สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก: องค์การฯ เรียกร้องความคุ้มครองสำหรับผู้ป่วย สถานพยาบาล และพลเรือน หลังจากเหตุโจมตีโรงพยาบาลโดรโดร
หน่วยผู้ป่วยวิกฤติของโรงพยาบาลกลายเป็นห้องร้างภายหลังจากที่ผู้ป่วยต้องหนีออกจากพื้นที่ จากการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธที่อยู่ห่างไปไม่กี่กิโลเมตร บริเวณเขตพื้นที่อิทูรี (Ituri) - สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 18 พฤษภาคม 2566 © MSF/Michel Lunanga
เมืองบุนยา (Bunia) 8 มีนาคม 2567 – ในสถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังขยายตัวลุกลามในจังหวัดอิตูรี (Ituri) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กลุ่มชายพร้อมอาวุธครบมือได้บุกโจมตีเมืองโดรโดร (Drodro) เมื่อเวลากลางคืนของวันที่ 6 ย่างเข้า 7 มีนาคม โดยได้เข้าไปรื้อค้นทรัพย์สินในโรงพยาบาล และปล้นเอาอุปกรณ์ทางการแพทย์ไป ในการนี้ยังได้ลงมือสังหารผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งบนเตียงผู้ป่วยของเธอ เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการบอกเล่าโดยทีมงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลของเมืองโดรโดร กลุ่มผู้ก่อเหตุยังได้เข้าไปลักทรัพย์ในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นี่นั้นเข้าขั้นน่าสยดสยอง" สเต็ฟานี จานโดนาโต (Stéphanie Giandonato) ผู้จัดการโครงการประจำประเทศคองโก สังกัดองค์การแพทย์ไร้พรมแดนกล่าว “เราขอประณามอย่างถึงที่สุดต่อการสังหารผู้ป่วยสูงอายุที่ไร้ทางสู้ และอยากให้ทุกฝ่ายของความขัดแย้งนี้เคารพสิทธิและช่วยปกป้องผู้ป่วย เจ้าหน้าที่การแพทย์ สถานพยาบาล ประชาชนคนอื่นๆ และผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม"
พยาบาลขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนฉีดยาให้กับผู้ป่วยเด็กรายหนึ่ง เพื่อช่วยบรรเทาอาการป่วยจากไข้หวัด ภายในโรงพยาบาลโดรโดร พื้นที่อิทูรี (Ituri) - สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 19 พฤษภาคม 2566 © MSF/Michel Lunanga
ความรุนแรงที่ทวีหนักขึ้นในเมืองโดรโดรและบริเวณใกล้เคียงทำให้เกิดการอพยพระลอกใหญ่ ประชาชนหลายพันคนแสวงหาที่ลี้ภัยในค่ายพักพิงผู้พลัดถิ่นโรห์ (Rho camp for displaced people) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองโดรโดรประมาณ 10 กิโลเมตรไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ เดิมทีค่ายนี้ออกแบบสำหรับผู้พักพิงได้สูงสุด 30,000 คน ทว่าตอนนี้ต้องรองรับผู้คนเป็นมากกว่า 2 เท่าของจำนวนนั้น
โรงพยาบาลโดรโดร - สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มิถุนายน 2566 © MSF
หลังจากเหตุโจมตีเมืองโดรโดรของเมื่อวาน ทางองค์การฯ ได้อพยพเจ้าหน้าที่ออกจากเมืองเป็นการชั่วคราว โดยจะจัดให้มีทีมงานคอยให้บริการแก่ประชาชนในค่ายพักพิงฯ โรห์ ด้านบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน การดูแลรักษาเบื้องต้นในรายกรณีวิกฤต การดูแลด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ การฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ และบริการน้ำสะอาดและการสุขาภิบาล อย่างไรก็ตาม ทางองค์การฯ ก็ได้มีข้อกังวลในสถานการณ์ต่อจากนี้หากภาวะความไม่สงบรุนแรงขึ้นและปัจจัยใช้สอยต่างๆ หมดลงไป
"เรากำลังกังวลว่าการเข้าถึงปัจจัยดำรงชีพของผู้คนนั้นกำลังอยู่ในความเสี่ยง อาทิ น้ำดื่มสะอาด อาหาร และการดูแลรักษาทางการแพทย์" บูบาการ์ อึมบัลโล กล่าว "ดังนั้น เราจึงขอเน้นย้ำต่อทุกฝ่ายของความขัดแย้ง ต้องมีความรับผิดชอบในการคุ้มครองความปลอดภัยและเคารพสิทธิของทั้งพลเรือนและผู้ปฏิบัติงานการแพทย์ ในทุกกรณี"