Skip to main content

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) เริ่มปฏิบัติงาน ในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี 2527 (1984) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เราก็ได้ลงพื้นที่ไปยังเกาะลูซอน หมู่เกาะวิซายัส เกาะมินดาเนา เพื่อรับมือกับโรควัณโรค เอชไอวี/เอดส์ ภัยพิบัติ และโควิด-19

    ไทม์ไลน์: องค์การแพทย์ไร้พรมแดนในฟิลิปปินส์

    • 2527 (1984): โครงการเริ่มแรกในฟิลิปปินส์คือให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อให้บริการด้านสาธารณสุข  อันเกิดจากภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติทางธรรมชาติ 
    • 2532 – 2538 (1989 – 1995): เริ่มดำเนินโครงการควบคุมวัณโรคที่เมืองดาเวา
    • 2535 (1992): โครงการเมโทรมะนิลาให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ สุขภาพจิต สังคมวิทยาแก่เด็กเร่ร่อน
    • 2539 – 2542 (1996 - 1999): ดำเนินโครงการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/เอชีไอวี/เอดส์ ในเมืองดาเวา
    • 2541 (1998): ให้การสนับสนุนเพิ่มเติมในโครงการสาธารณสุขเพื่อเด็กเร่ร่อน รวมถึงโครงการที่ทำร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ด้านน้ำและ สุขาภิบาล และร้านขายยา
    • กรกฎาคม 2543 (2000): เราเริ่มให้ความช่วยเหลือประชาชนที่พลัดถิ่นเนื่องด้วยความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับ แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front หรือ MILF) 
    • 2555 (2012): ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข จัดส่งคลินิกเคลื่อนที่ไปให้บริการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก พายุไต้ฝุ่นที่เมืองคากายันเดโอโรและเมืองอีลีกัน
    • 2556 (2013): MSF ให้ความช่วยเหลือหลังเกิดพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน
    • 2558 (2015): ได้ลงนามร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในข้อตกลงในการให้ความช่วยเหลือด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ แก่ผู้อาศัย ในชุมชนแออัดในกรุงมะนิลา
    In Tondo, Manila, MSF worked with local NGO Likhaan. This photo was taken in 2019, before the pandemic. ©Melanie Wenger

    ที่เขตทอนโด กรุงมะนิลา MSF ร่วมงานกับ Likhaan องค์กร NGO ท้องถิ่น ภาพนี้ถ่ายในปี 2562 (2019) ก่อนเกิดการระบาดครั้งใหญ่ © Melanie Wenger

     

    • ตุลาคม 2559 (2016): เราเริ่มทำงานร่วมกับ Likhaan องค์กรท้องถิ่น ในการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ และอนามัยการเจริญพันธุ์ที่กรุงมะนิลา
    • ตุลาคม 2560 (2017): เราเริ่มให้การสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขหลังเกิดความขัดแย้งในเมืองมาราวี
    • 2561 (2018): เราได้ให้คำปรึกษาประมาณ 18,000 เคส ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องการคุมกำเนิดมากกว่า 12,000 เคส การเยียวยา ผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ 65 เคส และการให้คำปรึกษาตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์และหลังคลอด 1,700 เคส
    • 2563 (2020): ทีมงานได้สนับสนุนการดำเนินงานติดตามผู้สัมผัสโรคโควิด-19 ในระดับชุมชน และช่วยจัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์สำหรับมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (IPC) ในสถานพยาบาลที่ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยโรคโควิด-19
    • มิถุนายน - ตุลาคม 2563 (2020): เราเริ่มให้การสนับสนุนแก่โรงพยาบาลซาน ลาซาโร ในกรุงมะนิลา ในด้าน ทรัพยากรบุคคล ชุด PPE เครื่องมือทางชีวการแพทย์ และยารักษาโรค
    • กรกฎาคม 2563 (2020): มีการผลักดันการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ทางโทรศัพท์มือถือด้วยการส่งข้อความการส่งเสริม สุขภาพไปยังประชาชนที่อาจติดเชื้อได้ง่ายในเมืองมาราวี ทีมงานได้จัดการฝึกอบรมให้แก่ทีมสาธารณสุขท้องถิ่น ที่มีหน้าที่เฝ้าระวังโรคโควิด-19
    • พฤศจิกายน 2563 (2020): ฟิลิปปินส์ถูกพายุไต้ฝุ่นสองลูกถล่มติดกันอย่างต่อเนื่อง เราได้จัดการฝึกอบรมเรื่องการป้องกัน และควบคุมการติดเชื้อ (IPC) โรคโควิด-19 พร้อมกับได้บริจาคชุด PPE สำหรับผู้ที่อยู่ในศูนย์อพยพ
    • ธันวาคม 2563 (2020): หลังจากผ่านไปห้าปี ก็ได้ส่งมอบการดำเนินงานในคลินิก Lila ให้องค์กร Likhaan ดูแลต่อไป

