Skip to main content

    บังกลาเทศ: การลดความช่วยเหลือด้านอาหารจะส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของผู้ลี้ภัยอย่างรุนแรง

    A woman carrying food for her family. Bangladesh, 2018. © Vincenzo Livieri

    ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังหาอาหารให้ครอบครัวของเธอในค่ายผู้ลี้ภัยใน Cox's Bazar บังกลาเทศ 2018 © Vincenzo Livieri

    ชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่ที่สุดของโลกในเขต Cox’s Bazar เกือบทั้งหมดต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านอาหาร เนื่องจากพวกเขาถูกจำกัดให้อยู่แต่ในค่าย และห้ามประกอบอาชีพอย่างเป็นทางการ ฉะนั้นการตัดสินใจปรับลดความช่วยเหลือด้านอาหารจึงเท่ากับเป็นการขัดขวางไม่ให้พวกเขาได้รับปริมาณแคลอรี่ที่เหมาะสมต่อวัน

    การได้รับปริมาณแคลอรี่ต่อวันที่น้อยลงทำให้ผู้คนเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการและโรคโลหิตจาง ทั้งยังส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคติดเชื้อในอนาคต เช่น โรคหัดและอหิวาตกโรค โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์จำนวนมากที่ได้รับการฝากครรภ์ที่สถานพยาบาลขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนล้วนเป็นผู้ที่ขาดสารอาหารอยู่แล้ว

    ปีที่แล้ว ร้อยละ 12 ของสตรีที่ตั้งครรภ์ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล Kutupalong และคลินิก Balukhali ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคขาดสารอาหารเฉียบพลัน ขณะที่อีกร้อยละ 30 เป็นโรคโลหิตจาง

    มารดาที่ขาดสารอาหารและเป็นโรคโลหิตจางมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอดบุตร ในขณะที่ทารกแรกเกิดมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพอ่อนแอ ระดับความช่วยเหลือด้านอาหารในปัจจุบัน ร้อยละ 28 ของทารกที่เกิดในโรงพยาบาล Kutupalong และคลินิก Balukhali ยังมีน้ำหนักแรกเกิดที่ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้มีโอกาสป่วยและขาดสารอาหารมากกว่าเด็กทั่วไป 

    ผู้ลี้ภัยจำนวนมากในค่ายต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น โรคหัวใจล้มเหลวและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ปัจจุบันองค์การแพทย์ไร้พรมแดนให้การดูแลผู้ป่วยมากกว่า 4,500 ราย ซึ่งสำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ อาหารเพื่อสุขภาพนับเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพของพวกเขา ฉะนั้นการปรับลดมูลค่าเงินช่วยเหลือจึงเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ นำมาซึ่งการพึ่งพาการรักษาพยาบาลและความต้องการบริการด้านสุขภาพในค่ายมากขึ้น

    The outpatient department at MSF’s Kutupalong Hospital. Bangladesh, 2022. © Saikat Mojumder/MSF

    แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาล Kutupalong ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน บังกลาเทศ 2022 © Saikat Mojumder/MSF

    บริการด้านสาธารณสุขในค่ายต่างๆ ดำเนินการอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาล เนื่องจากพวกเราต้องรับมือกับผลกระทบทางการแพทย์จากสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายของผู้ลี้ภัย รวมถึงการระบาดของโรคหิด ไข้เลือดออก และอหิวาตกโรค ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะสุขาภิบาลที่ไม่ดี

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนกังวลว่า การปรับลดความช่วยเหลือด้านอาหารจะยิ่งเพิ่มความรู้สึกสิ้นหวัง และอาจผลักดันให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากขึ้นต้องเดินทางทางทะเลและทางบกที่อันตรายอย่างยิ่ง เพื่อค้นหาชีวิตที่ดีขึ้นและอนาคตที่มีความหวังมากขึ้น

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนมุ่งมั่นที่จะให้บริการแก่ชาวโรฮิงญาตราบเท่าที่ความต้องการยังคงมีอยู่ แต่การทำงานด้านการแพทย์ที่มากขึ้นในค่าย Cox’s Bazaar นั้นเกินขีดความสามารถขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน เงินทุนที่ลดลงและจำนวนองค์กรที่ส่งมอบความช่วยเหลือ ซึ่งปฏิบัติงานใน Cox's Bazar ลดลงราว 80 เปอร์เซ็นต์ ผู้บริจาคต้องกลับมาให้ความสำคัญกับชาวโรฮิงญาอีกครั้ง พร้อมยืนยันคำมั่นสัญญาด้านเงินทุน
    Claudio Miglietta ผู้แทนประเทศ

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนให้การรักษาพยาบาลในค่ายผู้ลี้ภัยในเขต Cox’s Bazar ของบังกลาเทศตั้งแต่ปี 1992 ปีที่แล้ว ทีมของเราได้ให้คำปรึกษาผู้ป่วยนอกมากกว่า 750,000 ราย และรับผู้ป่วยมากกว่า 22,000 รายเข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยใน