Skip to main content

    ปาเลสไตน์: “สถานการณ์ที่ย่ำแย่มาก ไม่มีหมอมาที่นี่เป็นปีแล้ว”

    Yasmin Jamal Mahmoud Abu Mustafa, MSF’s community health worker, talks to some beneficiaries in an MSF mobile clinic in Masafer Yatta, Hebron.©MSF/Katharina Lange

    ยัสมิน ญะมัล มะฮ์มุด อาบู มุสตาฟา นักสาธารณสุขชุมชนจาก MSF กำลังพูดคุยกับผู้เข้ารับบริการคลินิกเคลื่อนที่ของ MSF ในมาซาเฟอร์ ยัตตา เมืองฮีบรอน ©MSF/Katharina Lange

    พื้นที่มากกว่าครึ่งของเขตเวสต์แบงก์อยู่ในแอเรีย ซี นั่นหมายความว่าอยู่ภายใต้การควบคุมทางทหารและพลเรือนของอิสราเอลโดยตรง สิ่งเหล่านี้กลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการบริการทางสาธารณสุขของชาวปาเลสไตน์ราว 3 แสนคน ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเล็กๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในเขตนี้ และประชากรมากกว่า 1 ใน 3 ต้องพึ่งพาคลินิกเคลื่อนที่ในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น

    การเดินทางไปยังคลินิกที่ใกล้ที่สุดก็มักจะมีค่าใช้จ่ายในระดับที่ประชาชนไม่สามารถจ่ายไหว และการเดินทางไกลโดยไม่มีระบบขนส่งสาธารณะรวมถึงสภาพถนนที่ย่ำแย่ทำให้รถพยาบาลไม่สามารถจะเข้าถึงชุมชนได้อย่างที่ต้องการ ฉะนั้นในเวลาจำเป็นต้องเข้ารับบริการทางสุขภาพ เช่น เมื่อตั้งครรภ์ พวกเขาจึงจำเป็นต้องไปอยู่ไกลบ้านเป็นเวลานาน

    Some patients reaching MSF’s mobile clinics in Masafer Yatta (Hebron) have to reach with their donkeys as there is lack of transportation means. ©MSF/Katharina Lange

    ผู้ป่วยบางรายที่เข้ามายังคลินิกเคลื่อนที่ของ MSF ในมาซาเฟอร์ ยัตตา (เมืองฮีบรอน) ต้องเดินทางโดยใช้ลาเพราะที่นี่ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ ©MSF/Katharina Lange

    มาซาเฟอร์ ยัตตา ซึ่งอยู่ในเขตปกครองของเมืองฮีบรอนและอยู่ในแอเรีย ซี ไม่มีการบริการทางการแพทย์มาเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากองค์กรระดับชาติหลายองค์กรที่สนับสนุนคลินิกเคลื่อนที่ได้ขอชะลอโครงการด้วยเหตุผลมากมาย ทั้งการถูกลดเงินทุนและกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งกระทบต่อองค์กร NGO ในท้องถิ่น สถานการณ์จึงยิ่งแย่ลงเมื่อมีความต้องการบริการทางสาธารณสุขอย่างเร่งด่วนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

    เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมงานจากองค์การแพทย์ไร้พรมแดน หรือ MSF ได้เริ่มลงพื้นที่ไปยังชุมชนเหล่านี้อีกครั้งเพื่อให้บริการทางสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน โดยมีบริการหลากหลาย ได้แก่ การให้คำปรึกษาทั่วไปแก่ผู้ป่วยนอก (โดยเน้นที่เด็กและผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) อนามัยเจริญพันธุ์ สุขภาพจิต และการคัดกรองภาวะโภชนาการ นอกจากนี้ยังมีการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นที่คลินิกเหล่านี้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมก็จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในเมืองยัตตา 

    MSF’S Tonadella Karim talks to Mohammad Issa (67) who visited an MSF mobile clinic to get medication for him and his wife, both suffering chronic diseases. ©MSF/Katharina Lange

    โทนาดีญา การิม เจ้าหน้าที่ของ MSF กำลังพูดคุยกับโมฮัมหมัด อิสซา ที่เข้ามาที่คลินิกเคลื่อนที่ของ MSF เพื่อรับยารักษาโรคเรื้อรังสำหรับตัวเองและภรรยา ©MSF/Katharina Lange

    ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา MSF ได้ลงพื้นที่ในชุมชนรวม 3 แห่งอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ ดากีกะห์ ดายันบา และคอรอบัร อัล ฟิกฮียะห์ และในสัปดาห์สุดท้ายก็ได้ไปที่อัม ยุสซาด้วย ทีมงานของเราซึ่งประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล พยาบาลผดุงครรภ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและนักสร้างเสริมสุขภาวะได้ดำเนินการให้คำปรึกษาแก่ประชาชนไปแล้วเกือบ 300 รายนับตั้งแต่เริ่มลงพื้นที่
     
    “ไม่มีหมอมาที่นี่เป็นปีแล้ว คนของเราต้องไปที่ยัตตาเพื่อรับบริการทางสาธารณสุข” โมฮาหมัด อายุบ ฮาหมัด ผู้นำชุมชนในคอรอบัร อัล ฟิกฮียะห์ ซึ่งทีมงาน MSF ได้เข้าไปให้บริการคลินิกเคลื่อนที่กล่าว “สถานการณ์ย่ำแย่มากโดยเฉพาะสำหรับหญิงมีครรภ์ เพราะบ้านที่ไม่มีรถต้องเจอกับปัญหาใหญ่” เขาพูดเสริม

    ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขอย่างมาก เพราะโดยปกติผู้ชายจะเข้าไปยังเมืองยัตตาซึ่งเป็นเมืองที่ใกล้ที่สุดเพื่อซื้อขายสินค้า พวกเขาจึงสามารถที่จะเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้ตามต้องการ แต่ผู้หญิงต้องทำงานอยู่ในไร่นาทั้งวันทั้งคืนโดยไม่มีคนมาทำแทน ผู้หญิงส่วนใหญ่จึงละเลยการดูแลสุขภาพตัวเองและรอจนอาการรุนแรงจึงค่อยหาทางรักษา นอกจากนั้นแล้ว ในมาซาเฟอร์ ยัตตา ยังไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ แม้ว่าบางครอบครัวจะมีรถ แต่ก็เป็นสิ่งที่ “ผิดกฎหมาย” เพราะพวกเขาไม่ได้ขึ้นทะเบียน จึงอาจถูกยึดทรัพย์ได้ทุกเมื่อ

    ราชา (นามสมมุติ เพื่อปกป้องสิทธิผู้ป่วย) เดินทางไปยังคลินิกเคลื่อนที่คอรอบัร อัล ฟิกฮียะห์ โดยใช้ลาจากหมู่บ้านของเธอ ที่อยู่ใกล้ๆ “ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว อย่างน้อยก็มีหมอมาตรวจเยี่ยมเราทุกสัปดาห์ และเราก็ได้รับยารักษา ก่อนหน้านี้ถ้าฉันหรือลูกๆ ต้องการยา ฉันจะต้องเดินถามหาจากเพื่อนบ้านทั่วทั้งหมู่บ้าน” เธอกล่าว เมื่อสัปดาห์ก่อน ราชาพาลูกสองคน มาตรวจ นอกจากปัญหาทั้งหมดนี้แล้ว เธอได้กล่าวอีกว่า “ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราขาดรายได้ เพราะเราไม่มีชีสหรือบัตเตอร์มิลค์ไปขาย”

    Rasha (fake name to protect patient’s anonimity) can see a difference since MSF mobile clinics started in the area where she lives. In absence of public transportation, she came to the clinic by donkey.©MSF/Katharina Lange

    ราชา (นามสมมุติ เพื่อปกป้องตัวตนของผู้ป่วย) มองเห็นความแตกต่างเมื่อคลินิกเคลื่อนที่ของ MSF เข้ามาในพื้นที่ที่เธออาศัยอยู่ และเนื่องจากไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ เธอจึงต้องเดินทางมายังคลินิกโดยใช้ลา ©MSF/Katharina Lange

    อุปสรรคของบริการทางการแพทย์ในพื้นที่นี้คือ ประชาชนในเขตแอเรีย ซี ไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรหรือกึ่งถาวรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐอิสราเอล ซึ่งเป็นการยากที่จะได้รับการยินยอม แม้แต่สิ่งปลูกสร้างเรียบง่ายแบบคลินิกเคลื่อนที่ของ MSF อย่างที่ในคอรอบัร อัล ฟิกฮียะห์ ก็ยังได้รับคำขู่ให้รื้อถอน โดยตั้งแต่ปี 2555 มีโรงเรียนและคลินิกละแวกใกล้เคียงได้รับคำสั่งให้รื้อถอนมาตลอด ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขาอาจถูกคุกคามได้ทุกเมื่อ

    “เราหวังว่าองค์กรระดับชาติหรือกระทรวงสาธารณสุขของปาเลสไตน์จะมีความสามารถและงบประมาณในการสนับสนุนการบริการทางการแพทย์ให้แก่ชุมชนในเขตพื้นที่อย่างมาซาเฟอร์ ยัตตา ในอนาคต” แคทธารีนา เลนจ์ ผู้ประสานงานโครงการ MSF ของฮีบรอน กล่าว

    MSF เริ่มเข้ามาปฏิบัติงานในเขตยึดครองของปาเลสไตน์ในปี 2532 (1989) โดยมุ่งเน้นที่การช่วยเหลือด้านการบริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานในกาซา

    ในปี 2539 (1996) ได้เริ่มเปิดคลินิกเคลื่อนที่ในเมืองฮีบรอน (เขตซีและเขตเอช 2) และ 10 ปีต่อมาก็ได้ส่งให้องค์กรอื่นดำเนินการต่อ นอกจากการให้บริการทางการแพทย์ในฮีบรอนแล้ว ปัจจุบัน MSF ยังได้ดำเนินการให้บริการด้านสุขภาพจิตในเมืองฮีบรอนและนาบลัส ซึ่งอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ ส่วนในกาซา MSF ได้เปิดแผนกผู้ป่วยในและคลินิกเพื่อรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บและมีบาดแผลจากไฟไหม้ โดยมีบริการศัลยกรรมตกแต่งและศัลยกรรมกระดูกและข้อเพื่อปิดบาดแผลขนาดใหญ่ รวมทั้งเริ่มรักษากระดูกที่สูญเสียไปและได้รับความเสียหาย ตลอดจนการทำแผล กายภาพบำบัด การให้ความรู้ด้านสุขภาพ และการสนับสนุนด้านจิตสังคม