     
    การสนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ในชุมชนแออัดของมะนิลา

    ในปี 2558 (2015) รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เพิ่มความพยายามในการต่อสู้กับมะเร็งปากมดลูก โดยให้ความสำคัญกับผู้หญิงในภูมิภาคที่ยากจนที่สุด จากการประเมินขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ยืนยันว่าชุมชนแออัดในเขตทอนโด กรุงมะนิลา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ มีความต้องการความช่วยเหลือในด้านสุขภาวะทางเพศและ อนามัยการเจริญพันธุ์

    ในปี 2559 (2016) เราเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ Likhaan องค์กร NGO ท้องถิ่น ในการให้การสนับสนุนคลินิกคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกและการบำบัดด้วยความเย็น ควบคู่ไปกับบริการด้านสุขภาวะทางเพศและการวางแผนครอบครัว ทีมงานได้ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งให้คำปรึกษาและการรักษาฟรี

    ในช่วงปี 2559 (2016) มีผู้หญิงเกือบ 12,000 รายเข้ารับการคัดกรอง ซึ่งในกลุ่มนี้มี 6,400 รายที่มารับการตรวจครั้งแรก ด้วยความช่วยเหลือของหน่วยงานสาธารณสุขกรุงมะนิลา โครงการนี้ได้ให้บริการวัคซีนรอบแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (2017) และมีเด็กผู้หญิงวัย 9 - 13 ปี มากกว่า 25,000 รายที่ได้รับวัคซีน

    ในปี 2562 (2019) โครงการได้ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ด้วยการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยนอก 35,600 ราย และให้คำปรึกษา ก่อนคลอด 1,120 ราย นอกจากนี้ ทีมงานยังได้ให้คำปรึกษาเรื่องการวางแผนครอบครัวทั้งหมด 15,049 ราย และตรวจคัดกรองผู้หญิง 4,352 ราย 

    เป็นเวลา 5 ปีแล้วที่โครงการได้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในเขตซานแอนเดรสและทอนโด ซึ่งเป็นสองชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและยากจนที่สุดในกรุงมะนิลา และในปลายปี 2563 (2020) ก็ได้ส่งมอบ การดำเนินงานให้องค์กร Likhaan ดูแลต่อไป

    A session on sexual violence level in the Lila Clinic, Manila. ©Melanie Wenger

    การให้ความรู้เกี่ยวกับระดับความรุนแรงทางเพศที่คลินิก Lila ในกรุงมะนิลา © Melanie Wenger

    เรื่องเล่าจากผู้ป่วย: การช่วยชีวิตที่ไม่มีใครมองเห็น

    “เราเห็นพวกเขาในทีวี คนที่ต้องเสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์เพราะโรคมะเร็งมดลูก” แมรี่ เจน อธิบาย

    รัฐบาลได้เพิ่มความพยายามในการต่อสู้กับโรคมะเร็งปากมดลูกในพื้นที่ชนบท แม้ในเขตทอนโดซึ่งตามหลัก อยู่ในกรุงมะนิลา ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ แต่แท้จริงแล้วกลับไม่มีใครมองเห็นปัญหาของแมรี่ เจน เลย 

    แมรี่ เจน ได้ส่งลูกสาวและหลานสาวของเธอไปรับการฉีดวัคซีน เพราะพวกเขารู้เรื่องราวทั้งหมดของโรคร้ายนี้ พวกเขารู้ว่าแม้การสร้างภูมิคุ้มกันนั้นจะดูน่ากลัว แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็น

    ในตอนแรก หลานสาวของแมรี่ เจน รู้สึกกังวลเล็กน้อย เธอกล่าวว่า “ฉันไม่ได้มองเข็มเลย ฉันมองแม่อย่างเดียว”

