดนีเซีย และร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินโครงการที่มุ่งเน้นด้านเอชไอวี/เอดส์ และวัณโรค
• 2558 (2015): จนถึงปี 2558 (2015) องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ได้กลับมาช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและปัญหาพิษของเมทานอลและภัยธรรมชาติขนาดเล็กอื่นๆ จากนั้น MSF ก็ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (MoH) ศูนย์รับมือภาวะวิกฤต และหน่วยงานราชการท้องถิ่นจังหวัดอาเจะห์ในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน และความช่วยเหลือในการจัดกิจกรรมด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมแก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ยังติดอยู่ในทะเลอันดามัน
• 2559 (2016): องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ให้ความช่วยเหลือหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในจังหวัดอาเจะห์ และจัดให้มีการศึกษาด้านจิตสังคมในสี่ตำบลในเขตปีดี จายา, บันดาร์ บารุ, ปันเต ระจะ, เมอุเรดู และตริงกะดิง โดยร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่
• 2560 (2016): จัดการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลทางจิตใจเบื้องต้น (PFA) ให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 32 ท่าน และศูนย์อนามัยชุมชน 11 แห่ง โดยได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขเขตปีดี จายา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรับมือกับสถานการณ์แผ่นดินไหวในปีดี จายา
• 2561 (2018): จัดการฝึกอบรมดังต่อไปนี้ 1) การฝึกอบรมด้านสุขภาพด้านการเจริญพันธุ์สำหรับครูและนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในเคปูลาอวน เสรีบู (เทาซันด์ ไอแลนด์) ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในเขตพิเศษเมืองหลวงจาการ์ตา และ 2) การฝึกอบรมเกี่ยวกับพิษของเมทานอลในเมืองสามแห่ง ได้แก่ จาการ์ตา, ยอกยาการ์ตา และสุราบายา ในปีนี้ องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ได้เริ่มโครงการด้านสุขภาพด้านการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่น ในเขตลาบาอวน และคาริตา จังหวัดบันเติน ขณะเดียวกัน ทีมงานในพื้นที่ก็ได้รับมือกับแผ่นดินไหวในเกาะลมบกเมื่อเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม และภัยพิบัติสามอย่างทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ และแผ่นดินเหลวในเมืองปาลู สุลาเวสีตอนกลางในเดือนกันยายน ในเดือนธันวาคม ภายหลังจากเหตุภูเขาไฟกรากาตัวระเบิด คลื่นสึนามิก็ซัดเข้าชายฝั่งช่องแคบซุนดา เขตปันเดอกลัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) กำลังดำเนินโครงการด้านสุขภาพด้านการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นก็ได้รับผลกระทบหนัก องค์การจึงได้ระดมทีมแพทย์สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในทันที
• 2562 (2019): องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ได้ดำเนินโครงการด้านสุขภาพในวัยรุ่นต่อในเขตปันเดอกลัง จังหวัดบันเติน นอกจากนี้องค์การยังจัดทีมแพทย์เคลื่อนที่ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิช่องแคบซุนดาที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2561 (2018) อีกด้วย
