Skip to main content

    เมื่อโรคภัยและบริการทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอคือ “ฆาตกรเงียบ” ในกาซา

    Medical staff in Gaza often work from makeshift health facilities where patients have to queue for hours to get assistance. Palestinian Territories, March 2023. © MSF

    เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในกาซาไม่น้อยต้องทำงานภายในสถานพยาบาลชั่วคราว และผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าคิวรอเข้ารับการรักษาเป็นเวลาหลายชั่วโมง - ดินแดนปาเลสไตน์ มีนาคม 2566 © MSF

    • การเอาชีวิตรอดในกาซาเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจะเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากคุณภาพที่ลดลงของระบบบริการสุขภาพและสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่ย่ำแย่ได้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด ภาวะทุพโภชนาการ และผลกระทบด้านจิตใจในระยะยาว
    • เจ้าหน้าที่ภาคสนามขององค์การฯ บอกเล่าความยากลำบากในการมีชีวิตอยู่ของชาวปาเลสไตน์ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากโรคที่สามารถป้องกันได้หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงที เพราะระบบบริการสุขภาพที่จำเป็นสูญเสียเสถียรภาพในการดำเนินงาน

    กาซา/เยรูซาเลม/บาร์เซโลนา วันที่ 29 เมษายน 2567 รายงานจากองค์การระหว่างประเทศทางการแพทย์ องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ในหัวข้อ ฆาตกรเงียบแห่งกาซา ระบบบริการสุขภาพที่กำลังพังทลายและการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดในเมืองราฟาห์(Rafah)” ระบุถึงระบบบริการสุขภาพของกาซา (Gaza) ที่อยู่ในขั้นวิกฤต ประชากรชายหญิง รวมถึงเด็กกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อภาวะทุพโภชนาการ รวมถึงมิติด้านสุขภาพทางกายและจิตใจย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว

    หลังสงครามในกาซาลุล่วงมามากกว่าหกเดือน ความเสียหายไม่เพียงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดและการโจมตีทางอากาศจากทางกองทัพอิสราเอลเท่านั้น องค์การฯ กล่าวว่าความรุนแรงดังกล่าวยังก่อให้เกิดความยากลำบากต่อการเข้ารับการรักษาของชาวปาเลสไตน์ในกาซา และยังเตือนว่าอาจเผชิญกับตัวเลขความสูญเสียมหาศาล ที่มีสาเหตุมาจากการเสียชีวิตจากโรคที่สามารถป้องกันได้หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงที เพราะระบบบริการสุขภาพที่จำเป็นสูญเสียเสถียรภาพในการดำเนินงาน

    "จะต้องมีเด็กอีกกี่คนที่เสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบ (pneumonia) ในโรงพยาบาลที่ล้นทะลักไปด้วยผู้ป่วย" มารี คาร์เมน วินอเลส (Mari-Carmen Viñoles) หัวหน้าด้านการแพทย์ฉุกเฉินขององค์การฯ ตั้งคำถาม

    "จะต้องมีเด็กทารกอีกกี่คนที่ต้องเสียชีวิตทั้งที่ป่วยเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และจะต้องมีอีกกี่คนที่ต้องทรมานจากโรคเบาหวานแต่ไม่ได้เข้ารับการรักษา แล้วไหนจะเรื่องของหน่วยฟอกไตที่ถูกปิดลงเพราะเกิดการโจมตีโรงพยาบาล ทั้งหมดนี้ถือเป็น ‘ฆาตกรเงียบ’ ที่เกิดจากระบบบริการสุขภาพที่ล้มเหลวในกาซาแต่ไม่ถูกกล่าวถึง”
    มารี คาร์เมน วินอเลส

    หน่วยงานขององค์การฯ ในเขตราฟาห์ ได้รายงานว่าคุณภาพที่ลดลงของระบบบริการสุขภาพและสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่ย่ำแย่ได้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด ภาวะทุพโภชนาการ และผลกระทบด้านจิตใจในระยะยาว องค์การฯ ยังได้ออกมาเตือนอีกว่าการโจมตีของกองทัพในราฟาห์บนวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่มีอยู่ไม่ต่างอะไรกับหายนะแสนเลวร้าย รวมถึงยังคงเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันทีและถาวร

    สภาพความเป็นอยู่ในราฟาห์กับผลกระทบด้านสุขภาพ

    รายงานขององค์การฯ เผยว่า จากข้อมูลทางการแพทย์และการพูดคุยกับผู้ป่วยถึงความเป็นอยู่ในเมืองราฟาห์ พื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่ได้เอื้อต่อการมีชีวิตสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคและบริโภคอย่างรุนแรง อีกทั้งยังมีการสะสมที่หนาแน่นของขยะสิ่งปฏิกูลจำนวนมากในพื้นที่อันคับแคบนี้ ทั้งที่พื้นที่เหล่านี้คือที่อยู่อาศัยของผู้คนนับล้านที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากทางตอนเหนือของกาซา

    ภายในศูนย์บริการสาธารณสุขมูลฐาน (primary healthcare centre) ทั้งสองแห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การฯ ในอัล ชาบูรา (Al-Shaboura) และอัล มาวาซี (Al-Mawasi) ทีมงานได้ให้คำปรึกษาทางการแพทย์กว่า 5,000 รายในทุกสัปดาห์ และคนไข้หลายคนมาด้วยอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน มากกว่าร้อยละ 40 ของคนไข้เหล่านี้มาด้วยอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน นอกจากนี้ยังมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของเคสต้องสงสัยของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ (hepatitis A) ให้เห็น ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2566 ตัวเลขของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่ป่วยจากโรคท้องร่วง (diarrhoeal) สูงมากถึง 25 เท่าของตัวเลขผู้ป่วยในปีก่อนหน้า ระหว่างเดือนมกราคมและมีนาคม 2567 ทางองค์การฯ ได้รักษาเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีถึง 216 คน ที่มีภาวะทุพโภชนาการขั้นปานกลางและรุนแรง ซึ่งแทบจะไม่มีรายงานความเจ็บป่วยดังกล่าวในช่วงก่อนเกิดความขัดแย้ง