    การสนับสนุนสาธารณสุขมูลฐานหลังเกิดการโจมตีในมาราวี

    เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 (2017) กลุ่มไอเอสบุกโจมตีเมืองมาราวีทางตอนใต้ของประเทศ ความขัดแย้งระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์กับกลุ่มไอเอสปะทุขึ้น การโจมตีเกิดขึ้นเป็นเวลา 5 เดือน และประชาชนราว 370,000 รายถูกบีบให้ต้องหลบหนีออกจากที่อยู่อาศัย

    ในช่วงหลังเกิดการโจมตี องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ช่วยให้ผู้อพยพได้มีน้ำสะอาดใช้ฟรี พวกเขาจึงสามารถรักษาสุขอนามัยที่ดีเพื่อป้องกันโรคระบาดต่างๆ ได้ ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตได้จัดกิจกรรมด้านจิตสังคมให้แก่ผู้อพยพที่ต้องรับมือกับภาวะช็อคอันเกิดจากความรุนแรงจากการหลบหนี และความเครียดยังส่งผลกระทบต่อเด็ก ดังนั้นการเข้าร่วมกิจกรรมบำบัดที่จัดขึ้นจึงช่วยให้พวกเขารู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

    Supporting mental health after the Marawi siege ©Melanie Wenger

    การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตหลังเกิดเหตุโจมตีที่มาราวี © Melanie Wenger

    ตั้งแต่การโจมตีสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 2560 (2017) ได้เกิดการระบาดของโรคหัด ไข้เลือดออก และโปลิโอ ทันทีที่การโจมตีจบลง ทีมงานได้เริ่มส่งบุคลากรทางการแพทย์และสิ่งของเข้าไปยังพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ มากที่สุดในมาราวีหลังเหตุความขัดแย้ง MSF ได้ให้การรักษาผู้ป่วย 2,300 รายในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2561 (2018)

    กว่า 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนราว 70,000 รายยังคงอาศัยอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในที่พักชั่วคราว และอีก 50,000 รายได้รับการประเมินว่าต้องไปอาศัยอยู่ที่บ้านสมาชิกในครอบครัว 

    ปัจจุบัน MSF ได้ให้การสนับสนุนสถานีอนามัย 3 แห่งในพื้นที่ โดยให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต การรักษา โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และให้บริการยารักษาโรคฟรี

    Primary healthcare in Marawi ©Veejay Villafranca/MSF

    การให้บริการสาธารณสุขมูลฐานในเมืองมาราวี © Veejay Villafranca/MSF

    เรื่องเล่าจากผู้ป่วย: การพลัดถิ่น


    โซไบดา โคมาดุก วัย 60 ปี ใช้ชีวิตทั้งชีวิตในเมืองมาราวีมาโดยตลอด เธอเล่าถึงความยากลำบากที่คนในพื้นที่ต้องเผชิญว่า น้ำขาดแคลน ที่พักชั่วคราวอยู่ไกลจากตลาด และอาหารมีราคาแพง ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ผู้คนจำต้องพึ่งพาอาหารพร้อมทาน ขณะที่แพทย์ได้แนะนำให้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อใช้เป็นเหมือนยารักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง


    “การทำอาหารที่มีประโยชน์เป็นเรื่องยาก เราอยู่ห่างไกลจากร้านขายผักและผลไม้ หรือต่อให้ไปซื้อมาได้เราก็ไม่มีน้ำสะอาดไว้ล้างผักอยู่ดี” โซไบดากล่าว 


    ทีมแพทย์มาถึงหลังเกิดพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน 1 วัน 


    ในปี 2556 (2013) พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน หนึ่งในพายุที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา คร่าชีวิตประชาชนในฟิลิปปินส์ ไปมากกว่า 6,300 ราย และอีก 4 ล้านรายไร้ที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย และเสบียงยามฉุกเฉินก็ถูกพายุพัดไปหมด จึงมีความต้องการทางการแพทย์อย่างมากและมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคติดต่อระบาด
     

    A health worker treats a paediatric patient. ©MSF

    เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังรักษาผู้ป่วยเด็ก © MSF

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนทำการส่งทีมงานไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นที่ทำให้เกิดแผ่นดินถล่มได้ภายใน 1 วัน