• 2563 (2020): โครงการด้านสุขภาพในวัยรุ่นในจังหวัดบันเตินขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ก็ได้ขยายออก ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับใหม่กับกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 องค์การยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นในจังหวัดบันเตินและจาการ์ตา ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข การส่งเสริมด้านสุขภาพ และยังสนับสนุนทีมงานในพื้นที่ในการตรวจสอบการติดต่อและการเฝ้าระวัง อีกทั้งการควบคุมและยับยั้งการติดเชื้อ เนื้อความใหม่ในบันทึกความเข้าใจฉบับต่อไปจะสนับสนุนศูนย์รับมือภาวะวิกฤตของกระทรวงสาธารณสุขในด้านการสร้างศักยภาพในการเตรียมพร้อมและรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน
โครงการสุขภาพวัยรุ่นในอินโดนีเซีย
ปัจจุบันองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ดำเนินโครงการสุขภาพวัยรุ่นในอินโดนีเซีย โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ด้านสุขภาพด้านการเจริญพันธุ์สำหรับเด็กนักเรียนและครูร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีส่วนร่วมในการประสานกลยุทธ์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาลด้านการเจริญพันธุ์ที่เป็นความลับ เหมาะแก่ความต้องการเฉพาะด้านของเยาวชนและวัยรุ่น
ในจังหวัดบันเติน โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความตระหนักถึงทางเลือกในการดูแลสุขภาพในหมู่เยาวชน พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพบริการที่มีอยู่ และยังรวมถึงการสนับสนุนสถานบริการสุขภาพในท้องถิ่นในการพัฒนาการบริการ เช่นการจัดตั้งบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับเยาวชน (AFHS)
เรื่องเล่าจากพื้นที่
ทำงานร่วมกับโรงเรียนนำร่องและสถานบริการสุขภาพในการส่งเสริมด้านสุขภาพ
ด้วยจุดประสงค์ในการเพิ่มความตระหนักด้านสุขภาพ และพัฒนาการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพของเยาวชนชาวอินโดนีเซีย องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ได้เริ่มโครงการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นและการศึกษาสำหรับโรงเรียนนำร่องในจังหวัดบันเติน โครงการในโรงเรียนนี้ดำเนินอยู่ในโรงเรียนมัธยมต้นห้าแห่งในเมืองลาบวนและคาริตา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสุขภาพวัยรุ่นของ MSF และทำให้โครงการส่งเสริมสุขภาพคนหนุ่มสาวของรัฐบาลอินโดนีเซียที่มีอยู่แล้วและจัดตั้งตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950s ได้ดำเนินการอีกครั้ง ปัจจุบัน MSF สนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพเยาวชน รวมถึงโครงการริเริ่มด้านสุขศึกษาโดยร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่และสถานบริการสาธารณสุข
ไอ. อูเนียตี ครูใหญ่โรงเรียนมัธยมต้น SMP N 1 ในเมืองคาริตา เล่าว่า เธอสังเกตว่านักเรียนเริ่มใส่ใจสุขภาพมากขึ้นและคุ้นเคยกับการพบปะบุคลากรด้านสุขภาพเมื่อมีการแนะนำโครงการสุขภาพเยาวชนของ MSF ในโรงเรียน
ก่อนหน้านี้ นักเรียนชอบกลับบ้านมากกว่า เนื่องจากในโรงเรียนไม่มีห้องสำหรับการส่งเสริมด้านสุขภาพโดยเฉพาะ เราก็แค่ปล่อยให้พวกเขากลับบ้าน และเด็กนักเรียนก็ยังกลัวการตรวจสุขภาพเพราะพวกเขาคิดว่าจะถูกฉีดยา แต่ด้วยโครงการด้านสุขภาพของวัยรุ่นในโรงเรียนของ MSF ตอนนี้นักเรียนจึงรู้ว่าหากต้องการรู้เรื่องสุขภาพควรจะไปที่ใดและเข้าหาใคร และเรายังบันทึกสุขภาพของนักเรียนและมีการส่งต่อเพื่อรักษาหากมีอาการร้ายแรงริสนา เอเลียซารี ครูและผู้ประสานงานโครงก
หลังจากการดำเนินโครงการสุขภาพวัยรุ่นในโรงเรียนอีกครั้งที่โรงเรียนมัธยมต้น SMP N 1 คาริตา นักเรียนจึงรู้ว่าควรไปที่ใดหากมีข้อกังวลใดๆ เกี่ยวกับสุขภาพ © Eka Nickmatulhuda