    A mother holds her twin babies, born the previous day at Emirati maternity hospital, Rafah. Palestinian Territories, March 2023. © Annie Thibault/MSF

    คุณแม่มือใหม่กับทารกฝาแฝดของเธอที่เพิ่งลืมตาดูโลกเมื่อวันก่อน ในโรงพยาบาลผดุงครรภ์เอมิราติ เมืองราฟาห์ - ดินแดนปาเลส์ไตน์ มีนาคม 2566 © Annie Thibault/MSF 

    ในช่วงเวลาที่โรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วยที่มีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ ผู้ป่วยรายอื่นที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเฉพาะทาง เช่น หญิงตั้งครรภ์ที่ปรากฏภาวะแทรกซ้อน รวมถึงผู้ป่วยอาการเรื้อรัง มักจะไม่ได้รับการดูแลรักษาเท่าที่ควรจะได้รับ ในโรงพยาบาลเอมิราติ (Emirati) องค์การฯ ได้เข้าปฏิบัติงานในหน่วยผู้ป่วยหลังคลอด ซึ่งเป็นงานที่หนักหน่วงเนื่องจากทางทีมต้องเผชิญกับการทำคลอดเกือบ 100 รายต่อวัน หรือสูงขึ้นกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนสงคราม ในขณะเดียวกันคลินิกขององค์การฯ ปรากฎผู้ป่วยจำนวนมากที่มาด้วยอาการของโรคที่หลากหลาย เช่นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด ลมชัก และมะเร็ง ที่ต้องการความช่วยเหลือและติดตามการรักษา อย่างไรก็ตามองค์การฯ ไม่สามารถจะรับมือกับผู้ป่วยทั้งหมดได้ เนื่องจากสถานการณ์เลวร้ายลงและมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือพิเศษที่หาได้ยากมากในกาซา แม้กระทั่งการส่งต่อผู้ป่วยนั้นยังเป็นได้ยากมากหรือเป็นไปแทบไม่ได้เลย

    สุขภาพจิตของประชากรรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ในกาซาเองก็ไม่ดีนัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาที่คลินิกขององค์การฯ ด้วยอาการหวาดกลัวและเครียด ไม่ว่าจะเป็นอาการทางจิตและภาวะซึมเศร้า ผู้ดูแลผู้ป่วยในครอบครัวได้หันไปพึ่งการใช้ยาสงบประสาทเกินขนาดในการช่วยให้ผู้ป่วยสงบลงและป้องกันการทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่นเนื่องจากยังขาดผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้

    การดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการทำงานทางการแพทย์ขององค์การฯ ร่วมกับระบบบริการสุขภาพของกาซาเต็มไปด้วยความท้าทายอย่างยิ่งยวด จากความไม่ปลอดภัยในพื้นที่ อีกทั้งยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับองค์การฯ ในการขนส่งอุปกรณ์สำหรับทางการแพทย์และการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไปยังกาซา จากข้อกำหนดของกองทัพอิสราเอลดั่งที่อธิบายไว้ในภาคผนวก

    "ในฐานะองค์การระหว่างประเทศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน พวกเรามีความเชี่ยวชาญและพร้อมยกระดับการทำงานของเรา บุคลากรทางการแพทย์ชาวปาเลสไตน์มีทักษะที่ดีเยี่ยม เพียงแต่ต้องการวิธีในการทำงานที่เป็นที่ยอมรับและมีเกียรติในการรักษาและช่วยชีวิตผู้คน มาจนถึงวันนี้ ทุกสิ่งยังคงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก หากการหยุดยิงโดยทันทีและถาวรยังไม่เกิดขึ้น และไม่มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างจริงจัง ความสูญเสียจะยังเกิดขึ้นต่อไป"
    ซิลเวียน เกราลส์ ผู้ประสานงาน

    องค์การฯ ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาล 3 แห่งในกาซา: โรงพยาบาลอัล อักซอ (Al-Aqsa hospital) ทางตอนกลางของกาซา โรงพยาบาลสนามราฟาห์อินโดนีเชียน (Rafah Indonesian) และโรงพยาบาลผดุงครรภ์เอมิราติ ทางตอนใต้ นอกจากนี้ยังมีสถานพยาบาล 3 แห่งในอัล ชาบูรา และ อัล มาวาซี ในเมืองราฟาห์ องค์การฯ ให้การช่วยเหลือและรักษาหลังการผ่าตัด กายภาพบำบัด การดูแลหลังคลอด การดูแลขั้นพื้นฐาน การฉีดวัคซีน และสุขภาพจิต อย่างไรก็ตามการปิดล้อมพื้นที่และคำสั่งอพยพที่ส่งไปยังโรงพยาบาลหลายแห่งปิดกั้นการส่งต่อการช่วยเหลือจากพวกเราให้เหลือเพียงบางพื้นที่และต้องลดขนาดของปฏิบัติการณ์ลง ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำหรับองค์การฯ ในการช่วยเหลือผู้คนอย่างเต็มที่

    องค์การฯ สนับสนุนน้ำสะอาดวันละกว่า 300 ลูกบาศก์เมตรในหลายพื้นที่ในราฟาห์ และยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพการดำรงชิวิตต่อไป โดยในวันที่ 25 มีนาคม องค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้สร้างระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในอัล มาวาซีเพิ่มเติม

    สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา

    สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้