    ความพยายามในการบรรเทาภัยพิบัติในครั้งนี้ได้แก่ การรักษาโดยการผ่าตัด 11,624 ราย การฉีดวัคซีนโรคบาดทะยัก หัด โปลิโอ และตับอักเสบ 29,188 ราย การดูแลรักษาหรือให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต 27,044 ราย การทำคลอด 2,445 ราย การตั้งคลินิกเคลื่อนที่ 133 แห่ง การก่อสร้างโรงพยาบาลกึ่งถาวร 1 แห่ง การฟื้นฟูโรงพยาบาล 7 แห่ง การแจกจ่ายถุงยังชีพบรรเทาทุกข์ 71,979 ถุง เสบียงอาหารสำหรับประชาชน 50,000 ราย และน้ำ 14,473,500 ลิตร

    โดยรวมแล้วเราได้ส่งอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับให้ความช่วยเหลือจำนวน 1,855 ตัน และส่งเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เกือบ 800 ราย ลงพื้นที่ตามตำแหน่งที่ได้รับผลกระทบ

    เรื่องเล่าจากผู้ป่วย: การสูญเสียทุกสิ่ง

    “ตอนที่พายุไต้ฝุ่นถล่มเมืองของเรา เราได้หาที่หลบภัยที่บ้านของพ่อแม่ฉัน” คุณแม่ของนีโญ่ ปาเดอร์โนส ทารกวัย 5 เดือนกล่าว “ลมแรงมากจนหลังคาบ้านปลิว นีโญ่ตัวเปียกชุ่ม เราไม่สามารถห่อเขาหรือทำให้ตัวเขาแห้งได้เลย เพราะทุกอย่างเปียกไปหมด เราไม่มีอะไรเลย เราสูญเสียทุกอย่าง”

    พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนทำลายเมืองจีวัน เมืองที่มีประชาชนราว 45,000 ราย ทางตะวันออกของเกาะซามาร์ มากกว่าหนึ่งสัปดาห์หลังเกิดพายุ นีโญ่และครอบครัวอาศัยอยู่ในบ้านที่สร้างขึ้นแบบลวกๆ ด้วยไม้ผุพังที่เหลืออยู่ของบ้านของพวกเขาที่ถูกทำลาย

    “สองวันก่อนเขาไข้ขึ้นและไข้ไม่ยอมลด” คุณแม่ของนีโญ่กล่าว “ฉันกังวลมาก ไม่มีสถานีอนามัยที่ให้บริการฟรี อยู่ใกล้เมืองเลยเพราะมันพังหมดแล้ว เราถามคนในชุมชนว่าเราจะพาลูกชายเราไปรักษาได้ที่ไหน เราไม่มีเงินค่ารักษา และเขาเป็นลูกเพียงคนเดียวของเรา คนในชุมชนบอกให้เรามาที่จีวัน พวกเขาบอกว่า MSF รักษาให้ฟรีและสามารถช่วยเราได้” พวกเขาเดินทางมากจากเมืองบัวบัวด้วยรถมอเตอร์ไซค์โดยใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งมายังเมืองจีวัน

    และนีโญ่ได้เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลสนามของ MSF ในเมืองจีวัน

    เรื่องเล่าจากภาคสนาม: หลังเกิดพายุ

    10 วันหลังพายุไต้ฝุ่นถล่ม แคโรไลน์ เซอกีน ผู้ประสานงานฉุกเฉิน ได้เล่าถึงความท้าทายครั้งใหญ่ในการเดินทางไปให้ความช่วยเหลือแบบฉุกเฉิน