ในปี 2560 (2017) เกือบหนึ่งในสามของประชากรอินโดนีเซียหรือมากกว่า 65 ล้านคนเป็นคนหนุ่มสาวอายุ 10 ถึง 24 ปี ตามที่องค์การอนามัยโลกระบุ คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงเป็นพิเศษและต้องเผชิญกับอุปสรรคในแง่ของการเข้าถึงและการใช้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงอุปสรรคทางสังคมอีกด้วย
ผลกระทบที่สำคัญ
จนถึงปัจจุบัน โครงการสุขภาพวัยรุ่นของ MSF ในจังหวัดบันเตินได้เข้าถึงวัยรุ่นที่สามารถรับการศึกษาด้านสุขภาพแล้ว 2,656 ราย ได้สนับสนุนการให้คำปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพวัยรุ่น 5,349 ครั้งในสถานบริการด้านสุขภาพสองแห่ง และดำเนินการให้คำปรึกษา 62 ครั้ง โครงการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นและการศึกษาในโรงเรียนมีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมให้เยาวชนอินโดนีเซียในเมืองลาบวนและคาริตาได้ตระหนักถึงความต้องการด้านสุขภาพและวิธีเข้าถึงบริการด้านสุขภาพมากขึ้น
“การที่มี MSF สนับสนุน โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพวัยรุ่นนั้นช่วยได้จริงๆ” เอินดัง ยูนิงซิฮ์ ผู้ประสานงานโครงการ PKPR ในปุซเกิซมัซ หรือ ศูนย์อนามัยชุมชนในเมืองลาบวนกล่าว ตามที่เธอกล่าว จำนวนวัยรุ่นที่มาเยือนศูนย์อนามัยชุมชนนั้นมีมากขึ้น
นอกจากนี้ โครงการนี้ยังส่งผลให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ดี ไบฮากิ ครูใหญ่โรงเรียนมัธยมต้น SMP N 1 ในเมืองลาบวนกล่าวว่า ครั้งแรกที่เขามาโรงเรียนนั้น โรงเรียนสกปรกมาก มีขยะอยู่โดยรอบ โครงการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นของMSF มีการมุ่งเน้นในด้านความสะอาดของสภาพแวดล้อมเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรครวมอยู่ด้วย
นักเรียนมีความตระหนักถึงสภาพแวดล้อมของตนเองมากขึ้นจากการดำเนินการของครูผู้สอนและ MSF ปัจจุบันมีทีมส่งเสริมด้านสุขภาพในโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วยเด็กนักเรียน 11 คนช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดภายในโรงเรียน และโรงเรียนยังมีนโยบายให้นักเรียนนำอุปกรณ์ในการรับประทานอาหารมาเอง เพื่อไม่ต้องซื้ออาหารที่มีการบรรจุห่อโดยไม่จำเป็น และยังส่งขยะอย่างน้อยหนึ่งชิ้นเป็นตั๋วผ่านเข้าประตูโรงเรียนอีกด้วย ทั้งหมดนี้ไม่เพียงทำให้สถานศึกษาสะอาด แต่ยังพัฒนาสุขอนามัยของนักเรียนอีกด้วย
มเหสา ส.พ. กำลังนำเสนอผลการอภิปรายในกลุ่มหลังจากที่ชมภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับการสมรสในวัยเด็ก มเหสาและเพื่อนอีก 10 คนเป็นสมาชิกทีมส่งเสริมด้านสุขภาพภายในโรงเรียน ของโรงเรียนมัธยมต้น SMP N 1 ในเมืองลาบวน พวกเขาได้รับการศึกษาด้านสุขภาพจากนักส่งเสริมสุขภาพชุมชนของ MSF เพื่อที่จะได้ส่งต่อความรู้ด้านสุขภาพไปให้เพื่อนๆ © Eka Nickmatulhuda
โครงการส่งเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน
MSF ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ศูนย์อนามัยชุมชนเพื่อให้โครงการประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยการให้แนวทาง การฝึกอบรม และการฝึกสอนแก่ครูและเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ยังมีหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นดูแลโครงการอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ทีมส่งเสริมด้านสุขภาพในโรงเรียนประกอบไปด้วยนักเรียนจากสภานักเรียน และสมาชิกสภากาชาด โดยมีครูและผู้ปกครองเป็นคณะกรรมการ มีครูใหญ่เป็นประธาน มีหัวหน้าระดับตำบลและหัวหน้าคลินิกอนามัยชุมชนเป็นที่ปรึกษา ซึ่งความร่วมมือระหว่างหลายฝ่ายนี้มีข้อผูกพันตามกฤษฎีกา
“พระราชกฤษฎีกานี้กำหนดให้ทุกฝ่ายตั้งแต่ระดับโรงเรียนจนถึงระดับบริหารตำบล มีสิทธิ์เป็นเจ้าของโครงการ ทุกคนตระหนักถึงหน้าที่ของตนเอง และทำงานร่วมกันเพื่อดำเนินการและบำรุงรักษาโครงการ” Baihaki กล่าว
กฤษฎีกานี้ทำให้ทุกฝ่าย ตั้งแต่ระดับโรงเรียนขึ้นไปจนถึงระดับผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลได้เป็นเจ้าของโครงการ ทุกคนจะตระหนักถึงหน้าที่ตนเอง และทำงานร่วมกันเพื่อที่จะดำเนินงานในโครงการได้ไบฮากิกล่าว
เมื่อเห็นว่าโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ ศูนย์อนามัยชุมชนก็ได้ดำเนินงานตามแบบอย่างของ MSF ในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นตามโรงเรียน ตามที่อับดูรรัคมัน เฟาซี ผู้ประสานงานด้านสุขภาพในโรงเรียนจากศูนย์อนามัยชุมชนในเมืองลาบวนได้กล่าวไว้ ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการฟื้นฟูและช่วยเหลือด้านอนามัยในโรงเรียนให้แก่โรงเรียนประถม 33 แห่งในเมืองลาบวน
ขณะเดียวกันในกรุงจาการ์ตา องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ก็ได้ร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขท้องถิ่นในการส่งเสริมพฤติกรรมแสวงหาการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่อาศัยตามหมู่บ้านชาวประมงและเมืองในพื้นที่เฉพาะในกรุงจาการ์ตา
การรับมือกับภัยพิบัติ
ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ น้ำท่วม สึนามิ และเหตุฉุกเฉินอื่นๆ องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ได้ช่วยเหลือศูนย์รับมือภาวะวิกฤตของกระทรวงสาธารณสุขในการประเมินสุขภาพเบื้องต้น ให้การปฐมพยาบาลและการสนับสนุนด้านจิตใจ รวมถึงการฝึกอบรม การบริจาคอุปกรณ์ด้านสุขอนามัย และอื่นๆ
แผ่นดินไหวและสึนามิเป็นภัยพิบัติที่เกิดเป็นประจำในอินโดนีเซีย แผ่นดินเหลว เป็นปรากฏการณ์ที่ดินสูญเสียความแข็งแกร่งหรือความหนาแน่นและกลายเป็นโคลน และดินถล่มก็ทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงและมีการเสียชีวิตในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น การเข้าถึงการรักษาพยาบาลในทันทีเป็นสิ่งสำคัญ องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) จึงให้การดูแลทางการแพทย์และการดูแลด้านสุขภาพจิตในชุมชนที่รับผลกระทบจากภัยพิบัติเพื่อช่วยชีวิตผู้คน
ทีมงานจาก MSF ในหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลแห่งหนึ่งในเขตมามูจู สุลาเวสีฝั่งตะวันตกภายหลังจากเกิดแผ่นดินไหวในเมืองมาเจเนเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 (2021) มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 ราย มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 820 ราย และกว่า 15,000 คนต้องหนีจากบ้านหลังเกิดแผ่นดินไหวแมกนิจูด 6.2 บางส่วนลี้ภัยไปอยู่ตามภูเขา ส่วนอื่นๆ ไปยังศูนย์อพยพที่มีผู้คนอยู่แออัด © Tommy Onsent/MSF
ทีมงานของเรามีผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา เช่น แพทย์ พยาบาล พยาบาลผดุงครรภ์ นักลอจิสติกส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำและสุขาภิบาล และอื่นๆ อีกมาก ทีมช่วยเหลือนั้นจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับประเภทและผลกระทบของภัยพิบัติ ซึ่งจะพร้อมให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
ทีมงานให้ความสำคัญแก่การให้การสนับสนุนศูนย์อนามัย ตามพื้นที่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยากเป็นอันดับแรก เพื่อให้แน่ใจว่ามีการดูแลสุขภาพเบื้องต้นและการป้องกันโรคระบาด เช่น โรคท้องร่วง โรคผิวหนัง และโรคหัด
เนื่องจากอาคารปุซเกิซมัซ (ศูนย์อนามัยชุมชน) ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ตามปกติ เจ้าหน้าที่ MSF ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขท้องถิ่นในการให้บริการในค่ายผู้พลัดถิ่นแห่งหนึ่งในเขตโดโลใต้ อำเภอซิกี สุลาเวสีใต้