    Bringing services and supplies to distant towns ©MSF

    การส่งความช่วยเหลือและสิ่งของไปยังเมืองที่ห่างไกล © MSF

    “เราได้ดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่มากกว่า 150 คน และสิ่งของหลายร้อยตันไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ ความต้องการทางสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพความเป็นอยู่ทำให้เกิดความเสี่ยงของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคปอดบวม และโรคที่มีน้ำเป็นพาหะ สถานที่ส่วนใหญ่ที่เราไปปฏิบัติงานมีระบบสาธารณสุขที่ไม่เป็นระบบอย่างมาก และเรากำลังมุ่งความสนใจไปที่การฟื้นฟูคุณภาพของสาธารณสุขมูลฐานและการบริการของโรงพยาบาล ในเมืองจีวัน โรงพยาบาลสนามสร้างอยู่บนพื้นที่ของโรงพยาบาลที่ได้รับความเสียหาย ในเมืองตาโกลบัน ได้มีการตั้งโรงพยาบาลสนามที่ใช้เต็นท์แบบพองลมและมีการให้บริการมากมายทั้งห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยใน และห้องผ่าตัด ทีมของเราได้จัดตั้งแผนกแม่และเด็กและแผนกสูตินรีเวชอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ยังมีความต้องการ การบริการทางสุขภาพจิตจำนวนมาก นี่เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งของการรับมือของเรา เป็นเรื่องสำคัญโดยตรง สำหรับการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์หากเทียบกับการช่วยเหลือที่น่าท้าทายในเรื่องการขนส่งอื่นๆ”

    การรับมือโรคโควิด-19

    การช่วยเหลือที่โรงพยาบาลซาน ลาซาโร

    ในเดือนมกราคม 2563 (2020) ผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายแรกในฟิลิปปินส์ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลซาน ลาซาโร (SLH) ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์พิเศษแห่งชาติสำหรับโรคติดเชื้อในกรุงมะนิลา

    Staff get swabbed for COVID-19 after their deployment at San Lazaro Hospital. ©Veejay Villafranca/MSF

    เจ้าหน้าที่เข้ารับการตรวจโรคโควิด-19 โดยวิธี swab หลังจากลงพื้นที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลซาน ลาซาโร © Veejay Villafranca/MSF

    เริ่มแรกโรงพยาบาล SLH มีศูนย์บำบัดผู้ป่วยวิกฤติโรคโควิด-19 (ICU) 2 แห่ง และ 3 แผนก องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ได้ให้การสนับสนุนการทดสอบ การจัดการข้อมูล การเสริมสร้างสมรรถนะบริหารจัดการด้วยเครื่องมือชีวการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) การฝึกอบรมเรื่องการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน

    ©Veejay Villafranca/MSF

    ทีมงานของ  MSF ในโครงการความร่วมมือกับโรงพยาบาล SLH © Veejay Villafranca/MSF

    นอกจากนี้เรายังได้สนับสนุนทรัพยากรบุคคลแก่ SLH เพื่อช่วยปฏิบัติงานในแผนกห้องปฏิบัติการและระบาดวิทยา รวมถึงแพทย์และพยาบาลเพื่อช่วยปฏิบัติงานในแผนกโควิด-19 และการคัดแยกผู้ป่วย รวมทั้งแผนกวัณโรค

    การป้องกันไวรัสในชุมชนแออัด

    เป็นเรื่องยากสำหรับการป้องกันการระบาดครั้งใหญ่ในชุมชนที่มีคนยากจนอาศัยอยู่อย่างแออัดในกรุงมะนิลา ที่ซึ่ง “บารังไกย์” (หมู่บ้าน) แห่งเดียวมีประชากร 55,000-61,000 ราย

    ในช่วงเวลาสั้นๆ ในปี 2563 (2020) รัฐบาลได้อนุญาตให้มีการแยกกักตัวในบ้าน ที่ชุมชนแออัดในเขตทอนโด เราได้ให้การสนับสนุนชุดสุขอนามัยมากกว่า 2,000 ชุดแก่ครัวเรือนในพื้นที่และผู้สัมผัสใกล้ชิด เนื่องจากผู้ที่ต้องกักตัวไม่สามารถออกไปทำงานได้ เราจึงร่วมมือกับกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนท้องถิ่นในการจัดส่งอาหารให้พวกเขาตามที่ต้องการ และมีการให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมแก่ผู้ที่กักตัวด้วย

    ที่สถานีอนามัยประจำหมู่บ้าน เราได้จัดมาตรการการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (IPC) ผ่านการฝึกอบรม จัดเตรียมชุด PPE จุดล้างมือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และสื่อการให้ความรู้เรื่องเชื้อไวรัส และเรายังได้ช่วยเหลือในเรื่องผู้สัมผัสติดต่อด้วย

    เพื่อช่วยในการป้องกันเจ้าหน้าที่ในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่หมู่บ้าน เราได้สนับสนุนอุปกรณ์สำหรับ ป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (IPC) ได้แก่ หน้ากากอนามัย หน้ากากเฟซชิลด์ แอลกอฮอล์ และสบู่ล้างมือ การดำเนินงานครั้งนี้ได้มีการจัดทำวิดีโอเกี่ยวกับการสื่อสารความเสี่ยงอีกด้วย