การรับมือกับโควิด-19
ในเดือนมีนาคม 2563 (2020) รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศให้โควิด -19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับชาติ องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) จึงต้องจัดความสำคัญกับองค์ประกอบบางอย่างในโครงการสุขภาพวัยรุ่นในบันเตินใหม่อีกครั้ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนสถานบริการด้านสุขภาพในการเตรียมการสำหรับสถานการณ์โรคระบาด รวมถึงการกำหนดมาตรการด้านสุขภาพสำหรับโรคโควิด-19 และจัดหาสื่อการเรียนรู้ภายในสถานที่
ในจังหวัดบันเติน องค์การได้มุ่งเน้นในด้านการสร้างเสริมการประสานงานในการรับมือโควิด-19 ในระดับหน่วยงานเขต หน่วยงานระดับหมู่บ้านและศูนย์อนามัยในชุมชน 19 แห่ง เพิ่มบทบาทในภาคส่วน (ด้านการศึกษา ศาสนา และสถานที่ท่องเที่ยว) และในชุมชนต่างๆ ในการรับมือโควิด-19 ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและเสริมสร้างศักยภาพอื่นๆ ให้แก่บุคลากรด้านสุขภาพและกลุ่มเยาวชนเพื่อให้ความรู้แก่ชุมชน สร้างกิจกรรมที่ทำให้เกิดความตระหนักต่อสถานการณ์โควิด-19 ต่อสาธารณชนโดยตรงสำหรับกลุ่มชุมชนต่างๆ ทั้งโดยต่อหน้าและผ่านสื่อดิจิทัล สนับสนุนการบรรเทาปัญหาโรคโควิด-19 ให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมและบริการด้านการศึกษาแก่ผู้ป่วยโควิด-19 และครอบครัว ตลอดจนการพัฒนาแผนการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม (MHPSS) ในการรับมือโรคโควิด-19 ในเมืองลาบวนและเขตคาริตา อำเภอปันเดอกลัง
ในกรุงจาการ์ตา องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ดำเนินการฝึกอบรมเกี่ยวกับโควิด-19 ให้แก่เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวัง การให้คำปรึกษา และการติดตามผล นอกจากนี้เรายังให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม (MHPSS) อีกด้วย
เรื่องราวเกี่ยวกับการรับมือโควิด-19
อินโดนีเซีย: ต่อสู้กับโควิด-19 ด้วยการศึกษาและการเพิ่มศักยภาพ
ในเดือนมิถุนายน 2563 (2020) เริ่มมีความกังวลกระจายในหมู่ตามชุมชนชาวอินโดนีเซียขณะที่เริ่มมีรายงานการติดเชื้อโควิด-19 จากหน่วยงานสาธารณสุข ข่าวลือและข่าวลวงแพร่กระจาย สมาชิกในชุมชนต่างกระหน่ำคำถามใส่ผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่เพื่อขอข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับโรคโควิด-19
“เราได้รับข้อมูลมามากมาย” มุชตาร์ ลุฟติ หัวหน้าชุมชน รูกุน วาร์กา 5 (RW5) ซึ่งเป็นชุมชนย่อยในหมู่บ้านคาลิบาตาในกรุงจาการ์ตาตอนใต้กล่าว “ข้อมูลบางอย่างก็ถูกต้อง บางอย่างก็อาจเป็นข่าวลวง ซึ่งกรองได้ยากมากและผู้คนก็สับสนเหลือเกิน”
มีข้อมูลมากมายเกินไป จากข้อมูลหลายแหล่งเกินไป ทั้งจากโซเชียลมีเดีย กลุ่มแชท และข่าวในโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อมีการประกาศว่าหมู่บ้านคาลิบาตาในเขตปันโครันเป็นพื้นที่สีแดงสำหรับโควิด-19
“ในเวลานั้นผู้คนต่างโกรธแค้นและประท้วง พวกเขาอยากรู้ว่าทำไมถึงบอกให้พวกเขาอยู่บ้าน ฉันไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรดี ได้แต่บอกว่ารัฐบาลขอความร่วมมือ” ฮาลิมาห์ สมาชิกหน่วยงานเฉพาะกิจโควิด-19 ของชุมชนกล่าว
การศึกษา การฝึกอบรม และการเพิ่มศักยภาพกับ MSF
ทีมงานจาก MSF ได้ประเมินสถานการณ์ในหมู่บ้านคาลิบาตา และพบว่าในทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ตาผู้คนต่างสับสนและหวาดกลัว ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่หาแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่เชื่อถือได้ยาก