    เรื่องเล่าจากภาคสนาม: ความท้าทายของการกักตัวในชุมชนแออัด

    การกักตัวในบ้านเป็นเรื่องท้าทาย ดังเช่นในบ้านขนาดเล็ก ไลก้า ลูซีน่า นักสังคมสงเคราะห์ ได้ให้ข้อมูลว่า “การกักตัวในบ้านเป็นสิ่งที่ลำบากมาก แทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดแทบจะหาห้องแยกต่างหากสำหรับผู้ป่วยไม่ได้เลย หลายคนพยายามที่จะเข้าถึงความต้องการขั้นพื้นฐานเนื่องด้วยความกังวลด้านเศรษฐกิจ อย่างเช่น การตกงานกะทันหัน และการสูญเสียแหล่งรายได้ของผู้ที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ”

    ภาวะสุขภาพทางจิตยิ่งทำให้ทุกอย่างยากขึ้น “หลายคนที่กักตัวอยู่ในบ้านต้องเผชิญกับความวิตกกังวลและอารมณ์หดหู่ พวกเขากังวลว่าอาจทำให้คนอื่นติดเชื้อ โดยเฉพาะคนที่พวกเขารัก และพวกเขาก็ยังกลัวว่าตัวเองจะป่วย หรือติดเชื้อไวรัสอีกครั้ง ผู้ป่วยจำนวนมากต้องพบกับความโดดเดี่ยวยามที่ต้องอยู่ห่างจากครอบครัวหลายคนเล่าถึงความรู้สึกโกรธ ความคับข้องใจ และการหมดหนทางช่วยเหลือสำหรับสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญ”


    เรื่องเล่าจากผู้ป่วย: แรงใจนอกเหนือจากยาและหน้ากาก

    บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ให้ความช่วยเหลือที่ยิ่งกว่าการให้ยาและรักษาโรค โรมีนา ซวน พยาบาลท่านหนึ่ง กล่าวว่า “ตอนที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เธอกังวลเรื่องลูกๆ ของเธอมาก ระหว่างรักษาเธอแค่มีไข้และเจ็บคอเท่านั้น หนึ่งสัปดาห์หลังเข้าโรงพยาบาล ผลทดสอบจากการ swab ของเธอเป็นบวก สองสามวันต่อมาความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดเธอต่ำลง ต้องใช้หน้ากากสำหรับส่งออกซิเจนบำบัด (Non-Rebreather Mask หรือ NRM) เราเริ่มเพิ่มยาปฏิชีวนะให้กับเธออีกโดส เธอกังวลและท้อถอยกว่าเดิม”

    “เธอมักจะจำเสียงของฉันได้ตอนที่ฉันเข้ามาในห้องเธอ เธอชอบพูดว่า ‘มีนา เธอเป็นคนร่าเริงมากใช่รึเปล่า’ ฉันตอบว่า “แน่นอนค่ะคุณ ฉันอยากให้คุณมีพลังสดใสเหมือนฉัน! อย่าลืมที่บอกนะคะ เราอยากให้ค่าออกซิเจนคุณสูงขึ้น เมื่อถึงตอนนั้นเราก็เอาหน้ากาก NRM ออกได้แล้ว”

    ไม่นานนักผู้ป่วยก็มีอาการดีขึ้นและไม่กีวันต่อมาก็ได้ออกจากโรงพยาบาล


    การทำงานโดยไร้พรมแดน

    เรามีผู้ปฏิบัติงานภาคสนามและเจ้าหน้าที่จากฟิลิปปินส์มากมายที่ทำงานในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงภารกิจและโครงการต่างๆ ทั่วโลก

    ที่เลบานอน แพทย์หญิงคารีนา อากีลาร์ วิสัญญีแพทย์ชาวฟิลิปปินส์ พูดคุยเกี่ยวกับงานของเธอในโรงพยาบาลที่บาร์อีเลียส 

    ผู้ประสานงานด้านการเงินชาวฟิลิปปินส์ไปทำอะไรที่เยเมน คุณสามารถอ่านเรื่องราวของเมลวิน ไคบิแกนได้ที่นี่