“เราพบว่าศูนย์อนามัยชุมชน หรือ ปุซเกิซมัซ กระตือรือร้นที่จะรับการช่วยเหลือจากเรา” ดร. เดอร์นา มายาสารี รองผู้ประสานงานทางการแพทย์จาก MSF ในอินโดนีเซียกล่าว “เราต้องหาทางให้ความรู้และแจ้งต่อชุมชนอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง เพราะความกลัวนั้นอันตรายพอกับโควิด-19”
ทางศูนย์อนามัยชุมชนได้เชิญผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา และผู้ที่ได้รับการฝึกฝนให้อบรมผู้อื่นมาเพื่อแจ้งถึงความกังวลดังกล่าวในการประชุมร่วมกับ MSF
“ทางชุมชนต้องการการชี้แนะวิธีการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ชัดเจน แต่ก็ต้องการพูดคุยด้วยเช่นกัน เนื่องจากข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดเป็นเพียงการสื่อสารทางเดียว” มายาสารีกล่าว “ประชาชนต้องการโอกาสในการถามคำถาม พูดคุยถึงความกังวลและให้ความชัดเจนเรื่องวิธีการที่จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่ดีที่สุด และพวกเขายังต้องการวิธีที่จะเผยแพร่ข้อมูลภายในชุมชนด้วย” ดังนั้น MSF จึงให้ข้อมูลและเริ่มการฝึกอบรมแบบตัวต่อตัวสำหรับหัวหน้าครอบครัวที่ประกอบกันเป็นหน่วยชุมชน RW5
ในสถานที่ฝึก ทีมจาก MSF ได้จัดเตรียมภาพรวมทั้งโปสเตอร์ข้อบังคับการประชุมขณะมีโรคโควิด-19 ที่หน้าประตู ระหว่างการแนะนำ ผู้อำนวยความสะดวกได้ย้ำเตือนถึงข้อบังคับเหล่านี้ให้แก่ผู้เข้าร่วม และขอให้พวกเขาปฏิบัติตามมาตรการ © Cici Riesmasari/MSF
MSF เริ่มต้นด้วยการฝึกอบรมตัวแทนจาก 10 ครัวเรือนใน RW5 มีผู้เข้าร่วมการฝึกด้วยกัน 10 คนโดยใช้เวลาสองชั่วโมง จากนั้นก็ขยายการฝึกไปให้ครอบคลุมในละแวกพื้นที่ จากเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม MSF ได้เข้าถึงผู้คนกว่า 150 คน
“เราเชื่อว่าการเสริมศักยภาพในชุมชนเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือโรคระบาดนี้ หากคนในชุมชนของเราแข็งแรง ก็ไม่จำเป็นต้องไปยังสถานอนามัย” มายาสารีกล่าว
การฝึกอบรมมีการโต้ตอบ ส่งเสริมให้มีการอภิปรายโดยใช้ภาพและการใช้บทบาทสมมติ “เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ที่ปลอดภัย” ฮาลิมาห์กล่าว “สนุกดีที่ได้เรียนรู้ด้วยแผ่นภาพ แพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ก็ให้ข้อมูลที่เข้าใจง่าย ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าเชื้อไวรัสแพร่กระจายอย่างไร จะต้องทำอย่างไรเมื่อมีการติดเชื้อโควิด-19 และวิธีการป้องกันตัวเอง ตอนนี้เมื่อผ่อนมาตรการการสัญจรลงผู้คนก็ไปไหนมาไหนมากขึ้น เราเห็นว่าผู้คนส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างจากผู้อื่น”
ผู้เข้าอบรมคนหนึ่งพยายามเรียงลำดับแผ่นภาพการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 การฝึกอบรมเกี่ยวกับโรคโควิด-19 นี้จัดโดยทีมแพทย์จาก MSF และมีเยาวชนมาเข้าร่วมจากเขตคาลิบาตา หมู่บ้านคาลิบาตาในกรุงจาการ์ตาตอนใต้ อินโดนีเซีย © Sania Elizabeth/MSF
การรับมือกับโรคโควิด-19
การให้ความรู้ด้านสุขศึกษาของ MSF ได้เน้นว่าการประณามผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เช่น ทำให้ผู้คนกลัวการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ทางศูนย์อนามัยชุมชนจัดให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ที่เริ่มมีการฝึกอบรมและให้ข้อมูลที่ได้รับการสนับสนุนจาก MSF ผู้นำชุมชนก็ได้เห็นว่าในละแวกมีการประณามกล่าวโทษผู้ติดเชื้อไวรัสน้อยลง ฮาลิมาห์เองก็สังเกตได้ถึงความแตกต่างนี้ “ฉันรู้สึกได้ว่าพฤติกรรมของคนในชุมชนเราเปลี่ยนไป คนกลัวโรคโควิด-19 น้อยลงเมื่อมีความรู้เกี่ยวกับโรคชนิดนี้ พวกเขาปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย และไม่กล่าวโทษผู้ป่วยอีกแล้ว”